Saturday, May 24, 2008

คุ้มไหม...ถ้าต้องป่วยเพราะงาน

วัยทำงานเป็นช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่เรามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมต่อการทำงานหนัก

เพื่อเก็บสะสมเงินทองเอาไว้ใช้ในเวลาที่กำลังวังชาถดถอย โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เป็นคนทำงานซึ่งมีวิถีชีวิตตั้งแต่เช้ายันค่ำนั่งจมจ่อมกับงานบนโต๊ะ ยิ่งสมัยนี้คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์สำนักงานที่ขาดแทบไม่ได้แล้ว ทำให้หลายๆ คนต้องทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

แต่จะแย่สักแค่ไหน หากว่าการทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงาน (ซึ่งดูเหมือนเป็นงานแสนสบายในสายตาของบางคนที่ต้องใช้แรงงานหรือทำงานภาคสนาม) นั้นกลับกลายเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บสารพัดโรค ....ฟังดูก็รู้ว่าคงไม่สนุกแน่ๆ จริงไหมครับ ลองนึกๆ ดูว่าถ้าเราใช้เวลาวันละ(อย่างน้อย) 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ นั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน สายตาจับจ้องไปที่คอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา จะเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพของเราบ้าง...

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยจากการทำงานนั่งโต๊ะ

ว่าคนที่ทำงานลักษณะนี้เป็นเวลานานติดต่อกันสัก 1-2 ปีมักจะเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน (รู้จักกันในชื่อว่า CTD หรือ cumulative trauma disorder หรือ RSI - repetitive strain injury) ซึ่งเกิดจากน้ำหนักที่กดทับจากการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อ เอ็น และประสาท เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ อาการที่ปรากฏอย่างเช่น การปวดเมื่อยเอว หลัง เคล็ดขัดยอก หรือเจ็บปวดที่ข้อมือ นิ้ว แขน คอ หรือไหล่

สาเหตุหลักของอาการปวดที่ว่านั้นมักจะเกิดจากอิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ

หรือการเคลื่อนไหวต่อเนื่องซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ อย่างเช่นการกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงานที่ผิดหลัก อาการเริ่มต้นตั้งแต่ อ่อนล้า ชา ปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้งาน ซึ่งช่วงแรกจะหายได้เมื่อหยุดทำกิจกรรมนั้น แต่ในเวลาต่อมาหากยังไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง อาการก็อาจเป็นมากขึ้น เพียงแค่พักผ่อนอย่างเดียวก็ไม่หายแล้วคราวนี้ ต้องทำการรักษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น โปะด้วยถุงน้ำแข็ง ทำกายภาพบำบัด หรือรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ทั้งที่จริงๆ แล้วการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออย่าง นี้ป้องกันได้ไม่ยากเลย เพียงฝึกนั่ง ยืน ให้ถูกท่า หากนั่งนานๆ ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ เคลื่อนไหว เดินเล่นยืดเส้นยืดสายเสียบ้างทุกๆ ชั่วโมง และจัดพื้นที่ทำงานใหม่ให้เอื้อมหยิบสิ่งของต่างๆ ง่ายขึ้น ลดการยืดเกร็งกล้ามเนื้อของเราให้น้อยที่สุด นอกจากการยืดเส้นยืดสายแล้ว การดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยหนึ่งแก้ว ทุกๆ 1-2 ชั่วโมงก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับร่างกาย ลดความอ่อนล้า ทำให้คุณทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

พักสายตา

คงไม่ต้องบอกว่าดวงตาสำคัญต่อเราอย่างไรนะครับ ปัจจุบันมีคนมีปัญหาด้านสายตาจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่สายตาต้องต่อสู้กับแสงจากหน้าจอเป็นเวลานานโดยไม่ได้พัก ผสานกับอากาศที่มีความชื้นต่ำจาก เครื่องปรับอากาศในสำนักงาน ทำให้เกิดอาการเช่น ตาแห้ง แสบตา มองเห็นเป็นภาพเบลอ ตาพร่า หรือปวดหัวได้ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านตาแนะนำว่า คนที่ทำงานในสำนักงานควรได้รับการตรวจดวงตา และทดสอบสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะคนที่มีอาการตาพร่าบ่อยๆ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการหักเหของแสงของสายตา สำหรับคนที่ต้องใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์นานเป็นพิเศษ เช่น นักเขียน นักออกแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมเมอร์ รวมถึงคนวัย 40 ขึ้นไปทั้งหลายที่สายตาอาจเริ่มเปลี่ยน ก็ควรเล่าให้คุณหมอฟังถึงกิจกรรมที่คุณทำ ระยะเวลาที่คุณใช้หน้าคอมพิวเตอร์ การจัดสถานที่ทำงาน เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไข หรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสายตา เพราะเดี๋ยวนี้มีแว่นที่มีเลนส์เฉพาะสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้ใช้กันแล้ว แว่นตาชนิดเลนส์มัลติโค้ทก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดแสงสะท้อนและรังสี UV ที่เข้าตา

สำหรับสำนักงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศ อากาศค่อนข้างแห้ง ก็ควรหาถ้วยใส่น้ำวางไว้บริเวณหน้าต่าง ให้น้ำระเหยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ก็จะช่วยลดอาการตาแห้งได้


ห้องปรับอากาศ สะสมโรค???

เพราะอากาศร้อนๆ อย่างเมืองไทย เครื่องปรับอากาศจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านและอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกสูงล้วนแต่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นตัวช่วยหมุนเวียนอากาศแบบรีไซเคิล และส่วนใหญ่มักจะสงวนพลังงานไม่ให้รั่วไหลออกไปภายนอกด้วยการปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา ถ้าหากเจ้าระบบกลไกหรือแผ่นกรองของเครื่องปรับอากาศมันเกิดทำ งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไหนจะควันรถจากถนน ฝุ่นละอองในอากาศ ไปจนถึงสารพิษ ไอระเหยของหมึกจากเครื่องพิมพ์ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร อากาศที่คนจำนวนมากๆ หายใจร่วมกัน จะมีผลต่อคนที่อยู่ในอาคารอย่างไร ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วล้วนเป็นสาเหตุของ "กลุ่มอาการป่วยจากอาคาร" (Sick building syndrome - SBS) ได้ทั้งสิ้น

กลุ่มอาการชื่อแปลกนี้ เป็นที่รับรู้ขององค์การอนามัยโลกมาตั้งแต่ปี 2525

แต่แม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้วคนก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่คนนับล้านๆ คนทั่วโลกต้องผจญกับอาการเหล่านี้อยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมีอาการเช่น ความรู้สึกเหนื่อยล้า ปวดหัว มึนงง คัดจมูก เป็นภูมิแพ้ ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ (NUS) ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่คนใช้ชีวิตอยู่บนอาคารสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พบว่าชาวสิงคโปร์ อย่างน้อย 1 ใน 5 ต้องผจญกับกลุ่มอาการ SBS นี้ ทีมวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าไม่เพียงเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคารเท่านั้น แต่ความเครียดจากงาน แสงสว่างที่มากหรือน้อยไปในอาคาร การควบคุมอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ล้วนแต่เป็นชนวนให้เกิดกลุ่มอาการดังกล่าวได้ทั้งสิ้น

ทีมศึกษาจาก รพ.เบอร์มิงแฮม ฮาร์ทแลนด์ ในประเทศอังกฤษ ก็ออกมายืนยันถึงความซับซ้อนของอาการป่วยเดียวกันนี้ และสรุปเพิ่มเติมว่า

กลุ่มอาการปวดหัว วิงเวียน แบบ SBS ที่ว่านี้มักเกิดมากในผู้หญิง โดยเฉพาะพวกที่ทำงานในตำแหน่งระดับล่างๆ มีเจ้านายสั่งงานหลายชั้น และพวกที่พกพาความเครียดตลอดการทำงานทั้งวัน จะยิ่งเป็นกันมาก แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดแต่ก็พอเข้าใจได้ว่า สาเหตุทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และจิตวิทยา รวมๆ แล้วเป็นที่มาของกลุ่มอาการ SBS วิธีป้องกันและแก้ไขที่ดีที่สุดก็คงจะต้องเพิ่มความใส่ใจกับคุณภาพอากาศ คุณภาพเครื่องปรับอากาศ การรักษาอุณหภูมิในสำนักงาน และรักษาบรรยากาศการทำงานให้มีเสียงหัวเราะกันมากขึ้นครับ

ความเครียดจากงาน

เรื่องของความเครียดนั้นเป็นเรื่อง ที่คนทำงานทุกคนมักหนีไม่พ้น ไม่ว่าจะงานหนัก งานโหลด รู้สึกว่าถูกกดดัน ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีเพื่อน ไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่ ควบคุมงานไม่ได้ ความสามารถไม่ตรงกับงานที่ทำ การไม่มีเวลาให้กับงานที่รับผิดชอบเต็มที่เพราะอาจทำหลายอย่างพร้อมกัน เบื่อเพื่อนร่วมงาน เงินเดือนต่ำ งานซ้ำซาก ฯลฯ ต่างเป็นชนวนความเครียดหลักๆ ยังไม่นับปัญหารถติดที่สร้างความเครียดให้กับหลายคนก่อนถึงที่ทำงานด้วยซ้ำ คนที่ไม่รู้จักหาวิธีผ่อนคลาย ปล่อยตัวเองจมอยู่กับความเครียด มากๆ นั้นจะส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ทั้งปวดหัว เหนื่อยอ่อน นอนไม่หลับ ไปจนถึงเป็นไข้ ไอ รวมทั้งปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น คอ และหลัง ยิ่งใครที่สะสมความเครียดไว้นานๆ ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บมากมายตามมาได้ด้วย อย่างเช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด ความดันเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ล้วนแต่ทำให้อายุสั้นแทบทั้งสิ้น

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทางป้องกันก็คือ พาตัวเองให้พ้นจากความเครียด ด้วยการหาทางผ่อนคลายวิธีต่างๆ

การพักผ่อนที่เพียงพอ ทบทวนตัวเองว่าบกพร่องหรือมีจุดควรปรับปรุงหรือไม่ตรงไหน แล้วจัดระบบการทำงานใหม่ และแบ่งเวลาให้เป็น กินอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่งถ่ายเทดี มีความชุ่มชื้นพอสมควร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ต่างเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เราสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากการทำงานได้

ก่อนจากกันเรามีข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากท่านั่งทำงานที่ผิดๆ มาฝากกันทิ้งท้าย ชวนคุณๆ ลองสำรวจตัวเองแล้วปรับเปลี่ยนท่าทางหรือสภาพแวดล้อมเพื่อสุขลักษณะที่ดีกว่าเดิมนะครับ

เก้าอี้นั่งควรอยู่ในระดับพอดี

ที่คุณสามารถนั่งแล้ววางเท้าราบกับพื้น โดยให้หัวเข่าตั้งฉาก 90 องศา หากใครที่เท้าไม่ถึงพื้น ก็ควรที่วางเท้ามารองรับใต้โต๊ะให้พอดี และเมื่อนั่งแล้ว ควรนั่งให้เต็มเบาะ และขอบหน้าของเบาะที่นั่งควรห่างจากหลังน่องประมาณ 2 นิ้ว

ระหว่างทำงานควรมีการหยุดพักเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง เริ่มจาก กำมือ แล้วหมุนข้อมือเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา – ตามเข็มนาฬิกา อย่างละประมาณ 10 ครั้ง แล้วทำท่าพนมมือ ประสานมือเข้าด้วยกันบีบแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนเป็นใช้หลังมือพนม ประสานมือพลิกให้ปลายนิ้วอยู่ด้านล่าง บีบแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที จากนั้นกางนิ้วออกกว้างๆ แล้วบรรจบนิ้วแต่ละนิ้วเข้าด้วยกัน ซ้าย-ขวาการถือโทรศัพท์ ควรใช้มือ หรือหากมือไม่ว่างก็ควรใช้สปีคเกอร์โฟน (ลำโพง) ให้เป็นประโยชน์แทน ไม่ควรใช้วิธีเอียงคอหนีบหูโทรศัพท์ไว้กับหัวไหล่เพราะมีโอกาสทำให้ข้อต่อบริเวณนั้นเกิดบาดเจ็บได้ง่าย หยุดพักงานที่ทำเป็นระยะๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเปลี่ยนไปทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ แทนบ้าง

จัดโต๊ะทำงานใหม่ ให้หยิบฉวยอะไรที่ใช้บ่อยๆ ได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องเอื้อมหยิบ

หรือยืดเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อหยิบของระยะไกลๆ ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่กลางจอภาพอยู่ในแนวตรงพอดีกับปลายคาง จะเป็นระดับที่พอเหมาะกับสายตา และทำให้คอของเราตั้งอยู่ในระดับตรงพอดีที่สุด

ที่มา : สมาคมกระดูกและข้อแห่งสหรัฐอเมริกา
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today

เตือนคนชอบเปิบเมนูเนื้อดิบๆ สุกๆ เสี่ยง12 โรคอันตราย

สธ. เตือนประชาชนที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ดิบ แหนมดิบ เสี่ยง 12โรคอันตรายตั้งแต่โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ พบป่วยปี 2550 แล้วกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิต 12 ราย

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันการเจ็บป่วยจากการกินนับเป็นสาเหตุใหญ่ของคนไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินดิบ เสี่ยงติดพยาธิ โดยพยาธิที่ยังเป็นปัญหาอยู่เนืองๆ 3 ชนิด ได้แก่ พยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า ทริคิโนซีส (Tricinosis) พยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ตับ สำหรับวิธีการกินที่ปลอดภัย ไม่ให้เป็นโรคที่มาจากการกินดิบ คือการสร้างพฤติกรรมง่ายๆ โดยกินอาหารสุก ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและถ่ายลงส้วม ที่สำคัญจะต้องปลูกฝังพฤติกรรม ให้ลูกหลานปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัยไปจนโต โรคที่พบจากพฤติกรรมการกินบ่อยๆ มี 12 โรคได้แก่
  1. โรคอุจจาระร่วง
  2. โรคอหิวาตกโรค
  3. บิด
  4. โรคเอ็นเทอริค
  5. ไทฟอยด์
  6. อาหารเป็นพิษ
  7. โรคตับอักเสบชนิดเอ ตลอดในปี 2550 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยจาก 7 โรคดังกล่าว 1,344,456 ราย เสียชีวิต 12 ราย มากที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง ป่วย 1,204,141 ราย รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษ ป่วย 115,504 ราย และ บิด ป่วย 18,048 ราย
  8. โรคแอนแทรกซ์, โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอีส ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายถึงตาย หรือทำให้หูหนวก ตาบอดได้ ในปี 2550 ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ แต่พบโรคพบผู้ป่วย โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอีส ประมาณ 50 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต
ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าพยาธิตัวตืดและพยาธิทริคิโนซีส จะฝังตัวอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูป่า เนื้อเก้ง เนื้อหมู เนื้อวัว พยาธิตัวอ่อนจะอยู่ในถุงน้ำ (Cyst) ลักษณะคล้ายเม็ดสาคู พยาธิตัวเมีย 1 ตัว จะออกลูกได้ 1,000-1,500 ตัว หรือมากกว่า 10,000 ตัว โดยพยาธิตัวอ่อนจะโตเป็นตัวแก่ภายใน 2 วัน และจะไชเข้ากระแสเลือดทั่วร่างกาย อาจมีชีวิตอยู่นาน 11-24 ปี หากพยาธิไชขึ้นสมอง จะทำให้สมองอักเสบ หากไชเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบมีอาการรุนแรงถึงตาย และอาจทำให้ตาบอด หรือหูหนวกได้ ส่วนพยาธิใบไม้ตับ มักพบจากการกินปลาน้ำจืดดิบๆ สุกๆ ในปี 2550 พบป่วยปีละ 600 ราย

"พฤติกรรมการกินอาหารดิบๆ ยังพบได้ต่อเนื่อง และมักจะพบในวงเหล้า เนื่องจากบางคนยังเชื่อว่า เหล้าซึ่งมีแอลกอฮอล์ สามารถฆ่าเชื้อโรค ฆ่าพยาธิให้ตายได้ หรือใช้น้ำมะนาวจะทำให้เนื้อสุกได้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเหล้าไม่ได้ทำให้พยาธิตาย มะนาวไม่ได้ทำให้เนื้อสุก การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร โค หรือกระบือแบบดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบดิบ โดยใส่เลือดลงในเนื้อดิบๆ รวมทั้ง ลาบแดง ลู่ดิบ แหนมดิบ มีความเสี่ยงอันตรายมาก ทั้งเชื้อโรคระบบทางเดินอาหาร และเสี่ยงติดพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์จำพวกนี้ โดยพบว่า ถุงหุ้มตัวอ่อนพยาธิตัวกลมทริซิโนซีส จะทนต่อกระบวนการถนอมอาหาร เช่น การหมักเกลือ ใช้เครื่องเทศ หรือรมควันด้วย พยาธิดังกล่าวพบได้ทั่วโลก ในไทยมักพบในจังหวัดภาคเหนือ ที่มักฆ่าชำแหละสุกรกันเอง" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

สำหรับพยาธิตัวตืด เมื่อคนกินพยาธิตัวอ่อนเข้าไป ตัวอ่อนจะออกจากถุงหุ้ม เจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้ ออกไข่แพร่พันธุ์ไปเรื่อยๆ แย่งอาหารจากคนที่กินเข้าไป ทำให้ขาดสารอาหาร หากมีพยาธิจำนวนมาก จะทำให้ลำไส้อุดตัน ช่องท้องอักเสบ เนื่องจากพยาธิไชทะลุลำไส้ อันตรายจากพยาธิพวกนี้ขึ้นอยู่ว่าตัวพยาธิจะไปติดอยู่ในอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย เช่นหากเข้าไปที่ลูกตา ทำให้ตาบอด แต่หากเข้าไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะ ชักกระตุก หรือหมดสติได้ ถ้าไปติดอยู่ในลำไส้ ตัวพยาธิก็จะไปรบกวนการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว และซูบผอม ถ้าไปอยู่ที่ตับ ไต หัวใจ ม้าม หรือกล้ามเนื้อก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานได้ไม่สะดวก

นายแพทย์ธวัช กล่าวอีกว่า วิธีสังเกตอาการผู้ที่ติดโรคพยาธิ คือหิวบ่อย กินจุแต่ร่างกายผ่ายผอม มักมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อไม่สบายท้อง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย หรืออาจมีอาการนอนไม่หลับ หรือเวียนศีรษะ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่แสดงว่า อาจมีพยาธิตัวตืดอยู่ในร่างกาย เนื่องจากถูกพยาธิตัวตืดแย่งอาหาร ดังนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาพยาธิและทำการรักษา

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

โรคคาวาซากิคืออะไร?
เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส, การใช้แชมพูซักพรม, การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก

อาการของโรคคาวาซากิ
จะเริ่มด้วยอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน ไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ ไข้จะเป็นอยู่นานหลายวันหากไม่รักษา มักไม่มีอาการทางหวัดเช่น อาการไอ หรีอน้ำมูกไหล ไม่มีผลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งวินิฉฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากเกณฑ์วินิจฉัยจาก 4 ใน 5 ข้อ ร่วมกับอาการไข้สูงหลายวัน

เกณฑ์การวินิจฉัย
ตาแดงทั้งสองข้าง ไม่มีขี้ตา
ลิ้นแดง (เป็นคล้ายสตอร์เบอรื่) , ปากแดง บางครั้งถึงกับแตก เจ็บมาก
มือเท้าบวมในช่วงแรก มักไม่ยอมใช้มือเท้าเดินหรีอเล่น เนื่องมาจากเจ็บระบม มีผิวหนังลอกเริ่มที่บริเวณขอบเล็บ และ อาจพบที่รอบก้นและขาหนีบ
มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
ต่อมน้ำเหลืองโต มักเป็นที่บริเวณคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร

ประมาณ 80 % ของผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี

โรคนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร
อาการดังกล่าวมาข้างต้น 5 ข้อ ไม่มีข้อใดจะมีการทำลายอย่างถาวรต่ออวัยวะนั้น ที่สำคัญทึ่สุดคือการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่ซึ่งเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อมีการอักเสบมากจะเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดนี้ และมีการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หัวใจวายหรือทำงานล้มเหลวเสียชีวิตได้เส้นเลือดทั่วร่างกายอาจมีการอักเสบได้เช่นกัน เกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงท้ายของการดำเนินโรค จะทำให้มีการเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดเพิ่มขึ้น

โรคคาวาซากิจะรักษาอย่างไร?
เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ควรให้นอนโรงพยาบาลเพื่อการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

วิธีรักษาทำได้โดย
  • ให้แอสไพริน เพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน (Aspirin ขนาดสูง ในช่วงแรก แบ่งให้ทางปาก เมื่อไข้ลงจะลดยาลง)
  • ให้อิมโมโนโกลบูลิน เพื่อลดอุบัติการณ์การการเกิดการโป่งพองและการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่
จะต้องดูแลอย่างไรหลังจากออกจากโรงพยาบาล?
หากมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนาร๊ ( Coronary artery ) มีโอกาสที่เกิดอุดตันและมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ในเด็กเล็กจะบอกเรื่องเจ็บหน้าอกด้านซ้ายไม่ได้แต่จะร้องก วนไม่หยุด ไม่กินนมหรือข้าว ซีด เหงื่อออก หายใจหอบเหนื่อย และชีพจรเต้นเร็วมากขึ้น ให้รีบพามาโรงพยาบาลเป็นการด่วน เพื่อตรวจคลื่นหัวใจ, อัลตราชาวน์หัวใจ ( 2D echocardiogram ) ซ้ำ และให้ยาละลายลิ่มเลือดและขยายหลอดเลือดโคโรนาร๊

หากตรวจไม่พบความผิดปกติของ Coronary artery ตั้งแต่ต้นและได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่ต้น โอกาสเกิดการโป่งพององเส้นเลือดในระยะต่อม จะลดน้อยมาก แต่ต้องมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้กินยาแอสไพรินตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงที่กินยาแอสไพริน หากมีการระบาดของอีสุกอีใส ให้หยุดยาและมาติดต่อสอบถาม หรือมาพบแพทย์

เรียบเรียงโดย นพ. สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
สิงหาคม 2542