Friday, October 31, 2008

ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องอดทนต่อเรื่องจุกจิกไม่น้อย เพราะร่างกายถูกออกแบบมาให้ต้องดูแลเอาใส่ใจเป็นพิเศษ และธรรมชาติยังมอบหมายให้รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ นั่นคือการเป็นแม่ ดังนั้นนับว่าไม่ว่าสถานการณ์ใดผู้หญิงสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดต่างๆ นานาได้เป็นอย่างดี ยกเว้นโรคภัยซึ่งไม่มีใครอยากอ้าแขนรับ ยิ่งเป็นโรคที่มาบั่นทอนความสวยงามและความเป็นหญิงแล้ว ยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในหลายโรคร้ายที่ผู้หญิงหวาดกลัว เพราะส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วจำเป็นต้องโบกมือลาส่วนนูนโค้งบนหน้าอก แถมยังทรมานจากการรักษาอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงควรตื่นตัว และระวังมากยิ่งขึ้น เพราะผลวิจัยพบว่า 1 คน ใน 20 คน ของผู้หญิงทั่วโลกมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ฟังแล้วน่าตกใจทีเดียว เพราะไม่นึกว่ามะเร็งเต้านมจะคุกคามใกล้ตัวผู้หญิงถึงเพียงนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งเต้านมและใครที่มีโอกาสเสี่ยงบ้าง?

คำตอบแรกอาจจะอธิบายเป็นความเจ็บปวดได้ยาก เนื่องจากมะเร็งเต้านมมักไม่แสดงอาการเจ็บปวดในระยะแรกจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเผชิญกับโรคร้าย อย่างไรก็ตามมีวิธีสังเกตอาการผิดปกติคร่าวๆ ดังนี้
  • คลำปุ่มก้อนได้บริเวณเต้านม หรือใต้วงแขน
  • มีสะเก็ด รอยย่น และสีผิวของเต้านมเริ่มเปลี่ยน
  • หัวนมตกสะเก็ด และมีของเหลวไหลออกมาทางหัวนม
หากรู้สึกถึงความผิดปกติเหล่านี้เมื่อไหร่ อย่านิ่งนอนใจ รีบไปพบหมอทันที แต่ก็ไม่ควรกังวลมากจนมานั่งจับผิดร่างกายตนเองตลอดเวลา จะเครียดโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงสามารถเปลี่ยนแปลงตลอดอายุขัย และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองผู้หญิงจึงต้องอาศัยความคุ้นเคย สังเกตร่างกายตนเองเป็นสำคัญ

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ยิ่งโรคร้ายอย่างมะเร็งเต้านม ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่เราก็ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเป็นโรคนี้หรือไม่ ไม่สามารถให้หมอดูที่ไหนดูลายมือแล้วบอกได้ว่าจะเป็นเมื่อไร แต่อย่างน้อยการแพทย์ในปัจจุบันสามารถเตือนและคาดเดาว่าใครมีสิทธิ์ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่า โดยกลุ่มวัยที่เสี่ยงมากสุดจะอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตข้อมูลจาก...
  • ประวัติสมาชิกของครอบครัวที่เป็นโรค จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าหากแม่เป็นมะเร็งเต้านม ลูกมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งประมาณ 1.8 เท่า และหากมีทั้งแม่และพี่หรือน้องเป็น ก็มีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า
  • เวลาเริ่มและหมดของประจำเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี และหมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นมากกว่าคนอื่นๆ
  • สถานภาพและการคลอดบุตร ผู้ที่เป็นโสด หรือคลอดบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ทั้งช่วงเข้าสู่วัยทอง หรือผู้ที่ต้องตัดมดลูกรังไข่ออก ได้รับฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อผ่านอายุ 50 ปี ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นมากขึ้น เรียกว่ายิ่งอายุมากเท่าไหร่ โอกาสเกิดโรคก็มีมากเท่านั้น
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากคุณยิ่งดื่มมากเท่าไร โอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนให้สูงขึ้น ซึ่งหากมีมากจะทำให้เกิดมะเร็งเต้า นม ผลวิจัยกล่าวว่าหากคุณดื่ม 3- 9 แก้วต่อสัปดาห์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคประมาณ 30% หากดื่มมากกว่า 9 แก้ว ต่อสัปดาห์โอกาสของโรคจะเพิ่มเป็น 60%
  • ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ โรคอ้วน และผู้ที่เคยมีประวัติเป็นเนื้องอกบริเวณเต้านม
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เคยมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าตนเองไม่มีสิทธิ์เป็น เพราะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 70% ไม่เคยมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อนเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าโรคมะเร็งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวเราจริงๆ แต่คนส่วนใหญ่มักละเลย บอกตัวเองเสมอว่า "ฉันไม่มีทางเป็นหรอก ดูสิ คนอื่นเสี่ยงกว่ายังไม่เป็นอะไรเลย..." อันที่จริงโรคภัยไข้เจ็บไม่เข้าใครออกใคร หากเราไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลร่างกาย โอกาสเป็นก็ยิ่งมีมากขึ้น เรียกว่าเป็นวิธีลดความเสี่ยงลงบ้าง ยังดีกว่าไม่ป้องกันอะไรเลย ส่วนวิธีรับมือป้องกันโรคร้ายนี้มีดังนี้
  • หมั่นตรวจเช็คสุขภาพทุกปี เดี๋ยวนี้ตามโรงพยาบาลทั่วไปมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพให้เลือกหลากหลาย เพิ่มความสะดวกสบายในการตรวจเช็คร่างกายอย่างมาก ที่สำคัญอย่าลืมเลือกโปรแกรมที่มีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วย
  • ตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย ผู้หญิงต้องคลำและตรวจเต้านมตนเองสม่ำเสมอ อาจทำในขณะอาบน้ำ ฟอกสบู่ ใช้นิ้วคลำรอบๆ เต้านม หากคลำเจอสิ่งผิดปกติ ให้รีบปรึกษาหมอโดยด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของมะเร็งทั้งหลายเกี่ยวข้องกับการกินทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มีอาหารใดที่จะรักษามะเร็งได้อย่างน่าอัศจรรย์ แบบกินปุ๊บหายปั๊บ อย่างน้อยการกินอาหารที่มีประโยชน์จะทำให้เราไม่เป็นโรคอ้วน และหากออกกำลังกายควบคู่ไปแล้ว โอกาสที่โรคถามไถ่ก็ลดลง เริ่มจาก
    1. การกินอาหารที่มีไขมันไม่เกิน 20% ของพลังงานทั้งหมด
    2. กินอาหารที่มีเส้นใยให้ได้วันละ 25 กรัม
    3. กินผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5-9 ส่วน
    4. กินผลไม้ที่มีวิตามินเอ ซี และอี
    5. งดอาหารที่มีเกลือมาก มีส่วนผสมของไนเตรท หรืออาหารรมควัน เช่น ฮ็อตดอก แฮม เบคอน
อยากให้หญิงไทยหันมาตื่นตัวเรื่องโรคร้ายที่อยู่ใกล้ตัวอย่างมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น เพราะหลายคนมักคิดปลอบใจตัวเองอยู่เสมอว่าตนเองสุขภาพแข็งแรง แต่ทว่าโรคมะเร็งนั้นยากจะคาดเดา ทางที่ดีควรระมัดระวังอยู่เสมอ ทั้งการใช้ชีวิต อาหารการกิน การตรวจสุขภาพ พฤติกรรมเหล่านี้ช่วยลดอัตราการเป็นมะเร็งได้อย่างดีทีเดียว ยอมเสียเวลาสักนิด เสียเงินตรวจรักษาสุขภาพสักหน่อย ดีกว่านั่งทรมานภายหลังค่ะ

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today

Sunday, October 5, 2008

สังกะสี … ธาตุอาหารปริมาณน้อยที่ขาดไม่ได้

สังกะสี …ธาตุอาหารปริมาณน้อยที่ขาดไม่ได้
เรื่อง : ดร.อรอนงค์ กังสดาลอำไพ


ผู้ใหญ่บางคนจะหลอกให้เด็กกินอาหารหลากหลายโดยบอกว่าจะได้วิตามิน A ถึง Z ทั้งๆ ที่ไม่มีวิตามิน Z แต่จะมีแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นต้นด้วยตัว Z คือ สังกะสี (Zinc) สังกะสีได้รับการยอมรับว่าเป็นสารอาหารที่จำเป็นในสัตว์ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 และในช่วงต้นทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503) พบภาวะการขาดสังกะสีในวัยรุ่นชาวอียิปต์และอิหร่าน วัยรุ่นเหล่านี้จะตัวเตี้ย แคระ การเจริญพันธุ์ทางเพศช้า ซึ่งเกิดจากการได้รับอาหารที่มีสังกะสีค่อนข้างต่ำ แต่มีใยอาหารและไฟเตท (เป็นสารที่พบมากในผัก และธัญพืชทั้งเมล็ด) สูง ซึ่งใยอาหารและไฟเตทนี้จะลดการดูดซึมสังกะสีเข้าสู่ร่างกาย

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่คนเราต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย ในร่างกายมีสังกะสีประมาณ 1-2.5 กรัม ซึ่งจะพบได้มากในกระดูก ฟัน เส้นผม ผิวหนัง ตับ กล้ามเนื้อ และอัณฑะ สังกะสีเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างโปรตีน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเจริญของระบบสืบพันธุ์ การมองเห็น การหายของบาดแผล และป้องกันเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ

สังกะสีทำงานร่วมกับเอนไซม์ในการสร้างโปรตีน การย่อยอาหาร การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน จึงมีความสำคัญในกระบวนการเจริญเติบโตและการพัฒนาการในเด็ก การขาดสังกะสีทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก การเจริญพันธุ์ทางเพศช้า ซึ่งจะเห็นได้ชัดในเด็กผู้ชาย เช่น การมีหนวดเครา เสียงแตก เป็นต้น

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการเปลี่ยนวิตามินเอ (ซึ่งอยู่ในรงควัตถุที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น) ให้อยู่ในรูปที่ทำงานได้ การขาดสังกะสีจะทำให้มีอาการตาฟางหรือตาบอดกลางคืนเหมือนกับการขาดวิตามินเอ นอกจากนี้สังกะสียังจำเป็นสำหรับการหายของบาดแผล การรับรส และการสร้างสเปิร์ม

ในต้นทศวรรษ 1970 พบการขาดสังกะสีในสหรัฐอเมริกาในผู้ที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดเท่านั้น เนื่องจากอาหารที่ให้มีสังกะสีน้อยมาก ปัจจุบันอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดจะเติมสังกะสีเพื่อป้องกันภาวะการขาดสังกะสี

โดยปกติคนเราจะได้รับสังกะสีจากอาหาร ซึ่งจะพบได้มากในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ในหอยนางรม เนื้อ ตับ ไข่ นม ไก่ และปลา เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมากจะมีสังกะสีน้อย เนื่องจากในส่วนไขมันจะมีสังกะสีน้อย เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงจะมีสังกะสีสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มีสีขาว ธัญญาหารเป็นแหล่งสังกะสีเช่นกัน ปริมาณสังกะสีในธัญญาหารขึ้นกับการขัดสี สังกะสีจะมีมากบริเวณเปลือกนอกของเมล็ด ดังนั้นเมล็ดพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวซ้อมมือจะมีสังกะสีมากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว แต่ในพืชจะมีสารไฟเตทซึ่งจะยับยั้งการดูดซึมสังกะสีในลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับสังกะสีจากอาหารเหล่านี้น้อยลง สังกะสีเมื่อถูกดูดซึมแล้วจะรวมกับโปรตีนอัลบูมินเพื่อขนส่งไปในกระแสเลือดไปยังตับและเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยไม่มีการเก็บสะสมไว้เฉพาะในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง

ภาวะการขาดสังกะสีอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสังกะสีน้อย แต่ส่วนใหญ่มักพบร่วมกับการท้องเสียเรื้อรัง เป็นโรคที่ทำให้การดูดซึมน้อยลง ได้รับอาหารที่มีสารไฟเตทสูง หรือร่างกายมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ในทารกและสตรีตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่ได้รับอาหารจำกัดก็เสี่ยงต่อการขาดสังกะสีได้ เช่น คนที่ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักตัว คนเหล่านี้จะได้รับสังกะสีจากอาหารน้อยลง ขณะเดียวกันจะสูญเสียสังกะสีออกจากร่างกาย เนื่องจากร่างกายนำเนื้อเยื่อบางส่วนออกมาใช้เป็นพลังงาน ในคนสูงอายุที่รับประทานอาหารน้อยลงก็อาจได้รับสังกะสีไม่เพียงพอ ปริมาณสังกะสีที่คนเราควรได้รับประจำวันแสดงไว้ในตารางด้านท้าย

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จัดว่าไม่มีพิษ แต่การได้รับสังกะสีในปริมาณสูง (เกินกว่า 1.5 เท่าของปริมาณที่แนะนำให้ควรได้รับ) เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง จากการขาดทองแดงได้ และถ้าได้รับสังกะสีในปริมาณมาก (225-450 มิลลิกรัม) จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ อ่อนเพลีย นอกจากนี้การได้รับสังกะสีมากว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีผลเพิ่มระดับโคเลสเตอรอล ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และถ้าได้รับปริมาณสูงมาก (4-8 กรัม) อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การเสริมสังกะสี
ในคนที่มีภาวะเสี่ยงต่อการขาดสังกะสี การเสริมสังกะสีให้กับเด็กในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น พบว่าช่วยเพิ่มความสูงและน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ได้มีการทดลองให้สังกะสีในรูปแบบยาอมเพื่อดูผลต่อการลดลงของอาการหวัด แต่ผลการทดลองก็ยังขัดแย้งกันอยู่บ้าง

สำหรับนักกีฬา
หากนักกีฬาได้รับสังกะสีน้อย (0.3 มิลลิกรัมต่อวัน) จะมีผลทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงได้บ้าง ส่วนผลของการเสริมสังกะสีในนักกีฬาเชื่อว่าน่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่กล้ามเนื้อมีการหดตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสังกะสีมีความเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่ทำลายกรดแลคติก ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อในระหว่างการออกกำลังกาย ถ้ามีกรดนี้สะสมในกล้ามเนื้อมากจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ผลนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยยืนยันต่อไป

ได้มีการทดลองใช้สังกะสีในรูปยากินและยาทาสำหรับการรักษาสิว ซึ่งพบว่าการเสริมสังกะสีจะลดการอักเสบของสิวลงได้ แต่ปริมาณที่ใช้จะค่อนข้างสูง (30 มิลลิกรัมต่อวัน) และการใช้สังกะสีในการรักษาสิวยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามิได้ดีกว่าการรักษาโดยวิธีอื่น แต่การให้สังกะสีในขนาดสูงนี้อาจทำให้เกิดภาวะการขาดทองแดงได้

เนื่องจากผลดีจากการเสริมสังกะสียังไม่ชัดเจน การเสริมสังกะสีจึงควรกระทำด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today