Thursday, January 1, 2009

โรคบูลีเมีย... ค่านิยมผิดๆ หรือโรคจิตกันแน่ !

โรคบูลีเมีย... ค่านิยมผิดๆ หรือโรคจิตกันแน่ !
รศ.ดร.นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล


อ้วน อ้วน อ้วน ....
คำสั้นๆ คำนี้ค่อนข้างทรงอิทธิพลป่วนคุณภาพชีวิตคนยุคนี้ไม่น้อยเลย

โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะกังวลกับรูปร่างและน้ำหนักของตัวเองเกินจริง แม้กระทั่งจะเปรียบเทียบกับตารางดัชนีมวลกายแล้วยังอยู่ต่ำกว่า 22.9 หรือเรียกว่ายังมีหุ่นได้มาตรฐานอยู่แล้วก็ตาม เธอเหล่านั้นก็ยังมักจะคิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ดี

ความอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน และมีข่าวครึกโครมหลายเรื่องเกี่ยวกับอันตรายจากการลดความอ้วน โดยวิธีที่ไม่ถูกต้องสำหรับผู้ที่อ้วนจริงการลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากความอ้วน แต่ควรที่จะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกวิธีการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและได้ผลยาวนาน

ในขณะที่มีการรณรงค์ให้ลดน้ำหนักเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อิทธิพลของสื่อโฆษณาวิธีการและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน จะมุ่งเน้นภาพลักษณ์ของผู้หญิงผอมมีหุ่นแบบบางเป็นแบบอย่าง สร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงทั่วไปอยากมีหุ่นบางเหมือนนางแบบเหล่านั้นบ้าง กลายเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งไปในที่สุดทั้งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น

ค่านิยมอยากผอมบางนี้ทำให้เกิด "โรคกลัวอ้วน" ที่มีชื่อ ภาษาอังกฤษว่า "บูลีเบีย (Bulemia)" ในหมู่ของผู้หญิงสาวที่ไม่ได้อ้วนจริง แต่มีความประสงค์จะทำให้ตัวเองผอมให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นอย่างมาก

โรคบูลีเมีย เกิดจากการสร้างนิสัยผิดๆ ให้กับตนเอง เป็นความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ซึ่งแสดงอาการโดยรับประทานอาหารอย่างมากมายหลังจากที่กระตุ้นให้ตัวเองอาเจียน ในบางรายอาจใช้ยาถ่ายช่วยให้ตัวเองมีน้ำหนักลดลง หรือใช้วิธีการลดน้ำหนักที่ผิดวิธีอื่นๆ เมื่อผู้ที่เป็นโรคนี้รับประทานอาหารมากเกินไปจะควบคุมตัวเองไม่ได้เลย และจะพยายามทุกวิถีทางที่ขจัดเอาอาหารที่รับประทานเข้าไปออกโดยการอาเจียน หรือใช้วิธีอดอาหารและออกกำลังกายอย่างหนักมาก ความกดดันทางอารมณ์ที่ตนเองมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะกลับส่งผลให้รับประทานอาหารมากมายผิดปกติเป็นวัฎจักรเลวร้ายเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรคบูลีเมีย ไม่พบว่ามีองค์ประกอบประการใดที่เป็นสาเหตุอย่างแน่ชัด ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า เครียด หรือรู้สึกกังวลกับน้ำหนักตัวหรือรูปร่างของตนเองเกินขอบเขต ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างผอมมาก แต่ยังคิดว่าตัวเองหนักหรือมีไขมันส่วนเกินมากเกินไปจนทนตัวเองไม่ได้ จากประสบการณ์ที่พบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย มักจะพบในผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 20-30 ปี หน้าตาดี และมาจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการมักจะมาจากถูกคนใกล้ชิดล้อเลียนหรือใช้ถ้อยคำเหน็บแนมเกี่ยวกับรูปร่าง ยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติอย่างชัดเจนว่ามีผู้เป็นโรคนี้มากน้อยเท่าใด แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก

5 ลักษณะอาการที่ชี้ชัดว่าเป็นโรคบูลีเมีย
  1. รับประทานอาหารมากเป็นระยะ โดยทั่วไปจะรับประทานบ่อยกว่า 2 ชั่วโมง และรับประทานครั้งละมากๆ
  2. ควบคุมตนเองไม่ได้เลยเกี่ยวกับการควบคุมอาหาร
  3. ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักขึ้น เช่นการล้วงคอให้อาเจียน ใช้ยาระบายในปริมาณเกินควร เป็นต้น
  4. มีความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเองมากจนเกินพอดี
  5. มีอาการผิดปกติในการรับประทานอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หมายถึง เมื่อรับประทานอาหารแล้วอาเจียนโดยอัตโนมัติ
คุณจะเห็นว่าเมื่อเกิดค่านิยมที่อยากมีหุ่นผอมบางแล้วเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารแล้วล้วงคอให้อาเจียนนี้วิธีการที่ผิดอย่างมาก เพราะจะสร้างนิสัยที่เคยชินให้กับระบบของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ร่างกายคุณไม่ยอมรับอาหารและกลายเป็นโรคขาดอาหารไปในที่สุด อีกทั้งยังฉุดคุณภาพชีวิตคุณเองให้จมอยู่กับกิจกรรมสองอย่างนี้ด้วย

โรคบูลีเมียจึงเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างงรุนแรง จนทำให้รู้สึกด้อยค่าในที่สุด เมื่ออาเจียนเป็นเนืองนิตย์ก็จะทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้นิ้วมือล้วงคอให้อาเจียน อาจทำให้เกิดแผลหรือเนื้อเยื่อทะลุในทางเดินอาหาร หรืออย่างการใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังอย่างรุนแรง หลายคนอาจมีความผิดปกติของประจำเดือนและสุขภาพทรุดโทรมลงได้

การแลกมาเพื่อหุ่นผอมบางกับอาการทรมานร่างกายต่างๆ เหล่านี้ไม่คุ้มค่ากันเลย ในที่สุดก็ต้องหันมาพึ่งพาการรักษากับคุณหมอเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ซึ่งการรักษาโรคบูลีเมียมีด้วยกัน 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
  • การใช้ยาระงับอาการซึมเศร้า และการบำบัดทางจิตวิทยา แต่ผลของการรักษายังไม่ดีนัก
  • การนำเอาหลักการปรับพฤติกรรมและให้ความรู้ทางโภชนาการอย่างเหมาะสม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น แต่วิธีที่ดีที่สุด คือการปรับมุมมองของตนเอง (Self Image) ให้เหมาะสม
เนื่องจากโรคบูลีเมีย เป็นปัญหาสุขภาพที่ค่อนข้างใหม่ของประเทศไทย หากคุณมีบุตรหลานที่มีอาการบูลีเมียควรหาทางนำมาปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด และเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ ไม่ควรที่จะสร้างปมด้อยให้กับผู้อื่นในเรื่องของรูปร่างและน้ำหนักตัว เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดโรคร้ายแรงนี้ด้วย อีกทั้งยังไม่ควรริอ่านที่จะใช้วิธีล้วงคอให้อาเจียน หรือใช้ยาระบาย เพื่อหวังผลในการลดน้ำหนักโดยเด็ดขาดครับ

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today

โรคยากที่สุด เกี่ยวกับท้อง

ล่าสุดของกิจกรรมชีวจิตก็คือ คอร์สสุขภาพที่จัดให้สมาชิกเสร็จมาหมาดๆ คือ คอร์สสุขภาพที่จัดที่กาญจนบุรีเสร็จไปแล้วเดี๋ยวนี้เอง (วันอาทิตย์ ที่ 2 มี.ค.) ในคอร์สนี้มีปัญหาเรื่องโรคของท้องมาเป็น อันดับ 1 มีตั้งแต่โรคที่ร้ายแรงมากที่สุด คือ มะเร็งในช่องท้อง (ตับ, ลำไส้ใหญ่, กระเพาะ, ลำไส้เล็ก, มดลูก, รังไข่)

และโรคใหม่ซึ่งว่ากันที่จริงเป็นโรคเก่าก็คือโรค IBS ซึ่งย่อมาจาก IRRITABLE BOWEL SYNDROME เดี๋ยวนี้กลายเป็นโรคฮิตสำหรับหนุ่มๆสาวๆ สมัยใหม่ ที่มาหาผมเพื่อจะปรึกษาหารือก็เยอะ หรือฟังที่เขาคุยกันระหว่างเพื่อนฝูงก็พูดถึงโรคนี้กันเยอะ

เวลาที่ใครบอกชื่อโรค IBS นี้ออกมา คนฟังทั่วๆ ไปมักจะทำหน้าฉงน หลายคนทำหน้าตกใจ (เพราะไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจว่าโรคนี้คืออะไร?) IRRITABLE คำนี้ถ้ามาใช้ในด้านการแพทย์ แปลว่าทำให้ระคายเคืองหรือเกิดการอักเสบ BOWEL ก็แปลว่า ท้องไส้ และ SYNDROME ก็แปลว่ากลุ่มอาการต่างๆ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน

IRRITABLE BOWEL SYNDROME แปลว่า โรคของกลุ่มอาการต่างๆ เกี่ยวกับการทำให้ท้องไส้เกิดการระคายเคือง หรือเกิดการอักเสบ

ฟังแล้วก็ยังคงงงๆ อยู่ว่ามันเป็นโรคอะไรกันแน่ ที่ยังงงๆ อยู่ก็เพราะโรคนี้ฟังดูแล้วเหมือนเป็นโรคใหม่ เมื่อประมาณเกือบ 15 ปีมาแล้วไม่มีใครรู้จัก และไม่มีใครได้ยินชื่อ

ที่เริ่มรู้จักกันขึ้นมาก็เพราะมีหมอสองคน คือ ลินน์ ฟรีดแมน ได้ไปเสนอเรื่องใน วารสารการแพทย์ นิวอิงค์แลนด์ เจอร์นัลด์ ออฟเมดิซิน เมื่อปี 1993 และหมออีกคนหนึ่ง เมเยอร์ เกดฮาร์ท เสนอในวารสารการแพทย์แกสโทร เอนเทอโรโลจี่ เมื่อปี 1994

วารสารการแพทย์ทั้งสองฉบับนี้ ถือว่าเป็นวารสารสำคัญระดับโลก แพทย์และผู้เกี่ยวข้องทางการแพทย์ทั่วโลกยกย่องให้เป็นวารสารแบบตำราวิชาการของโลกซึ่งเชื่อถือได้ 100% เต็ม

โรค IBS ก็เลยเป็นโรคที่วงการแพทย์เอ่ยถึง และชอบนำมาใช้ในการวินิจฉัย ให้ชื่อโรคว่า IBS มาเป็นเวลาเกือบ 15 ปีแล้ว และโดยเหตุที่ชื่อโรค IBS นี้เป็นชื่อของอาการรวมของอาการต่างๆ หลายรายการ จึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยแบบฟันธงลงไปว่า "คุณเป็นโรคนั้น โรคนี้........" ดังนั้นเมื่อมาถึงการรักษา จึงเป็นการยากสำหรับแพทย์ที่จะสั่งยาตัวนั้นตัวนี้โดยเฉพาะเพื่อแก้โรค IBS นี้ เมื่อเป็นโรคเกี่ยวกับอาการรวม ยาที่ให้ก็ต้องมียาแบบยารวม คือยาหลายๆ ตัวสำหรับแก้อาการหลายๆ อาการ

ต่อไปนี้ขออ้างอิงถึงศาสตราจารย์จุง เอายัง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะแพทย์โรคภายในช่องท้อง แห่งมหาวิทยาลัยแพทย์มิชิแกน แอนอาเบอร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญโรค IBS

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับศาสตราจารย์เอายังผู้นี้ก็คือ ท่านเป็นคนจีน (เข้าใจว่าจากสิงคโปร์) แต่ก็สามารถไปทำงานเป็นหัวหน้าแผนกของแพทย์ฝรั่งอีกหลายๆ คน

"ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ โรคเกี่ยวแก่ช่องท้องและระบบการย่อยนี้ ชาวเอเชียป่วยกันมากเหลือเกิน" เป็นไปได้ไหมว่าอาหารของชาวเอเชียนั้นค่อนข้างจะหลากหลาย และมีรสจัดผสมกับความเครียดซึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อมและความแออัดของประชากร ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว โรคเกี่ยวกับช่องท้องจึงมีมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

ศาสตราจารย์เอายัง ระบุไว้ว่า IBS นี้จะเป็นโรคในกลุ่มคนอายุวัยหนุ่มสาวและกลางคน ส่วนผู้สูงอายุนั้นไม่ค่อยจะเป็น ถ้าหากจะมีอาการอย่างหนึ่งในอาการรวมของ IBS ก็คืออาการที่ลำไส้หรือบางส่วนของระบบย่อยมีถุงหรือกระพุ้งเล็กๆ และเมื่อมีเศษอาหารติดอยู่ในถุงเหล่านี้ก็เกิดการบูด หรือการอักเสบขึ้นมา ทำให้เกิดการอักเสบ หรือมีลมและแก๊สแน่นในช่องท้อง (DIVERTICULAR DISEASE)

ตามสถิติได้ระบุไว้ว่าผู้หญิงจะเป็นโรค IBS ได้ง่ายและมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า อาการที่เป็นประกอบไปด้วยการปวดท้อง สลับไปกับอาการท้องเสียหรือท้องผูก

ศาสตราจารย์เอายังได้ระบุอาการสำคัญๆของ IBS ไว้ 3 กลุ่มคือ
  1. อาการปวดท้อง การปวดท้องของ IBS นี้ บริเวณที่ปวดจะมีหลายแห่ง ที่เป็นมากที่สุดคือบริเวณส่วนกลางล่างต่ำกว่าสะดือ (HYPOGASTRUM) และรองลงมาก็คือบริเวณด้านขวาและด้านซ้าย อยู่ต่ำกว่าระดับสะดือประมาณ 2-3 นิ้ว

  2. ช่วงเวลาถ่ายอุจจาระผิดปกติ ตามปกติแล้วผู้ที่ไม่ได้ป่วย IBS จะถ่ายตรงตามเวลา เช่น บางคนถ่ายตอนเช้า บางคนถ่ายตอนเย็น แต่ผู้ที่ป่วยเป็น IBS นี้ เวลาประจำของการถ่ายตามปกติจะเปลี่ยนไป บางคนเกิดอาการท้องผูกกะทันหัน ผู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเวลาถ่ายและเกิดท้องผูกขึ้นมานี้ บางคนท้องผูกเป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือนก็เคยพบ สำหรับอาการท้องผูกเป็นเดือนนี้ขอเตือนว่าต้องพบแพทย์ด่วน และที่ค่อนข้างแปลกเกี่ยวกับการท้องผูกนี้ก็คือ อยู่ๆ อาการท้องผูกก็หายไปเอง แต่กลับกลายเป็นท้องเสียหรือท้องเดินได้ก็มี

  3. เกิดลมในช่องท้องและมีการผายลมมากผิดปกติ เคยได้พบว่าคนไข้ IBS ท้องอืด ท้องมีแก๊สมาก พุงมักจะโตจนน่าเกลียด

  4. เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่องท้องด้านบน ช่องท้องด้านบนในที่นี้หมายถึงด้านบนเหนือสะดือ และอยู่ในระหว่างยอดอกต่ำลงมาถึงสะดือ อาการที่เป็นก็เช่น แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย (DYSPEPSIA) อาการแสบท้อง อาการคลื่นไส้ อยากจะอาเจียน และเบื่ออาหาร

  5. มีอาการแปลกๆ อื่นๆ ซึ่งอาจจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกับเรื่องท้องเลย ที่ว่าอาการแปลกๆ นี้ ศาสตราจารย์เอายังท่านบอกว่าเป็นอาการ ที่เดาไม่ได้ว่าเพราะอะไร เช่น อาการเซื่องซึม หงุดหงิด แถมต่อด้วยอาการทางร่างกาย คือ ผสมกันกับการถ่ายบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสียหรือท้องเดิน
เมื่อมาถึงขั้นนี้ ก็พอจะมองเห็นว่าเรื่องของอารมณ์หรือเรื่องเกี่ยวกับทางจิตใจย่อมเข้ามาเกี่ยวด้วย ก็เลยจำเป็นต้องคุยกันยาวอีกแล้ว ที่น่าสนใจในบทต่อๆ ไปก็คือ IBS นี้ดูเหมือนจะเกี่ยวกับอาการของโรคในช่องท้องอีกหลายโรค เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วอาจจะเป็นโรคเดียวกันหมด จึงจำเป็นที่จะต้องพูดกันต่อให้ละเอียดและที่สำคัญที่สุดก็คือ แม้ว่าจะดูว่าเป็นโรคเล็กน้อยแต่ก็อาจจะกลายเป็นโรคร้ายแรงถึงชีวิตได้เช่นกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพูดกันต่อไปโดยละเอียด

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ




, ,