โรคชิคุนกุนยา
โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ มีรายงานการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียในทวีปแอฟริกา ในปี พ.ศ.2495
การระบาดที่พบครั้งล่าสุดในประเทศไทย ในเดือนกันยายน พ.ศ.2551 ที่ จ.นราธิวาสและปัตตานี (ณ ปัจจุบัน การระบาดลดลง แต่ยังไม่สิ้นสุด) ซึ่งทิ้งช่วงห่าง 13 ปี จากการระบาดครั้งก่อน
อาการของโรค : ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดงอักเสบและเจ็บ เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อของแขนขา อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขา มักไม่คัน หรืออาจมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ไข้อาจจะหายในระยะนี้ (ระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย) ผื่นนี้จะลอกเป็นขุยและหายได้เองภายใน 7-10 วัน พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตได้บ่อย แต่อาการชาหรือเจ็บบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าพบได้ไม่มาก อาการปวดข้อจะหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจนานหลายสัปดาห์ และบางรายอาจเป็นเรื้อรังอยู่หลายเดือนหรือเป็นปี อาจพบอาการแทรกซ้อนไม่รุนแรงที่ตา ระบบประสาท หัวใจ และทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อบางส่วนมีอาการอ่อนๆ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกวินิจฉัยโรค หรือวินิจฉัยเป็นไข้เด็งกี่ แต่ในผู้สูงอายุอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
ระยะฟักตัวของโรค : 2 - 12 วัน (โดยทั่วไป 4-8 วัน)
การวินิจฉัยโรค : ทำได้หลายวิธี โดยวิธีการตรวจหาไตเตอร์ในน้ำเหลือง เช่น Enzyme-linked immunosorbent assays (ELISA) เพื่อตรวจหาแอนติบอดี IgM หรือ IgG ต่อเชื้อ Alphavirus ซึ่งระดับ IgM มักจะสูงสุดช่วง 3-5 สัปดาห์หลังเริ่มป่วย และคงอยู่นานประมาณ 2 เดือน และอาจแยกเชื้อไวรัสจากเลือด
ผู้ป่วยระยะเริ่มมีอาการในช่วง 2-3 วันได้ โดยการเพาะเชื้อในลูกหนูไมซ์แรกเกิด ในยุง หรือในเซลล์เพาะเลี้ยง สำหรับวิธี RT-PCR (Reverse transcriptase–polymerase chain reaction) มีการใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน
การรักษา : ไม่มีการรักษาจำเพาะ ใช้การรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอาการปวดข้อ กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาด เนื่องจะทำให้เกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้น) และเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อช่วยลดไข้ รวมทั้งให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง
การแพร่ติดต่อโรค : ติดต่อจากคนสู่คนโดยถูกยุงกัด ในเขตร้อนชื้นมักเกิดจากจากยุงลายบ้าน Aedes aegypti ซึ่งมักเป็นสาเหตุการระบาดในเขตเมือง ส่วนในเขตอบอุ่นและเขตหนาวมักเกิดจากยุงลายสวน Aedes albopictus ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในเขตชนบท ยุงลายทั้ง 2 ชนิดมีนิสัยชอบกัดในเวลากลางวัน (โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ และบ่ายแก่ ๆ) ยุงลายสวนชอบหากินบริเวณนอกบ้าน แต่ยุงลายบ้านชอบกัดดูดเลือดภายในอาคารบ้านเรือน
มาตรการป้องกันโรค : ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคชิคุนกุนยา (รวมทั้งโรคอื่น ๆ ที่มียุงนี้เป็นพาหะ) เป็นมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
- ตระหนักและร่วมมือกันกำจัดหรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้อยู่ในระดับต่ำอยู่เสมอ (ซึ่งต้องเร่งรัดมากขึ้น ทั้งก่อนและในช่วงฤดูฝน และในช่วงที่เกิดการระบาด) รู้วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยต้องนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดแม้เป็นเวลากลางวัน จุดยากันยุง ทายากันยุง หรือสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาว ขายาว เป็นต้น ซึ่งหากใช้มุ้ง ผ้าม่าน มู่ลี่ ฯลฯ ที่ชุบสารเคมีกำจัดแมลง ก็จะยิ่งป้องกันยุงได้ดียิ่งขึ้น
- สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำตามภาชนะน้ำขังที่อยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบบ้าน เช่น จานรองขาตู้กับข้าว แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ โอ่งน้ำ ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น และวิธีการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลาย เช่น ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำในจานรองขาตู้ แจกัน ฯลฯ ทุก ๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ขัดด้านในภาชนะที่อาจมีไข่ยุงติดอยู่ คว่ำกะลา กวาดเก็บใบไม้ (ตามพื้น หลังคาบ้าน ท่อน้ำฝน ฯลฯ) กำจัดยางรถยนต์เก่า หรือนำไปแปรสภาพและใช้ประโยชน์ ฯลฯ
- สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงในบ้านและบริเวณรอบบ้าน โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกันตามความเหมาะสม เช่น การปกปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด การหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำ (เช่น ทุก ๆ 7 วัน) การใส่ปลากินลูกน้ำ การใส่สารเคมีฆ่าลูกน้ำ เป็นต้น
- ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแบบพ่นหมอกควันหรือพ่นฝอยละออง เพื่อช่วยลดความชุกชุมของยุง โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
- ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
- กรณีที่มีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาในบ้าน ต้องให้ผู้ป่วยนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายไปกัดและแพร่เชื้อได้ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะแพร่ขณะที่มีไข้สูง (ในระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย)
No comments:
Post a Comment