นิ้วล็อค เมื่อนิ้วของคุณกระดุ๊กกระดิ๊ก ผมมักไม่ค่อยเรื่องโรคใดโรคหนึ่งหากแต่มักเขียนเป็นอาการ... แต่เรื่องนี้จัดเป็นข้อยกเว้น หนึ่งที่อาการที่นำผู้ป่วยมาเป็นอาการสากลจนกระทั่งกลายเป็นชื่อโรคไปเสียแล้วเจ้าโรคที่ว่านี้ เป็นโรคที่สร้างความรำคาญไปจนถึงสร้างความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งพบได้ง่ายขึ้นในปัจจุบันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจะรู้เอาไว้บ้างครับเรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อสมัยผมยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปี 1 ตอนนั้นกำลังพยายามหัดเล่นกีต้าร์อยู่ ก็มีเพื่อนคนนึงที่เล่นกีต้าร์มาก่อนซื้อเครื่องบริหารนิ้วมาใช้เพื่อเสริมความแข็งแรงของนิ้ว โดยจะต้องกำอุปกรณ์ดังกล่าวในมือและทำการบีบเต็มแรงแล้วก็ปล่อย วันนั้นผมฝึกอยู่นานก่อนจะเข้านอน พอตื่นเช้ามาก็พบว่ามือซ้ายเกิดอาการพิกลๆกล่าวคือ เมื่อกำมือเข้ามันก็กำได้ปกติ แต่ไอ้เจ้าตอนที่จะเหยียดแบบมือออกเนี่ยสิ ปรากฎว่านิ้วนางกับนิ้วก้อยดันดึงเหยียดไม่ออกร่วมกับมีอาการปวด ต้องใช้อีกมือนึงช่วยดึงจึงจะออก แถมถ้ากำมือเข้าไปใหม่ก็จะเกิดลักษณะแบบเดิมอีกก็คือเหยียดไม่ได้
มือผมกระดุ๊กกระดิ๊กอยู่ 2-3 วันจะกำก็ไม่กล้า จะเหยียดก็เจ็บ ต้องอยู่นิ่งๆไม่ทำอะไรก่อนที่มันจะค่อยๆหายไปเอง
จริงๆเจ้านิ้วก้อยผมก็เป็นอยู่บ้างแล้วล่ะครับ คาดว่าเป็ฯมาตั้งแต่สมัยที่เรียนมัธยม ที่ต้องถือกระเป๋าหนังสือเรียนทุกวัน (หนักเฉลี่ยประมาณ 3 กิโลได้กระมังเพราะมันมีชีท สมุด หนังสือ)แล้วช่วงนั้นรถติดอย่างกับอะไรดี ผมก็ชอบเดินกลับบ้านใช้เวลาวันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงทุกๆวันจนหนังที่มือด้านแข็งเป็นจุดๆ
ปัจจุบันอาการพวกนี้ดีขึ้นมากและก็หายไป ... หายไปก่อนที่จะมาเรียนเจอทีหลังว่ามันเป็ฯอาการชื่อดังที่มีชื่อว่า"โรคนิ้วล๊อค"หรือ Trigger finger อันโด่งดังนั่นเอง
เกิดอะไรขึ้นในนิ้ว นิ้วถึงได้ล๊อคการที่คนเรากำมือได้นั้นเกิดจากกล้ามเนื้อที่บริเวณท้องแขนหดตัว .... ใช่ครับกล้ามเนื้อที่ท้องแขน ไม่ใช่ที่มือ ไม่เชื่อลองกำมือซ้ายแล้วเอามือขวาจับที่ท้องแขนก็ได้ว่าแข็งขึ้นจริง
กล้ามเนื้อที่แขนพอหดเกร็งตัวก็จะดึงเส้นเอ็นที่โยงไปที่ปลายนิ้วให้งอเข้า ... ซึ่งเอ็นเหล่านี้จะร้อยลอดผ่านเอ็นขึงข้อนิ้ว (retinacular pulley)ที่อยู่ตามข้อมือและข้อนิ้วเป็นหลักการเดียวกับรอกของปั้นจั่น
ถ้าเอ็นมีสภาพปกติ มันก็จะเลื่อนไหลได้อย่างสะดวกโยธินทั้งขาเข้าและขาออก แต่ในโรคนิ้วล๊อคนี้ เอ็นที่ผิดปกติจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนทำให้เมื่อเอ็นที่ใช้งอนิ้วลอดผ่านเอ็นขึงข้อนิ้ว ก็จะเกิดการล๊อคไม่สามารถเหยียดกลับออกมาได้
สาเหตุสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือการบาดเจ็บที่นิ้วครับ โดยคำว่าบาดเจ็บนี้มีตั้งแต่การกระทบกระแทกชัดเจน การติดเชื้อที่เอ็นไปจนถึงการใช้งานผิดวิธีเกินกำลังของนิ้วเป็นเวลานานๆ ก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบในเอ็นจนเกิดก้อนได้
สาเหตุที่พบได้อื่นๆนอกเหนือจากการใช้งานหนักหรือการบาดเจ็บทั่วไป ก็คือ โรคที่ก่อให้เกิดก้อนตามส่วนต่างๆ เช่นเบาหวาน เกาท์ รูมาตอยด์ เป็นต้น
การรักษาหากคุณเป็นโรคนิ้วล๊อคแล้วไปรักษา การรักษาจะเป็นประมาณนี้ครับ
- เมื่อพบว่าเป็นแน่ๆ แพทย์จะแนะนำให้คุณหยุดการใช้งานมือ จากนั้นก็มักจะจ่ายยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบจำพวก NSAIDs มาให้กิน จากนั้นก็ให้สังเกตดูเอาเอง หรือนัดกลับมาดูอีกครั้งเพื่อประเมินว่าอาการดีขึ้นไหม
- ถ้าไม่ดีขึ้น ทางต่อไปก็คือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในช่องหุ้มเอ็น เพื่อลดการอักเสบของเอ็นและให้ก้อนดังกล่าวยุบตัวลง
- หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจจะมีการใส่เฝือกที่มือ เพื่อให้มืออยู่ในท่าที่ไม่เคลื่อนไหวระยะหนึ่ง เป็นการบังคับให้เอ็นได้พักและลดการอักเสบ
- ถ้าทำทุกทางก็ไม่ได้ผล ก็จะทำการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีสามแบบคือ แบบผ่าเปิดตรงๆ แบบผ่าส่องกล้อง และแบบที่สามที่เข้าใจว่าในเมืองไทยคงมีคนทำไม่กี่คน(แต่กลับเป็นที่รู้จักมากที่สุด)คือแบบใช้ปลายมีดจิ๋วสอดเข้าไป
คำถามเกี่ยวกับนิ้วล๊อคที่ถูกถามบ่อย- ยากินได้ผลจริงหรือ ?
ตามที่ผมเขียนไปว่าโรคนี้ช่วงต้น แพทย์จะให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ ... ซึ่งมีผู้รู้หลายคนบอกว่าการรักษาด้วยยานั้นไม่ได้ผลตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ... ซึ่งจริงๆก็เป็นอย่างนั้นคือถ้าเป็นโรคนิ้วล๊อคจริงๆชัดเจน การให้ยาพวกนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร
แต่ในคนที่มีปัญหานิ้วล๊อคจนต้องไปพบแพทย์ หลายคนจะไปตั้งแต่เริ่มเป็นใหม่ๆหรือเป็นครั้งแรกๆ ซึ่งการล๊อคนั้นยังไม่มาก บางครั้งบางคราวการบาดเจ็บ ที่มือหรือการใช้งานหนักเพิ่งผ่านไปไม่นาน (ดังตัวอย่างเรื่องของผมเองข้างต้น) การให้ยาจะช่วยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ครับ
ส่วนใครที่คลำได้ก้อน เป็นมาเป็นปีๆ ส่วนใหญ่มักโดนแนะนำให้ผ่าตั้งแต่แรกครับ
- ทำไมเป็นนิ้วล๊อค แต่เจอหมอถามโน่นถามนี่ที่ไม่เกี่ยวกับนิ้ว แถมโดนเจาะเลือดตรวจหลายอย่าง
เนื่องจากโรคนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคอื่นๆเช่นเบาหวาน เกาท์ ซึ่งก่อให้เกิดก้อนหรือการอักเสบขึ้นตามเส้นเลือดในร่างกายได้ จึงไม่แปลกที่จะถูกถามประวัติที่เกี่ยวข้องหรือเจาะเลือดตรวจครับ
- ได้ยินว่ามีวิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ผ่าใช้เวลาแค่10นาที ผ่าเสร็จกลับได้เลยไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด
เป็นคำถามที่ถูกถามมากที่สุดสำหรับโรคนี้ เพราะในเมืองไทยมีแพทย์ที่สามารถผ่าตัดชนิดนี้ได้ และเคยประชาสัมพันธ์ออกสื่อหลายครั้ง
การผ่าชนิดดังกล่าว คือการกรีดเปิดเข้าไปในช่องทางของเอ็นที่ลอดผ่านเอ็นยึดข้อ จากนั้นสอดมีดขนาดเล็กเข้าไปตามช่องดังกล่าวและทำการสะกิด ข้อดีของวิธีนี้คือ ผ่าเสร็จแล้วก็กลับบ้านได้ แผลเล็กนิดเดียว พักการใช้งานมือไม่กี่วันก็ทำงานได้ปกติ
แต่การผ่าตัดนิ้วล๊อคแบบมาตรฐานในขณะนี้ ยังเป็นแบบเปิดผ่าในห้องผ่าตัดอยู่ครับ โดยจะทำการฉีดยาชาระงับความรู้สึกของแขน จากนั้นทำการผ่าเข้าไปโดยตรง ข้อด้อยของการผ่าแบบนี้คือ ผ่าแล้วอาจจะต้องนอนโรงพยาบาล(เพราะแขนชาทั้งข้าง) มีแผลใหญ่กว่า และต้องพักฟื้นใส่เฝือกที่มือเป็นสัปดาห์
ฟังดูดีกว่า ... แต่ปัญหาคือการผ่าแบบแผลเล็กๆที่ว่านั้น มันเป็นวิธีที่ใช้สัมผัสจากมือเป็นหลัก เวลาตัดเอ็น ผู้ตัดจะมองไม่เห็นว่ากำลังตัดอะไรอยู่ (ต่างประเทศเรียกวิธีนี้ว่า Blind Method)... ความเสี่ยงที่จะไปตัดถูกส่วนที่ไม่ต้องการจะตัดนั้นก็มี(ของแถวๆนี้ ถ้าตัดขาดก็ต่อยาก) นับว่าเป็นการทำหัตถการการผ่าตัดที่ต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง นอกจากนี้เครื่องมือก็ไม่ได้มีแพร่หลาย ทำให้การผ่าตัดชนิดนี้ยังไม่เป็นที่นิยม(ของแพทย์)หรือสอนกันทั่วไป
ในขณะการผ่าตัดแบบเปิดจะมองเห็นได้ดีกว่า เห็นได้ชัดกว่าว่ากำลังจะตัดอะไร โอกาสตัดผิดมีน้อยกว่ามาก ....
ฟังแล้วอาจจะน่ากลัว แต่เวลามีคนไข้นิ้วล๊อคมาถามผมว่าผ่าแบบแผลเล็กผ่าที่ไหน ... ผมก็บอกไปทุกรายนะครับ (เพราะก็ยังไม่เคยได้ยินข่าวผิดปกติ และก็เป็นการผ่าตัดที่เมืองนอกเขาก็ทำกัน)
สรุปว่าใช้งานมืออย่างทะนุถนอมตั้งแต่ต้น จะเป็นการดีที่สุดครับ
-=By หมอแมว=-