Saturday, March 22, 2008

ขิง..ความหวังใหม่ของคนเป็นโรคข้ออักเสบ

ถ้าท่านผู้อ่านลองสำรวจผู้คนที่ใกล้ชิดแล้วจะพบว่า 2 ใน 10 คน ยอมรับว่า
เขามีอาการปวดข้ออยู่ เพราะนั่นคืออุบัติการณ์ของการปวดข้อที่ดำเนินอยู่ทั่วโลก

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบมีอาทิ เช่น
  • โรคข้ออักเสบจำแนกออกไปอีกได้กว่า 100 ชนิด แต่ที่พบบ่อยคือ
    โรคข้ออักเสบรูมา ตอยด์และข้อเสื่อม
  • มาติซึ่มเป็นศัพท์ที่ครอบคลุมอาการปวดที่เกิดกับระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือกระดูก, ข้อ, กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ตลอดจนเนื้อเยื่อประสานที่เกี่ยวข้อง
  • โรคข้อเป็นสาเหตุอันดับที่ 2 รองจากโรคติดเชื้อที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องไปหาหมอ
  • การรักษาส่วนใหญ่เป็นไปตามอาการและปัญหาสำคัญที่เกิดจากการรักษา
    คือยาก่อ ให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้มากและรุนแรง
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (RHEUMATOID ARTHRITIS)

ร้อยละ 80 ของคนเป็นโรคข้ออักเสบแบบรูมาตอยด์จะมีอายุระหว่าง 30-50 ปี โดยโรคร้อยละ 70 ของคนเหล่านี้จะเป็นไปอย่างเรื้อรังและเลวลงตามลำดับ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3-5 เท่า การอักเสบมักจะเริ่มขึ้นบริเวณ เยื่อหุ้มข้อ (SYNOVIAL MEMVRANE) ของข้อนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง ทำให้มีอาการปวดบวมและข้อต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเช้า ต่อมานาน ๆ เข้าโรคจะดำเนินต่อไปจนเป็นที่มือ, ข้อศอก, เข่า, เท้า จนมีปุ่มหรือการบิดเบี้ยวดูพิกลพิการ ความรุนแรงของแต่ละโรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่นเดียวกับจำนวนข้อที่เป็นโรค

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกิดจากอะไร แต่คาดว่าจะมีกลไก ซึ่งภูมิคุ้มกันของตัวเอง เกิดอ่านสัญญาณผิดพลาดอย่างไรไม่ทราบได้ หันกลับไปเล่นงาน ข้อของตัวเอง บางทัศนะก็ว่า กลไกดังกล่าว อาจเกิดจากการกระตุ้นโดยเชื้อไวรัส จะอย่างไรก็ตาม การอักเสบที่ดำเนินไปในข้อ จะส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาว จากกระแสโลหิต เดินทางมาที่เยื่อหุ้มข้อ เม็ดเลือดขาว เมื่อมาถึง ก็จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา ที่เรียกว่า OXIDATIVE BURST REACTION โดยเม็ดเลือดขาวจะเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็น อนุมูลอิสระ (FREE RADICALS) ซึ่งเป็นตัวการสร้างความเสียหาย ให้เกิดขึ้นกับข้อ รวมทั้งเกิดสาร พรอสตาแกลนดินส์ และลูโคไทรน์ อันเป็นตัวเสริมการอักเสบ และความเจ็บปวด เพิ่มขึ้น

โรคข้ออักเสบแบบข้อเสื่อม (OSTEOARTHRITIS หรือ DEGENERATIVE ARTHRITIS)
เป็นโรคข้อที่พบมากขึ้นตามอายุ โดยมีลักษณะของพยาธิสภาพตามชื่อคือ การเสื่อมสภาพ ของข้อโดย เฉพาะอย่างยิ่งส่วนกระดูกอ่อน เป็นมาก ๆ เข้าผิวของข้อที่กระดูก 2 ท่อน มาต่อกัน ก็จะเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวกระดูกอ่อนแบนราบลง ช่องว่างของข้อหดแคบลง จนกระดูกมากระทบกระแทกเสียดสีกันเองโดยตรง

อุบัติการณ์ จะพบความชุกของโรคนี้เพียง 5-10%ในคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-25 ปี โดยส่วนใหญ่ จะเป็นผลจากการบาดเจ็บ เช่นกระดูกหักใกล้ข้อ ส่วนในคนที่อายุสูงกว่า 55 ปี จะมีอุบัติการณ์ถึง 80%

อาการในเบื้องต้น คือ ปวดข้อและก็เลวลงตามเวลาที่ผ่านไป ข้อที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้อที่แบกรับน้ำหนักตัว เช่น สะโพกและเข่า แต่ข้ออื่น ๆ ก็เป็นได้ทั่วร่างกายอย่างเช่น กระดูกสันหลังเวลาเสื่อมแล้วจะทำให้ปวดหลัง, ปวดเอว, ปวดคอและปวดไหล่ได้

ปัญหาสำคัญของคนเป็นโรคข้อเสื่อมคืออาการปวดที่เกี่ยวกับข้อซึ่งรับน้ำหนักตัวมาก ดังนั้นวิธีบรรเทาปวดอันสำคัญประการหนึ่งคือ จำกัดน้ำหนักตัวและมีการบริหารร่างกาย อยู่เป็นประจำ เช่น ขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ

การรักษาโรคข้ออักเสบ
วิธีรักษาทั่วไป ยังคงเป็นไปตามอาการ โดยไม่มีหลักฐานว่า จะมีอิทธิพลในการย่นย่อ ระยะเวลา ของการเป็นโรคและพัฒนาการของโรคต่อไปหรือไม่
  1. ยาแก้ปวดอย่างอ่อนทั่วไป เช่น พาราเซตตามอล สำหรับกรณีที่ปวดไม่มาก
  2. ยาบรรเทาอาการอักเสบชนิดที่ไม่เข้าสารสเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด (NONSTEROID ANTI-INFLAMMATORY DRUGSN หรือ NSAID) เป็นยากลุ่มสำคัญ เพราะว่าออกฤทธิ์ยับยั้งขั้นตอนการอักเสบของข้อ ซึ่งนำไปสู่อาการปวด ปัญหาของยากลุ่มนี้ เท่าที่ผ่านมาคือ ยาก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ของเยื่อบุ กระเพาะอาหาร จนเกิดแผล และเสียเลือดได้มาก ๆ อย่างที่ประเทศอังกฤษ เขาพบว่าร้อยละ 45 ของคนที่ใช้ยานี้ จะมีอาการข้างเคียง และเพิ่มเป็น 75% ในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคแทรกซ้อนจากยา มีผลทำให้ผู้คนต้องเข้าโรงพยาบาล ในสหรัฐอเมริกาถึงปีละ 70,000 คนโดยมีผู้เสียชีวิตถึง 7,000 ราย
  3. ยาสเตียรอยด์ (STEROID) ใรายที่การอักเสบรุนแรงจนยาเอ็นเสดเอาไม่อยู่ อาจ ต้องใช้สเตียรอยด์ทั้งชนิดฉีดหรือรับประทานก็ตาม โรคแทรกซ้อนจากการใช้ สเตียรอยด์นาน ๆ ก็คือ ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนและอื่น ๆ อีก
  4. ยาต้านรูมาตอยด์ชนิดออกฤทธิ์ช้า (SLOW ACTING ANTIRHEUMATOID DRUG) เช่น GOLD SALT ซึ่งอาจมีฤทธิ์ข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ ผื่นขึ้น, เกร็ดเลือดต่ำ, ท้องเสีย, คลื่นไส้
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงต้องขวนขวายคิดค้นยาที่ปลอดภัยขึ้นอย่างขะมักเขม้น เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นี้เอง ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ในประเทศเดนมาร์ก ที่เกิดแนวคิดตรงกันว่า น่าจะมีการนำความรู้ความเชื่อของ ผู้คนในทุกภูมิภาคของโลก เกี่ยวกับเรื่องพืชสมุนไพร แล้วใช้ความรู้แผนใหม่วิจัย เพื่อพิสูจน์ว่า ความรู้ไหน ที่ถ่ายทอดมาแล้ว ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ไหนเป็นแค่ความเชื่อ

เมื่อปี ค.ศ.1992 (2535) นักวิทยาศาสตร์หนุ่มสายชีวเคมีและเภสัชวิทยาคนหนึ่ง ของประเทศเดนมาร์ก ชื่อ ดร.มอร์เทน ไวด์เนอร์ (MORTEN WEIDNER) ได้รับทุนวิจัย และก่อตั้งสถาบันวิเคราะห์ยา (IDA) INSTITUTE OF DRUG ANALYSIS A/S) โดยได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร สถาบันวิจัยแห่งนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมทำงานถึง 600 คน ตั้งอยู่ในสวนวิทยาศาสตร์ ซิมเบียน (SYMBION SCIENCE PARK) ที่กรุงโคเปนเฮเกน นครหลวงของประเทศ เดนมาร์ก สถาบันวิเคราะห์ยา IDA ได้ศึกษาพืชจากทั่วโลกกว่า 100 พันธุ์ แต่ก็พบพันธุ์ที่มีผลดีในการรักษาโรคข้ออักเสบเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งมาพบ "ขิง" ขิง ซึ่งคนไทยใช้ปรุงอาหาร และทำเครื่องดื่ม และเชื่อว่า เป็นยาบรรเทาอาการท้องอืดนั้น จัดเป็นพืชทั่วไปของทวีปเอเซีย และมีปรากฏว่า มีการใช้ในการแพทย์จีน และชมพูทวีป มากว่า 2500 ปีแล้ว โดยเชื่อว่า ใช้บรรเทาอาการปวด, อักเสบ, โรครูมาติก และอาการเมารถ เมาเรือ

ที่จริงขิงมีอยู่ทั่วโลก มากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที IDA นำมาศึกษามี 100 กว่าชนิด และปรากฏเป็นชื่อของพฤกษศาสตร์ว่า ZINGIBER OFFICINALE ROSCOE
เป้าหมายของโครงการวิจัยขิงก็คือ
  1. เพื่อแสวงหาสารสำคัญในขิงที่ออกฤทธิ์ในเชิงรักษาโรค
  2. ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารดังกล่าว
  3. พัฒนาวิธีการสกัดสาร (STANDARDIZED GINGER EXTRACT) เพื่อใช้ในการแพทย์
จาการวิเคราะห์สารต่าง ๆ ของขิงก็พบว่ามีสารหลัก ๆ คือ
  1. ประกอบด้วยแป้งและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีฤทธิ์ทางยา
  2. น้ำมัน VOLATILE เป็นส่วนที่ได้รส (น้ำมันหอมระเหย) และกลิ่น แต่ก็ไม่มีฤทธิ์ทางยา
  3. สารประกอบฟีนอลิกคีโตน (PHENOLIC KETONE COMPOUNDS) ชื่อ HMP เป็นตัวออกฤทธิ์ทางยา
ระหว่างการศึกษาเรื่องขิง ยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ขิงไม่ใช่เป็นแค่ขิง และไม่ใช่ว่า ขิงจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะแต่ละแห่ง ก็มีความต่างกัน ทั้งกลิ่น, รส และส่วนประกอบ โดยความแตกต่าง จะเป็นไปตามสภาพภูมิศาสตร์ (ที่ตั้ง) ของวัตถุดิบ เหล่านี้ และพวกนักวิจัยที่ IDA พบว่า ขิงดีที่สุดในเชิงรักษาโรค คือขิงจากตำบลหนึ่ง ในประเทศจีน ซึ่งทาง IDA ขอปิดเป็นความลับ ไม่บอกชื่อตำบลดังกล่าว

ทาง IDA ได้พัฒนาขั้นตอนการสกัดสาร HMP จากขิงอยู่ระยะหนึ่งจนได้เทคโนโลยี (SELECTIVE EXTRACTION) ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่า 90% จากคำบอกเล่าของ ดร.ไวด์เนอร์ เขากล่าวว่า ระหว่างขั้นตอนการสกัดขิงนั้น ได้ สารจินเจอรอล (GINGEROLS) ซึ่งเป็นคำรวม เรียกสารที่ออกฤทธิ์ทางยาของขิง แต่ในกระบวนการ สกัดสาร พบว่า ได้เกิดผลที่ไม่อยากให้เกิด กล่าวคือ มี สารโชกาออล (SHOGAOLS) เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏว่ าสารนี้ทดสอบแล้ว อาจสร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุของทางเดินอาหารได้ จึงต้องแก้ไขวิธีการสกัดเสียใหม่ ให้มีความละมุนละม่อม ไม่มีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขอขยายความตรงนี้ว่าสารสำคัญของขิงที่ว่านั้นถ้าเป็นขิงสด ๆ ก็จะได้สารดังกล่าวไปใช้ ได้เต็มที่ (HIGHLY BIOAVAILABLE FORM) แต่จะให้ได้สารเคมี ดังกล่าว ในปริมาณมากพอที่จะรักษาโรคได้ คงต้องรับประทานขิงกันวันละหลายสิบหัว ซึ่งก็คงไม่ไหวแน่ จึงต้องสกัดสารที่ว่านี้ ออกมาจากขิง ให้ได้ปริมาณเพียงพอ แต่ในกระบวนการสกัดนั้น ขั้นตอนการทำให้แห้ง และการสกัดก็ไปทำลายสารสำคัญ เสียมาก สารที่จะไปทำหน้าที่รักษาโรค ก็จะเหลือให้ใช้น้อยลง ต้องแก้ไขให้สงวน สารสำคัญไว้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยสร้างสารประกอบ "ซินาซิน" (ZINAXIN) ขึ้น แล้วจดทะเบียนลิขสิทธิ์วิธีการสกัดไว้ทั่วโลก เพราะคุณสมบัตินี้สำคัญมาก ต่อการที่จะได้ยารับใช้เราได้อย่าดีที่สุด

กลไกการออกฤทธิ์ของสารประกอบ HM-33 ก็โดยการไปสกัดกั้นสารเคมี ที่หลั่งออกมา ในร่างกาย ขณะมีการอักเสบของข้อเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็สกัดกั้นการเกิดอนุมูลอิสระ ได้ด้วย

จากคุณสมบัติที่คล้ายกับยาเอ็นเสด ยกเว้นไม่กัดกระเพาะอาหารนี่เอง ทำให้เกิดความหวัง ขึ้นมาว่า "ซินาซิน" จะเป็นยาเสริม หรือ ยาแทนที่ ยาเอ็นเสดเสียเลย วิธีที่จะทดสอบสมมุติฐานดังกล่าวได้ ก็โดยทำการทดลองรักษาจริง ๆ ในคน ซึ่งปรากฏว่า การทดลองกับคนไข้โรคข้อเสื่อม ชาวเดนมาร์ก 28 ราย ในงานวิจัยที่หนึ่ง และ 56 ราย ในงานวิจัยที่สอง ประสบความสำเร็จ ในการบรรเทาอาการปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ โดยการรับประทานยาซินาซิน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยรับประทานพร้อมกันไป กับอาหาร ในเดือนแรก ส่วนเดือนต่อไปอาจจัดขนาด 1 หรือ 2 เม็ด ตามความจำเป็น หรือตามความรุนแรง

ความเห็นของผมในฐานะแพทย์แผนปัจจุบัน คิดว่า ถ้าท่านผู้อ่านมีอาการปวดข้อขึ้นมา อย่างเฉียบพลัน ปวดบวมตามข้อมาก ควรพิจารณาใช้ยากลุ่มเอ็นเสดนำไปก่อน แล้วในระยะยาว จึงค่อยใช้ซินาซินเสริมไปด้วย หรืออาจจะแทนที่ยาเอ็นเสดไปเลยก็ได้ ส่วนคนที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังขนาดอ่อน หรือปานกลาง ก็อาจจะพิจารณาทดลอง ใช้ยาซินาซิน ขนานเดียว หรือควบกับยาเอ็นเสดชนิดที่ไม่กัดกระเพาะอาหารมาก ก็ได้

โรคข้ออักเสบนี้มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีความเรื้อรัง และบ่อยครั้งดื้อยา คนไข้จึงต้องลองผิดลองถูก เปลี่ยนยาไปเรื่อย ๆ จนพบขนานที่ถูกกัน ก็สบายไปพักใหญ่ ซินาซินก็คงจะมาเป็นอีกทางเลือก สำหรับผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ

ที่มา
นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์

Powered by ScribeFire.

ขิง สมุนไพรสารพัดประโยชน์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ใกล้หมอ" ได้นำเสนอการค้นพบประโยชน์ใช้สอยใหม่ของขิงว่า สามารถบำบัดรักษาโรคข้ออักเสบได้ และปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านหลายท่าน ที่กรุณาโทรศัพท์เข้ามาที่ "ใกล้หมอ" เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งกองบรรณาธิการขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

จากตำราพืชสมุนไพรไทย (THAI MEDICINAL PLANTES) ฉบับภาษาอังกฤษ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ขิงซึ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่มมาช้านานแล้วนั้น จริง ๆ แล้วเป็นสมุนไพร ที่ออกฤทธิ์บำบัด ได้กว้างขวางแทบจะสารพัดโรค ซึ่งแน่ละว่าเราคงไม่หวังพึ่งขิงแต่เพียงลำพัง ในการบำบัดโรคต่าง ๆ แต่การได้รับทราบสรรพคุณมากมายของขิง ทำให้เราบริโภคขิง ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมั่นใจ และอุ่นใจว่าสิ่งที่เราดื่มหรือรับประทานลงไปนั้น นอกจากจะเสริม รสชาติของอาหารและเครื่องดื่มแล้ว สารประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขิงยังจะช่วยบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ให้แก่เราด้วยไม่มากก็น้อย

ตำราพฤกษาศาสตร์ ให้ชื่อขิงไว้เต็มยศว่า ZINGIBER OFFICINALE ROSCOE เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น จึงปลูกได้ทั่วไปในภูมิประเทศแถบร้อน

ตำราแพทย์แผนไทย บรรยายสรรพคุณจากส่วนต่าง ๆ ของขิงไว้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น รากบริโภคแล้วจะมีอายุยืน, เสียงหวาน, ทำให้อยากอาหาร, ลดอาการท้องอืด, ท้องเฟ้อ, บรรเทาอาการนอนไม่หลับ, แก้ความผิดปกติของธาตุทั้งสี (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เป็นต้น

ลำต้นเองก็มีประโยชน์ ในการบรรเทาอาการปวดท้อง, ปัสสาวะขัด, แก้ท้องอืด, ท้องเสีย ส่วนใบใช้บรรเทาไข้ ปัสสาวะขัด หรือบรรเทาอาการท้องอืดได้

ในบันทึกการใช้ขิงบำบัดความเจ็บป่วยต่าง ๆ มีกล่าวเป็นตัวอย่างไว้ เช่น น้ำขิงหนัก 5 กรัม มาบดหรือตำเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อต้มน้ำแล้วดื่มแก้ปวดท้อง หรือใช้ขิงถูกับหินแล้วผสม น้ำมะนาวเกลือ เพื่อจิบบ่อย ๆ แก้ไอ เป็นต้น

เมื่อใช้กรรมวิธีตรวจสอบทางเคมีสมัยใหม่ก็ทำให้เราทราบว่า ในขิงนั้นมีสารเคมีต่าง ๆ มากมายนับ 100 ชนิด รวมทั้งกรดอะมิโน, น้ำมัน, จินเจอรอล, กรดไขมัน, โชกาออล, แทนนิน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ขิง มีสรรพคุณเป็นยาบำบัดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และยังมีคุณสมบัติเป็นอาหาร หรือเครื่องดื่มได้

การออกฤทธิ์ทางเภสัชสิทยาเท่าที่วิจัยพบแล้วมีอาทิเช่น
  1. ลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล โดยการลดดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารในลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
  2. ช่วยลดความอยากของคนติดยาเสพติดได้
  3. มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ช่วยระงับการชักในสัตว์ทดลอง, เสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ กลุ่ม BARBITURATE บรรเทาปวดลดไข้, ลดอาการเวียนศีรษะ
  4. ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  5. ป้องกันฟันผุ
  6. ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด
  7. บรรเทาอาการไอ
  8. ป้องกันและบำบัดอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้
  9. ลดการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร
ที่มา นิตยสารใกล้หมอ


Powered by ScribeFire.

โรคข้อเสื่อม

ข้อเสื่อมเป็นเรื่องที่สามารถรักษาได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง และหากต้องรักษาโดยแพทย์ก็มีวิธีการที่น่าสนใจ เรามาดูกันตั้งแต่อาการ การรักษา การป้องกันกันเลย

อาการของโรคข้อเสื่อม

ระยะเริ่มต้น ที่สำคัญคือ อาการปวดบวมแดงร้อนของข้อ อาการปวดอักเสบดังกล่าวเป็นสัญญาณ เตือนภัย เพื่อเตือนให้ลดการใช้งานลง ให้ข้อได้พัก อาการอักเสบจะได้ทุเลาลง แต่ถ้ายังคงใช้งานต่อ ข้ออาจมีของเหลวเพิ่มขึ้น เมื่อตรวจข้อจะพบข้อบวมมากขึ้น

ระยะปานกลาง เมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อน ข้อจะมีการอักเสบภายหลังการใช้งา นกล้ามเนื้อเริ่มปวดเมื่อย อ่อนแรง ข้อเริ่มโค้งงอ ที่เห็นชัดเจน คือข้อเข่า ที่เริ่มโค้งงอมากขึ้น พิสัยการเคลื่อนไหวเริ่มติดขัด เหยียดงอไม่สุดเหมือนปกติ

ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น ข้อเริ่มหลวมไม่มั่นคง ข้อหนาตัวขึ้น จากกระดูกงอกหนา ข้อโก่งงอ ผิดรูปชัดเจน เวลาเดินต้องกางขากว้างขึ้น เพื่อเสริมความมั่นคง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง ขณะลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรง

การรักษาโรคข้อเสื่อม

มีวิธีที่สามารถรักษาโรค โดยตนเองและโดยแพทย์ดังนี้
  1. ลดน้ำหนัก
    • การตรวจสอบน้ำหนักว่าเกินเกณฑ์หรืออ้วนเกินไป สูตรดรรชนีมวลกาย (body mass index) คือ ใช้น้ำหนัก (กิโลกรัม) เป็นตัวตั้งหารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
      สูตร body mass index (BMI)=น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (ม.2)
      ถ้า BMI ไม่เกิน 25 กก./ม.2 ถือว่า น้ำหนักไม่เกิน ถ้าเกิน 30 กก./ม.2 ถือว่าอ้วน

    • วิธีการลดน้ำหนัก
      • ดื่มน้ำต้มสุกก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ ถ้าท้องผูกให้เพิ่มการดื่มน้ำในตอนเช้า ประมาณ 3-4 แก้วทุกเช้า
      • ลดอาหารรสหวาน ของหวาน น้ำหวาน ผลไม้หวาน นมข้นหวาน ฯลฯ
      • งดของมันทุกชนิด ได้แก่ ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู แกงกะทิ ฯลฯ
      • รับประทานอาหารให้พออิ่มทุกมื้อ

  2. การรักษาโดยการใช้ยา
    • ยากิน ยาที่แพทย์สั่งให้ได้แก่ ยาแก้ปวด (แอสไพริน พาราเซทตามอล) และยาแก้อักเสบ (ไดโครฟีแนค, ไพร็อกซิแคม อินโดเมทาซิน ฯลฯ) ยาแก้อักเสบเหล่านี้ ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ) การใช้ยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเพื่อ ลดปวดและลดการอักเสบ ถ้าไปใช้งานหรือรับน้ำหนักอีก ข้อก็จะอักเสบอีก ผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบ คือ ผลต่อไต ผลระคายกระเพาะอาหาร และลำไส้อันอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ มีแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหารทำให้อุจจาระดำ
    • ยาฉีด ยาที่ฉีดเป็นยาจำพวกสเตียรอยด์ เป็นการฉีดเข้าข้ออักเสบเฉพาะที่ ข้อเสียของการฉีดยา (มีมากกว่าข้อดี) ได้แก่
      • ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น การฉีดยาจะส่งสัญญาณเตือนภัย คือ อาการเจ็บปวด (แต่ข้อยังคงมีการอักเสบอยู่) เมื่อฉีดยาแล้ว อาการปวดหมดไป ก็จะเริ่มใช้งาน เริ่มเดิน ยืน ตามปกติ ข้อก็จะอักเสบเพิ่มขึ้น
      • มีโอกาสติดเชื้อ
      • ยาสเตียรอยด์จะตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อเสื่อมเร็ว
      • เสียเงินค่าฉีดยาโดยไม่จำเป็น
    ข้อบ่งชี้การฉีดยาคือ อาการปวดที่รุนแรง เมื่อฉีดแล้วต้องพักข้อข้างที่ถูกฉีดให้เต็มที่ไม่ให้รับน้ำหนัก หรือใช้งานเวลา 1-2 สัปดาห์

  3. การรักษาโดยการผ่าตัด
    • ใช้การส่องกล้องเพื่อกวาดล้างสิ่งแปลกปลอมในข้ออก
    • ตัดกระดูกและจัดกระดูกที่โก่งงอให้ตรง
    • เปลี่ยนข้อเทียม ในกรณีที่ข้อเสื่อมขั้นรุนแรง

  4. การใช้เครื่องช่วยพยุงเข้าและใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
    เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อ เครื่องช่วยพยุงข้อชนิดต่างๆ จะเสริมความมั่นคงของข้อให้กระชับและแข็งแรงขึ้น แต่ต้องหมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อลีบเล็กลง
การป้องกันโรคข้อเสื่อม

การป้องกันในรายที่ยังไม่มีอาการใดๆ ได้แก่
  1. จำกัดอาหารมันและหวานเพื่อมิให้น้ำหนักเกินพิกัด อาหารที่แนะนำ คือผักผลไม้ที่ไม่หวาน เต้าหู้ เนื้อปลา วุ้นเส้นที่ทำจากถั่วเขียวและดื่มน้ำต้มสุก ลดน้ำหวาน น้ำอัดลม
  2. หลีกเลี่ยงการใช้งานที่เกินกำลัง และท่าทางที่จะทำให้ข้อมีความดันเพิ่มสูง ได้แก่ ท่านั่งยองคุกเข่า พับเพียบ ท่าก้มหลัง เป็นต้น
  3. บริหารร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากอุบัติที่อาจทำให้กระดูกหักผ่านข้อ เอ็นยืดข้อฉีกขาด ข้อแพลง เป็นต้น
  5. ตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกปี

การป้องกันในรายที่ข้อมีอาการปวดบวมอักเสบ ที่สำคัญคือการป้องกัน การโก่งงอผิดรูปของข้อได้แก่
  1. ลดน้ำหนัก เปลี่ยนข้าวเป็นข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้อง
  2. ลดการใช้งานเข่า การวิ่งหรือจ๊อกกิ้งจะทำให้ข้อเข่า ต้องรับน้ำหนัก 10 เท่าของน้ำหนักตัว การเดินเข่าจะรับน้ำหนัก ประมาณ 4.5 เท่าของน้ำหนักตัว ส่วนการถีบจักรยาน เข่าจะรับน้ำหนักเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัว
  3. ประคบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเมื่อข้อเกิดการอักเสบ
  4. ใช้เครื่องช่วยพยุงข้อ หรือใช้ไม้เท้าช่วยเดินขณะเกิดการอักเสบ
  5. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า และออกกำลังกาย ให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
  6. กินยาแก้ปวด แก้อักเสบ เป็นครั้งคราว หลีกเลี่ยงการฉีดยาเข่าข้อ


Powered by ScribeFire.

แก้สะอึก (hiccup) ได้แบบเด็ดขาด

สะอึก (hiccup) เกิดจากกะบังลมทำงานไม่เป็นปกติ กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการหายใจ สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจากมีอะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ

สาเหตุเหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก

อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึง 2-3 นาที ซึ่งพบได้บ่อยๆ แต่หากสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ อาจต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น

คนส่วนใหญ่มักจะสะอึกหลังจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากเกินไป บางคนที่มีความตึงเครียดมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้

เทคนิคหยุดอาการสะอึกมีหลายวิธี การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่าๆ 1 ช้อนโต๊ะ สามารถแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ได้แก่
  • สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก
  • หายใจในถุงกระดาษ
  • กลืนน้ำแข็งบดละเอียด
  • เคี้ยวขนมปังแห้ง
  • บีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วจิบแก้สะอึก
  • ก้มตัวดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก
  • จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน
  • ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที
  • อุดหูไปด้วย แล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย
  • แหงนหน้า กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำหนึ่งแก้ว
  • ใช้นิ้วคีบลิ้นแล้วดึงออกมาเบาๆ หรือแลบลิ้นออกมายาวๆ
  • กดจุด โดยออกแรงบีบเนินใต้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่ง หรือกดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก
  • นวดเพดานปาก
  • ทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรงๆ โดยไม่ให้รู้ตัวก่อน
  • ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ

ที่มา เย็นตาโฟ

Powered by ScribeFire.

Sunday, March 2, 2008

อ้วน หนัก หนา ปรมาโรคา

"อ้วน หนัก หนา ปรมาโรคา" เป็นชื่อเรื่องของบทความที่ผมเคยเขียนเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันโรคอ้วนก็ยังเป็นปัญหา และเป็นปัญหามากขึ้นถึงขั้นระบาดไปทั่วโลก ทำให้โรคที่ตามมากับความอ้วน เช่น โรคเบาหวาน พลอยเป็นโรคระบาดไปทั่วโลกด้วย องค์การอนามัยโลกกำลังเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก

การที่โรคอ้วนระบาดเนื่องจากว่าคนเราทุกวันนี้มีกินกันมาก แต่ไม่ได้กินดีอยู่ดีตามที่ควร จะเป็น แต่เป็นการกินผิดๆ กินอาหารขยะกันมากมาย โดยเฉพาะเด็กๆ ถูกพ่อค้ามอมเมา เยาวชนตกเป็นเหยื่อนักการตลาด มีโฆษณาอาหารขยะในสื่อสารมวลชนเป็นประจำ ขณะนี้รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ ได้ออกกฎหมายห้ามโฆษณาเหล้าแล้ว ซึ่งคงจะทำให้การดื่มเหล้าลดลงบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำอะไรกับอาหารขยะเลย

ที่ประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา เขามีกลุ่มคนผู้หวังดีต่อชาติร่วมมือกันต่อต้านอาหารขยะ มีการรณรงค์หลายรูปแบบ รวมทั้งการล็อบบี้ผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายคุ้มครองเยาวชน ห้ามขายอาหารขยะในโรงเรียน ฯลฯ

ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ลงมือทำอะไรกับอาหารขยะ คนไทยที่รักสุขภาพทั้งหลายจึงควรลงมือทำกันเองไปก่อน โดยงดการกินอาหารขยะ พยายามลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักที่ได้ผลที่สุดคือการลดอาหาร เช่น ลดปริมาณที่กินในมื้อเย็นลง ร่วมกับการออกกำลังกาย ไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างเดียวแต่ไม่ควบคุมอาหาร การออกกำลังกายจะช่วยพยุงน้ำหนักตัวเอาไว้ไม่ให้ขึ้น การลดอาหารที่ดีอีกวิธีหนึ่ง คือ กินอาหารมังสวิรัติที่ถูกวิธี

อาหารมังสวิรัติมีผลดีหลายอย่าง คือ นอกจากลดน้ำหนักได้แล้วยังสามารถช่วยให้โรคต่างๆ หลายอย่างดีขึ้น เช่น เบาหวาน โรคหัวใจดีขึ้น สมองเสื่อมช้าลง

จากการวิจัย มาธา แคลร์ มอริส ที่มหาวิทยาลัย รัชยูนิเวอร์ซิตี เมดิคัลเซ็นเตอร์ ที่ชิคาโก เมื่อไม่นานมานี้พบว่าการกินอาหารที่มีผักมากมีผลทำให้สุขภาพของสมองดีขึ้น คือ สมองเสื่อมช้าลง เขาทำการศึกษาเป็นเวลา 6 ปี พบว่าคนที่กินอาหารที่มีผักมากวันละ 2 มื้อมีความเสื่อมน้อยกว่าคือดูหนุ่มกว่าวัย 5 ปี จากการวิจัยที่ชิคาโกซึ่งทำการศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงจำนวนเกือบ 2,000 คนพบว่าการกินผักมากมีแนวโน้มทำให้สมองเสื่อมช้าลง ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเจ๋งเป้ง แต่เป็นงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ไปในแนวทางเดียวกับที่เขาเคยทำการศึกษาในผู้หญิงมาแล้ว

การวิจัยที่ชิคาโกที่ว่านั้นเขาใช้อาหารที่มีผักวันละ 2 จาน (ส่วนเสิร์ฟ) ผักที่สำคัญของเขาคือ ผักโขม และ เคล ซึ่งเขาคิดว่าเป็นผักที่ให้ประโยชน์มากเนื่องจากมีวิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยต้านสารก่อความเสื่อมของเซลล์

โดยทั่วไปผักมีวิตามินอีมากกว่าผลไม้ ซึ่งเขาไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการลดความเสื่อมในการวิจัยชิ้นนั้น การกินผักของคนไข้ที่เขาทดลองส่วนมากมักจะกินกับน้ำมันชนิดที่ดีซึ่งช่วยการดูดซึมวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระให้เป็นไปได้ด้วยดี น้ำมันที่ดีที่ว่านั้นช่วยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้หลอดเลือดไม่ตีบหรือตันจึงมีผลดีต่อสุขภาพของสมอง งานชิ้นนี้บ่งชี้ถึงผลดีของผักไม่ใช่ผลไม้ ทำให้คิดไปได้ว่าการกินผักมากมีผลดีจริง ไม่ใช่แค่บ่งชี้ว่าคนกินผักมีสุขนิสัยที่ดีเท่านั้น

งานวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วม 1,946 คน ซึ่งมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า คนเหล่านี้ได้กินผักใบเขียว (หั่นแล้ว) มื้อละครึ่งถ้วยตวง หรือ 1 ถ้วยตวงถ้ายังไม่หั่น เขาทำการทดสอบการทำงานของสมอง 3 ครั้งในห้วงเวลาการทดลอง 6 ปี โดยทั่วๆ ไปคนเรามีความเสื่อมถอยของการทำงานของสมอง แต่คนที่กินผักมากกว่าวันละ 2 ถ้วยมีความเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่กินไม่ถึงหรือไม่กินผักถึง 40% ผลการทดสอบทางสมองของกลุ่มกินผักมากที่เขาทำมาได้มีค่าเท่ากับผลการทดสอบสมองของคนที่หนุ่มกว่านั้น 5 ปี การศึกษานี้ยังพบว่าคนที่กินผักมากส่วนมากมีสุขนิสัยที่ดี คือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่า ซึ่งเรารู้มาแล้วว่าดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด แสดงว่าอะไรที่ดีต่อหัวใจก็ดีต่อสมองด้วย

ที่มา นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

ความรู้ทั่วไปเรื่องเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดปัญหากับ ฟันและเหงือก ตา ไต หัวใจ หลอดเลือดแดง ท่านผู้อ่านสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆได้โดยการปรับ อาหาร การออกกำลังกาย และยาให้เหมาะสม ท่านผู้อ่านสามารถนำข้อเสนอแนะจากบทความนี้ไปปรึกษากับแพทย์ที่รักษาท่านอยู่ ท่านต้องร่วมมือกับคณะแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อกำหนดเป้าหมายการรักษา บทความนี้เชื่อว่าจะช่วยท่านควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น

โรคเบาหวานคืออะไร

อาหารที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่จะเปลี่ยนจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงาน เซลล์ในตับอ่อนชื่อเบต้าเซลล์เป็นตัวสร้างอินซูลิน อินซูลินเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าเซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดเนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลงเนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอยู่เป็นเวลานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท

ฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย สร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต ถ้าขาดอินซูลินหรือการออกฤทธิ์ไม่ดี ร่างกายจะใช้น้ำตาลไม่ได้ จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมีอาการต่างๆของโรคเบาหวาน นอกจากมีความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่น เช่น มีการสลายของสารไขมันและโปรตีนร่วมด้วย

อาการของโรคเบาหวาน

คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มก.% หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มก.% ผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงไม่มากอาจจะไม่มีอาการอะไร การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะทำได้โดยการเจาะเลือด อาการที่พบได้บ่อย
  • คนปกติมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางดึกหรือปัสสาวะอย่างมากไม่เกิน 1 ครั้ง เมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า180มก.% โดยเฉพาะในเวลากลางคืนน้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น จึงมีอาการปัสสาวะบ่อยและเกิดการสูญเสียน้ำ และอาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม
  • ผู้ป่วยจะหิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลจึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและไขมันออกมา
  • ผู้ป่วยจะกินเก่งหิวเก่งแต่น้ำหนักจะลดลงเนื่องจากร่างกายน้ำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีการสลายพลังงานจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อ
  • อาการอื่นๆที่อาจเกิดได้แก่ การติดเชื้อ แผลหายช้า คัน
  • คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคันเนื่องจากผิวแห้งไป หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
  • เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายตา เช่นสายตาสั้น ต่อกระจก น้ำตาลในเลือดสูง
  • ชาไม่มีความรู้สึก เจ็บตามแขนขาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลสูงนานๆทำให้เส้นประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึก
  • อาเจียน
น้ำตาลในกระแสเลือดสูงเมื่อเป็นโรคนี้ระยะหนึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับหลอดเลือดเล็กเรียก microvacular หากมีโรคแทรกซ้อนนี้จะทำให้เกิดโรคไต เบาหวานเข้าตา หากเกิดหลอดเลือดเลือดแดงใหญ่แข็งเรียก macrovascular โดยจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาต หลอดเลือดแดงที่ขาตีบนอกจากนั้นยังอาจจะเกิดปลายประสาทอักเสบ neuropathic ทำให้เกิดอาการชาขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสาทอัตโนมัติเสื่อม

ใครมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน

สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานยังไม่ทราบแน่นอนแต่องค์ประกอบสำคัญที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดได้แก่ กรรมพันธุ์ อ้วน ขาดการออกกำลังกาย หากบุคคลใดมีปัจจัยเสี่ยงมากย่อมมี่โอกาสที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้แสดงข้างล่างนี้

ใครที่ควรจะต้องเจาะเลือดหาโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองพบมากและมักจะวินิจฉัยไม่ได้ในระยะแรก การที่มีภาวะน้ำตาลสูงเป็นเวลานานๆทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆเช่น ตา หัวใจ ไต เส้นประสาท เส้นเลือด นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในโลหิตสูงร่วมด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการวินิจฉัยให้เร็วที่สุดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน การตรวจคัดกรองเบาหวานในผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการ ผู้ที่สมควรได้รับการเจาะเลือดตรวจตรวจหาเบาหวาน คือ
  • ประวัติครอบครัวพ่อแม่ พี่ หรือ น้อง เป็นเบาหวานควรจะตรวจเลือดแม้ว่าคุณจะไม่มีอาการ
  • อ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า27% หรือน้ำหนักเกิน20%ของน้ำหนักที่ควรเป็นสำหรับประเทศในเอเซียเราพบว่าเมื่อดัชนีมวลกายมากกว่า 23 จะพบผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากดังนั้นแนะนำว่าควรจะเจาะเลือดตรวจเบาหวานเมื่อดัชนีมวลกายมากกว่า 25 อยากทราบว่าดัชนีมวลกายเท่าไรคลิกที่นี่
  • อายุมากกว่า 45 ปี
  • ผู้ที่ตรวจพบ IFG หรือ IGT
  • ความดันโลหิตสูงมากกว่า140/90 mmHg
  • ระดับไขมัน HDL น้อยกว่า35 มก%และหรือ TG มากกว่า250 มก.%
  • ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักเด็กแรกคลอดมากกว่า4กิโลกรัม
บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวควรที่จะได้รับการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดทุก3ปี หากคุณเป็นคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวการป้องกันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร การคุมน้ำหนัก สำหรับรายละเอียดอย่างอื่นให้ดูหัวข้อบนเมนูด้านขวา

ที่มา Siam Health

อาหารอบแห้ง ให้คุณค่า หรือ แค่เพิ่มรสชาติ

การอบแห้ง เป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง ซึ่งช่วยยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานวันยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับประทานพืชผลนอกฤดูกาลในรสชาติที่แปลกไป แถมยังช่วยอำนวยความสะดวกยามเร่งรีบ แล้วคุณเคยสงสัยมั้ยคะว่า คุณค่าอาหารจะยังอยู่ครบถ้วนหรือเปล่านะ?

คุณค่าอาหารอบแห้ง
อาหารอบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้หลายอย่างเชียวค่ะ ทั้งยามที่เราอาจจะไม่สะดวกไปซื้ออาหารสด เช่น ปลา เนื้อ หมู กุ้ง เต้าหู้ ทำให้เราได้รับประทานผลไม้นอกฤดูกาล เช่น ลำไย ขนุน สับปะรด ลิ้นจี่ สตรเบอร์รี่ และไม่ว่าจะไกลแหล่งผลิตแค่ไหน เช่น ลูกพรุน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เอ็นหอย (สำหรับทำน้ำซุป) เห็ดต่างๆ สาหร่ายแถมยังพกพาสะดวกด้วย เช่น เครื่องปรุงอบแห้ง เครื่องเทศ สมุนไพร

แต่การรับประทานเป็นประจำ ก็ทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางกลุ่มได้ค่ะ เพราะการทำอาหารอบแห้งส่วนใหญ่มีความร้อนมาเกี่ยวข้อง จึงเกิดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารได้ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารหด้วยค่ะ เช่น

วิตามิน ซึ่งส่วนใหญ่จะไวต่อความร้อน โดยเฉพาะวิตามินซีในผักผลไม้ที่อบแห้ง เพราะความร้อนทำให้วิตามินสลายตัวไป อาจมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ปริมาณน้อย ยิ่งใช้ความร้อนในการอบสูง ใช้เวลานาน ก็จะยิ่งสูญเสียคุณค่าทางอาหารมากขึ้นค่ะ

โดยเฉพาะอาหารแห้งชนิดที่ต้องนำมาผ่านการหุงต้มก่อนการรับประทานจะเกิดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารมากขึ้น คือ วิตามินที่ละลายน้ำได้และแร่ธาตุบางชนิด เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับประทานส่วนที่เป็นน้ำเข้าไปด้วยทั้งหมด

โปรตีน มีมากในเนื้อสัตว์ต่างๆ โปรตีนที่โดนความร้อนระหว่างการทำแห้ง ไม่ถือว่าเสียคุณค่าทางอาหารค่ะ อาจเปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจากของดิบเป็นของสุกแต่ยังจัดเป็นโปรตีนอยู่ และร่างกายก็ยังสามารถย่อยหรือดูดซึมไปใช้ได้

คาร์โบไฮเดรตและไขมัน บางส่วนที่ผ่านความร้อนแล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนร่างกายย่อยไม่ได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยค่ะ

เด็กกับอาหารอบแห้ง

เด็กๆ สามารถรับประทานอาหารอบแห้งได้ค่ะ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ เรื่องของคุณค่างทางอาหาร หากคุณพ่อคุณแม่จัดแต่งอาหารแห้ง โดยที่ไม่ได้มีการเสริมหรือเติมสารอาหารใดๆ ให้ลูกเป็นประจำ ลูกอาจมีโอกาสขาดสารอาหารบางตัวโดยเฉพาะวิตามินค่ะ

Say No !

อาหารอบแห้งที่มีการเติมส่วนประกอบอื่นๆ รวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร ก็อาจมีผลเสียต่อตัวอาหารและสุขภาพได้ เช่น

น้ำตาล อาหารอบแห้งหลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีการนำไปแช่อิ่มหรือเชื่อมก่อนจะนำมาอบแห้ง จึงมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง รสหวานถูกมใจเด็กๆ และผู้ใหญ่หลายคน แต่หากรับประทานมากๆ หรือบ่อยๆ อาจทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป ได้พลังงานเกิน รวมทั้งมีปัญหาเรื่องสุขภาพปากและฟันอีกด้วยค่ะ

สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น หรือสารอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหารจะมีข้อกำหนดเรื่องปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารประเภทต่างๆ ตามเกณฑ์ของ อย. แต่บางครั้งก็มีการใช้ในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะสารป้องกันปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาล (Anty Browny Agent) ซึ่งเป็นสารกลุ่มเดียวกับสารฟอกขาว ช่วยไม่ให้อาหารเป็นสีคล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้

คนที่มีความไวต่อสารชนิดนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือหอบหืด เมื่อรับประทานอาหารที่มีสารพวกนี้เข้าไป จะทำให้หายใจลำบากกระตุ้นให้เกิดอาการหอบได้

เชื้อรา เคยมั้ยคะ เมื่ออาหารเกิดมีราขึ้นพียงนิดเดียว คุณจึงเฉือนส่วนที่เป็นราทิ้งไปแล้วรับประทานส่วนที่เหลือ ทั้งที่จริงแล้วหากอาหารขึ้นราแม้เพียงนิดเดียว ก็ควรทิ้งไปค่ะเพราะถึงแม้ส่วนที่เหลืออยู่เราจะมองไม่เห็นว่าเป็นจุดดำๆ หรือเป็นฟูๆ ขาวๆ แต่เราไม่สามารถมองลึกเข้าไปในเนื้ออาหารได้ว่า มีการสร้างสารพิษหรือไม่ โดยเฉพาะสารอัลฟาทอกซิน

อาหารที่แห้งไม่สนิท ทำให้เชื้อราชนิดหนึ่งเติบโตได้ และสร้างสารพิษที่เรียกว่า อัลฟาทอกซิน เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม ฯลฯ หรือบางครั้งอาหารแห้งที่เก็บไว้ เช่น ขนมปัง ผลไม้อบแห้ง น้ำพริกแห้งต่างๆ อาจขึ้นราได้ เพราะความชื้นในอากาศทำให้เชื้อราเติบโตได้ค่ะ

เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย

อาหารแห้งที่ผลิตในระดับครัวเรือน ซึ่งอาจไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอย. เช่น ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ฯลฯ ที่มีขายตามต่างจังหวัด ควรดูให้ละเอียดว่า อาหารมีความแห้งจริงหรือไม่ เช่น ปลาแห้ง ไม่ควรแห้งแต่บริเวณผิวด้านนอก แต่ข้างในยังมีความชื้นอยู่มาก เพราะอาจทำให้เกิดการเน่าเสียหรือเชื้อราตามมาภายหลัง

หากมีโอกาสเห็นสถานที่ผลิต ควรดูความสะอาดของสถานที่ และดูว่ามีแมลงมาตอมมากหรือไม่ แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีแมลงตอมเลย ก็อาจเกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นซึ่งเป็นอันตรายเช่นกันค่ะ

อาหารที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม ควรสังเกตเรื่องหมายและเลขทะเบียนของ อย. หากมีแต่เครื่องหมาย อย. แต่ยังไม่มีเลขทะเบียน แสดงว่ายังอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนหรือยังขึ้นทะเบียนไม่สำเร็จ จึงควรระมัดระวังและสังเกตให้ดีค่ะ

นอกจากนั้น ควรดูชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ที่น่าเชื่อถือ บรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อโรคเข้าไปในอาหารได้ค่ะ

อาหารอบแห้งทำให้เรามีเมนูหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ต้องสลับสับเปลี่ยนหรือปรุงผสมกับอาหารสดด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่านอกจากรสชาติถูกปากสมาชิกทุกคนในครอบครัวแล้วยังต้องคำนึงถึงสารอาหารที่ครบถ้วนด้วยค่ะ

ที่มา นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่ 298 พฤศจิกายน 2550

นมเอย... ทำไมจึงคัด

ช่วงเวลาแห่งการให้นมเป็นช่วงเวลาที่สุดวิเศษของแม่และลูก แต่ก่อนจะให้นมลูกจะรู้ไหมนะว่าก่อนหน้านี้แม่เกิดอาการคัดหน้าอกมาก่อน

เข้าใจเรื่องน้ำนมคัด

อาการน้ำนมคัดเป็นอาการบอกว่าการผลิตน้ำนมนั้นดีเหลือล้น แต่มีการระบายออกน้อยกว่าที่ผลิต จึงทำให้น้ำนมที่ผลิตออกมาแล้วเหลือค้างอยู่ในเต้าจนเกิดอาการคัดขึ้นมาแล้วที่เต้านมบวมตึงก็เพราะเต้านมก็เหมือนส่วนอื่นๆ ที่อาจมีอาการบวมตึงได้เมื่อการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลืองไม่ดี คุณแม่ลองนึกถึงเต้านมที่มีน้ำนมเต็มหนักอึ้ง น้ำเหลืองและเลือดจะบวมคั่ง

สาเหตุที่คัดหน้าอกก็เพราะ...
  • น้ำนมไม่ได้รับการถ่ายออกจาเต้านม ซึ่งอาจจะเกิดจากแม่ให้ลูกกินนมไม่บ่อยพอ หรืออีกกรณีคือลูกไม่ได้กินนมจากเต้า มีการศึกษาพบว่าระยะเวลาที่ลูกดูดนมจากเต้าในวันแรกๆ ยิ่งดูดนานาแม่จะมีอาการเจ็บเต้านมน้อยกว่าคนที่ให้ลูกดูดน้อยกว่าด้วยค่ะ

  • แม่มีเต้านมขนาดเล็ก ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นเร็วจะทำให้เกิดอาการเต็มเต้าได้เร็วกว่าแม่ที่มีเต้านมขนาดใหญ่

  • คุณแม่ท้องแรก จะมีอาการคัดหน้าอกมากกว่าคุณแม่ที่เคยผ่านการมีลูกมาแล้ว

  • แม่ถูกแยกจากลูกในวันแรกๆ หลังคลอด เพราะลูกไมได้ดูดนมเอา Colosteum จากแม่ให้ระบายออกไปบ้าง ในขณะที่เต้านมมีเลือดมาเลี้ยงมากในสองสามวันแรกหลังคลอดหรือมีการเว้นช่วงการให้กินนมนานเกินไป เช่น ลูกหลับนาน หรือแม่ทำธุระอยู่ไม่สามารถให้นมหรือบีบน้ำนมออกได้เป็นเวลานานกว่า 4-5 ชั่วโมง

  • ท่าทางการอุ้มและการดูดของลูกไม่ถูกต้อง ท่าทางการอุ้มรวมถึงลักษณะการดูดนมของลูก มีส่วนทำให้ไม่สามารถขับน้ำนมออกได้เต็มที่ด้วยค่ะ
น้ำนมน้อยผลพวงจากนมคัด

การปล่อยให้น้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านมนาน ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้เต้านมผลิตน้ำนมลดลง เพราะระบบการผลิตในร่างกายจะอ่านค่าว่า ผลิตน้ำนมมากเกินไปจนเกินกำลังจะใช้แล้วจึงให้น้ำนมผลิตน้อยลงเรื่อยๆ

ดูแลอย่างไรดีเมื่อหน้าอกคัด

ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่มักจะรู้สึกคัดหน้าอกในช่วงวันที่7-14 หลังคลอดค่ะ เพราะระยะแรกน้ำนมยังค่อยๆ เพิ่มการผลิตทีละน้อย มีทริกไม่ให้คัดหน้าอกคือ
  • ให้ลูกกินนมบ่อยขึ้น ช่วงอาทิตย์แรกคุณแม่ควรให้ลูกกินนมอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน โดยไม่จำกัดเวลาในการดูดนม ให้กินจนอิ่มทั้งกลางวันและกลางคืน ในเด็กเล็กเดือนแรกๆ ยังต้องตื่นบ่อยเพราะกระเพาะยังจุน้ำนมได้น้อยอยู่ อาจจะให้ลูกกินนมทุก 2-3 ชั่วโมง หรืออย่าให้ห่างกว่า 4 ชั่วโมงในช่วงเดือนแรก เมื่อใดที่รู้สึกว่าเต้านมหนักตึงก็ลองให้ลูกดูดนมเพื่อช่วยให้ได้ระบายน้ำนา กรณีที่คุณแม่ปั๊มน้ำนมให้ลูกกินก็ต้องทำเหมือนกันคืออย่างน้อยทุก 3-4 ชั่วโมงต้องมีการระบายน้ำนมค่ะ

  • ประคบร้อน ใช้ในกรณีที่เต้านมยังคงนิ่มอยู่บ้าง ไม่บวมจนแข็งมาก อุปกรณ์ที่ใช้ประคบอาจเป็นผ้าเปียกน้ำร้อนหมาดๆ สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบเปียกแฉะอาจใช้ถุงผ้าใส่เมล็ดข้าวสารหรือเมล็ดถั่ว ที่ถูกทำให้ร้อนโดยไมโรคเวฟหรือการคั่วเผา บางคนอาจใช้ผ้าขาวบางห่อข้าวเหนียวหุงร้อนๆ ประคบสัก 5-10 นาที ก่อนให้นมลูก น้ำอุ่นจากฝักบัวหรือจะใช้ถุงน้ำร้อนช่วยได้เช่นกันนะคะ

  • ประคบเย็น ใช้ได้ดีในการลดอาการปวดเต้านม และวิธีที่จะช่วยลดอาการบวมของเต้านมในกรณีที่บวมแข็ง ซึ่งมักพบว่าน้ำนมไม่ไหลเลย แม้จะบีบ ปั๊มก็ตาม เพราะอาการคั่งน้ำในเต้านมควรใช้ผ้าเย็นจัดหรือ Icepack วางประคบประมาณ 15-20 นาที ทำบ่อยๆ ในช่วงที่เต้านมแข็งและปวด อาจรับประทานยาแก้ปวดพวกพาราเซตามอลร่วมด้วย หรือลองใช้กะหล่ำปลีแช่เย็นวางประคบเต้านม ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดความเจ็บปวดเต้านมและลดอาการบวมของเต้านมลงได้ ส่วนแพทย์แผนไทยเขาใช้ใบพลูจะเป็นแบบสดหรือเย็นก็ได้นะคะ วางบนเต้านมแล้วหมั่นเปลี่ยนบ่อยๆ ค่ะ

  • บีบน้ำนมด้วยมือเบาๆ เพื่อให้ลานนมนุ่มลง เพื่อให้ลูกดูดได้ดีขึ้นคุณแม่อาจใช้ปทุมแก้วหรือสวม Breast Shells พลาสติกหนาที่มีรูเปิดสำหรับหัวนมและมีแผ่นซิลิโคนนวดที่ลานนมครอบบนเต้า เพื่อนวดลานนมให้นิ่มและกระตุ้นกลไกให้น้ำนมพุ่งสัก 30 นาทีก่อนให้นม หรืออาจจะใส่ไว้เรื่อยๆ ก็ได้เพราะน้ำนมจะสามารถไหลออกมาได้ตลอดเวลาลดอาการคั่งในเต้านม แต่ห้ามบีบน้ำนมหรือปั๊มออกจนหมดเต้ายกเว้นลูกไม่สามารถดูดนมจากเต้าจึงจะปั๊มออกทุก 3 ชั่วโมง จะช่วยบรรเทาอาการน้ำนมคั่งลงได้ค่ะ

  • สวมยกทรงที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อยกทรงที่มีขอบลวดหรือคับแน่นเกินไปด้วยค่ะ
คุณแม่หลายท่านที่อาจจะไม่มีอาการนมคัดเลย เพราะการผลิตน้ำนมกับความต้องการของลูกสมดุลกันดี ซึ่งการที่หน้าอกไม่คัดไม่ใช่เรื่องปกติ แต่แสดงว่าระบบดีนะคะ

บัญญัติ 10 ประการสำหรับหญิงตั้งท้อง

  1. เลี่ยงบุคคลทื่เป็นโรคติดต่อ หรือสัตว์เลี้ยงที่กลังเจ็บป่วย
  2. เสี่ยงการฉีดวัคฉีน หรือทานยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  3. เลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดในอ่างหรืออบซาวด์น่า
  4. เสี่ยงกายฉายรังสีเอ็กซเรย์
  5. เลี่ยงการอยู่ในที่ซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท อับ ทึบ
  6. เลี่ยงการใช้สารเคมีที่มีพิษในบ้าน อาทิ ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างก้องน้ำ เป็นต้น
  7. เลี่ยงการดื่มของมึนเมาทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน
  8. เลี่ยงการพบปะพูดคุยกับบุคคลที่รักการสูบบุหรี่เป็นชีวิตจิตใจ
  9. เลี้ยงการทำงานที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย ๆ
  10. เสียงจากคนวิกลจริต

ที่มา นิตยสาร บันทึกคุณแม่