Wednesday, February 27, 2008

มะเร็งไฝ (Melanoma)

เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายเร็วมาก เกิดจากเซลล์สร้างสีผิว melanocyte การที่จะเข้าใจโรคนี้ท่านจะต้องเข้าใจโครงสร้างของผิวหนัง

โครงสร้างของผิวหนัง
  • ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกายทำหน้าที่ป้องกัน ความร้อน แสง การติดเชื้อ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และสร้างวิตามินดีผิวหนังประกอบด้วยเซลล์สองชั้น

  • ชั้น epidermis เป็นชั้นนอกสุดประกอบด้วยชั้นบนสุดเป็น squamous เซลล์รองลงมาได้แก่ basal cell โดยมี melanocyte อยู่ใต้ subcutaneous

  • ชั้น dermis เป็นชั้นที่อยู่ของ ต่อมขน ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน หลอดเลือด

Melanocyte และ ไฝ Mole

melanocyte เป็นตัวสร้างสีผิว melanin เมื่อผิวถูกแสงทำให้สีผิวเข็มขึ้น ไฝเป็นกลุ่มของ melanocyte ที่อยู่รวมกันมักเกิดในช่วงอายุ 10-40 ปี อาจจะแบน หรือนูน สีอาจเป็นสีชมพู หรือสีน้ำตาล รูปร่างกลม หรือวงรีไฝมักจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดหรือสีตัดออกแล้วไม่กลับเป็นซ้ำ

Melamoma

เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ melanocyte ที่แบ่งตัวนอกเหนือการควบคุมของร่างกาย ถ้าเกิดที่ผิวหนังเรียก cutaneous melanoma เกิดที่ตาเรียก ocular melanoma โดยทั่วไปเกิดบริเวณลำตัว ขา ถ้าคนผิวดำมักเกิดที่เล็บ โดยทั่วไปมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอาจพบที่อวัยวะอื่นๆได้เรียก metastasis melanoma

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
  • ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไฝ จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากกว่า 2 เท่าดังนั้นสมาชิกในครอบครัวควรได้รับการตรวจจากแพทย์
  • Dysplastic nevi ไฝที่มีลักษณะชิ้นเนื้อแบบนี้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง
  • เคยเป็น melanoma
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น AIDS
  • มีไฝจำนวนมาก เช่นมากกว่า 50 เม็ดจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมาก
  • แสง ultraviolet ควรสวมเสื้อแขนยาวและหมวกเพื่อกันแสง ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเวลา 10-16.00 น.ควรทาครีมกันแสงร่วมด้วย
  • เคยถูกแสงจนไหม้เมื่อวัยเด็ก ดังนั้นควรป้องกันไม่ให้เด็กสัมผัสแสงแดด
  • สีผิว ผิวขาวมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ง่ายกว่าผิวคล้ำ
อาการของมะเร็งไฝ
อาการเริ่มแรกมักเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง ขนาด สี รูปร่าง ขอบ บางรายอาจมีอาการคัน มีขุยหากเป็นมากขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงของความแข็ง หากพบมะเร็งเริ่มต้นการรักษาจะหายขาด แต่หากรุกลามเข้าใต้ผิวหนังมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น














Asymmetry
รูปร่างไม่สมดุล
Border
ขอบไม่เรียบ เป็นรอยขรุขระ
Color
มีการเปลี่ยนของสี
Diameter
ขนาดใหญ่ขึ้น

การวินิจฉัย
หากแพทย์สงสัยว่าไฝที่เห็นว่าจะเป็นมะเร็งแพทย์จะตัดก้อนนั้นส่งพยาธิแพทย์ตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์ หากก้อนนั้นใหญ่มากแพทย์จะตัดเพียงบางส่วนส่งตรวจ ถ้าพบเซลล์มะเร็งแพทย์จะตรวจพิเศษเพิ่มเพื่อตรวจดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือยัง

การรักษา
หลังจากวินิจฉัยและทราบการแพร่กระจายของโรคแพทย์จะวางแผนการรักษาก่อนการรักษาควรจดบันทึกคำถามเพื่อถามแพทย์ดังตัวอย่าง
  • การวินิจฉัยของแพทย์
  • มะเร็งแพร่กระจายไปหรือยัง
  • ควรจะรักษาด้วยวิธีใดดีที่สุด และแพทย์เลือกวิธีใด
  • โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมีมากหรือไม่
  • เราจะทราบอย่างไรว่าการรักษาได้ผล
  • การรักษาจะสิ้นสุดเมื่อใด
  • จะดูแลตัวเองระหว่างการรักษาอย่างไร
  • ผลข้างเคียงของการรักษามีอะไรบ้าง
  • จะเจ็บปวดหรือไม่ และจะใช้ยาอะไรในการควบคุม
  • หลังการผ่าตัดต้องรักษาอย่างอื่นหรือไม่
วิธีการรักษา
  1. การผ่าตัด เป็นการรักษามาตรฐานแพทย์จะพยายามตัดเนื้อร้ายออกให้หมดร่วมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้เนื้อร้าย ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นแพทย์จะให้การรักษาอย่างอื่น
  2. เคมีบำบัด เป็นการให้สารเคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งโดยอาจเป็นยากินหรือยาฉีด
  3. รังสีรักษาเป็นการฆ่ามะเร็งเฉพาะที่โดยเฉพาะมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น สมอง ปอด ตับ
  4. การสร้างภูมิคุ้มกัน อาจให้ภูมิโดยการฉีด เช่นการให้ interferon หรือ interleukin โดยการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเช่นการฉีดวัคซีน
ผลข้างเคียงของการรักษา
  1. การผ่าตัด อาจทำให้เกิดแผลเป็นบางรายเกิด keloid การตัดต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้ขาหรือแขนบวม
  2. เคมีบำบัด การให้เคมีบำบัดอาจให้เกิดโลหิตจาง ติดเชื้อง่าย หรือเลือดออกง่าย ผมร่วง
  3. รังสีรักษา ทำให้ผมบริเวณที่ฉายรังสีร่วง อาจมีอาการอ่อนเพลีย
  4. การสร้างภูมิคุ้มกัน อาจมีอาการปวดเมื่อตามตัวเบื่ออาหาร ท้องร่วง

ก๊าซในทางเดินอาหาร

ก๊าซในทางเดินอาหารเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงเนื่องจากอาการเป็นไม่มาก หายเองได้ แต่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่เป็น ปกติเราสามารถขับก๊าซส่วนเกินโดยการขับออกทางปากและขับทางก้น หากก๊าซนั้นไม่ถูกขับออกจากร่างกาย จะทำให้มีการสะสมไว้ในทางเดินอาหารสำหรับบางคนที่ไวก็อาจจะเกิดอาการท้องอืดแม้ว่าจะมีก๊าซไม่มาก

สาเหตุของก๊าซในทางเดินอาหาร

ก๊ายในทางเดินอาหารหากมีมากจะถูกขับทางโดยการผายลม ก๊าซในระบบทางเดินอาหารเกิดจากการที่เรา
  1. ได้รับจากการกลืนเข้าไป
    • ผู้ที่มีความเครียด
    • เคี้ยวหมากฝรั่ง
    • มีน้ำมูกไหล
    • สูบบุหรี่
    • การกลืนอาหารเร็วไปไม่เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
    • ฟันปลอมที่ไม่พอดี
    • เครื่องดื่มที่มี carbonated จะทำให้เกิดก๊าซ

  2. เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้
    อาหารที่ย่อยไม่หมดโดยเฉพาะอาหารพวกแป้งที่มีใยอาหารจะไม่ถูกย่อย เมื่อผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่เชื้อแบคทีเรียจะย่อยสลายทำให้เกิดก๊าซ นอกจากนั้นน้ำตาลที่อยู่ในนมหากร่างกายไม่ย่อยก็ทำให้เกิดก๊าซมาก
    • ได้แก่อาหารพวก กะหล่ำปี ดอกกำหล่ำ ถัว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี wheat, ข้าวโอ๊ต oats, มันฝรั่ง potatoes เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีใยอาหาร และแป้งมากมำให้ลำไส้เล็กดูดไม่หมด อาหารเหลือไปยังลำไส้ใหญ่เกิดการหมักทำให้เกิดก๊าซ
    • อาหารที่มีใยอาหารมาก เช่นเมล็ดธัญพืช ข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด แต่หลังจาก 3 สัปดาห์จะปรับตัวได้ แต่บางคนอาการท้องอืดและมีก๊าซจะเป็นตลอด
    • นม ลำไส้บางคนขาดเอ็นไซม์ในการย่อยนม เมื่อดื่มนมจะทำให้ท้องอืด ลองงดนมอาการท้องอืดจะดีขึ้น
สาเหตุของการเรอบ่อย

การที่เราเรอส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุที่มีปริมาณก๊ายในกระเพาะมากทำให้กระเพาะขยายจึงเกิดอาการแน่นท้อง แต่บางท่าเรอจนติดเป็นนิสัยแม้ว่าปริมาณก๊าซในกระเพาะจะไม่มาก สาเหตุที่พบได้บ่อยๆได้แก่
  • มีการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะไปยังหลอดอาหาร ปกติเมื่อเรากลืนอาหารจะผ่านจากหลอดอาหารไปยังกระเพะอาหารซึ่งมีหูรูดกันไม่ให้กรดและอาหารไหลย้อนไปยังหลอดอาหาร เมื่อมีปัจจัยส่งเสริมทำให้หูรูดหย่อน กรดและอาหารจะไหลย้อนไปยังหลอดอาหารทำให้เราต้องกลืนบ่อย ลมจึงเข้าไปมาก
  • มีการอักเสบหรือแผลที่กระเพาะอาหาร
วันหนึ่งรางกายผลิตก๊าซเท่าใด

วันหนึ่งๆร่างกายเราจะผลิตก๊าซวันละ ครึ่งแกลลอนซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ Oxygen, carbon dioxide, และ nitrogen เหมืออากาศ ไม่มีกลิ่น แต่ที่มีกลิ่นเนื่องจากหมักหมมของอาหารที่ลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดก๊าซ hydrogen sulfide, indole, and skatole

อาการแน่นท้อง

อาการแน่นท้องเป็นอาการที่พาผู้ป่วยไปพบแพทย์

อาการแน่นท้องไม่จำเป็นต้องเกิดจากก๊าซในทางเดินอาหารแต่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆเช่น
  • อาหารมัน ซึ่งจะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้า เกิดอาการแน่นท้อง การแก้ไขทำได้โดยลดอาหารมัน
  • เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป
  • ผู้ป่วยบางคนมีก๊าซไม่มากแต่มีอาการปวดท้องเนื่องจากลำไส้ของผู้ป่วยไวต่อการกระตุ้นทำให้เกิดอาการเกร็งของลำไส้ spasm
  • ผู้ป่วยบางคนพยายามที่จะเรอเอาลมออก แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้กลืนลมเพิ่มขึ้น ทำให้แน่นท้องเพิ่มขึ้น
  • ก๊าซที่สะสมในลำไส้ใหญ่ข้างซ้ายอาจจะทำให้เกิดอาการปวดเหมือนกับโรคหัวใจ
หากเราเรอแล้วอาการแน่ท้องดีขึ้นก็แสดงว่าอาการแน่นท้องเกิดจากก๊าซ แต่หากอาการแน่นท้องไม่ดีขึ้นท่านต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการแน่นท้อง

อาการท้องอืดและท้องบวม

ท่านผู้อ่านคงจะเคยมีอาการรู้สึกแน่นท้อง บางคนจะรู้สึกตึงๆในท้อง บางคนจะรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย บางคนมีอาการเสียดท้อง หากเราทราบสาเหตุและได้รับการแก้ไขอาการจะดีขึ้น แต่อาการแน่นท้องก็อาจจะเป็นอาการของท้องบวมซึ่งอาจจะเป็น
  • น้ำ
  • ลม
  • เนื้อเยื่อ เช่นเนื้องอก
ดังนั้นหากอาการแน่นท้องเป็นอาการเรื้อรัง และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นมากต้องให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของอาการท้องอืด

สาเหตุของอาการท้องอืด

สาเหตุของอาการท้องอืดที่พบบ่อยๆได้แก่
  1. มีลมในทางเดินอาหารมากไป ซึ่งอาจจะเกิดจากร่างกายของคนนั้นมีเชื้อที่สร้างก๊าซมากกว่าคนอื่น หรือเกิดจากการที่อาหารไม่ย่อย หรือเกิดจากร่างกายมีเชื้อแบคทีเรียในลำไส้มากไป
  2. ลำไส้มีการอุดตันทำให้ก๊าซไม่สามารถไปลำไส้ใหญ่ เช่น ไส้เลื่อนที่อุดตัน ผังผืดในท้องรัดลำไส้เป็นต้น ผู้ที่มีโรคดังกล่าวจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน
  3. ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลำไส้แปรปวน อาหารที่มัน หรือมีกากมาก
  4. ผู้่วยที่มีลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าก๊าซในลำไส้อาจจะไม่มากแต่ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง
การตรวจวินิจฉัย

ประวัติการเจ็บป่วย

เมื่อท่านไปพบแพทย์ท่านจะต้องเตรียมประวัติของการเจ็บป่วย
  • อาการแน่นท้องเป็นอย่างต่อเนื่องหรือเป็นๆหายๆ หากเป็นอย่างต่อเนื่องต้องตรวจหาสาเหตุ
  • อาการแน่นท้องสัมพันธ์กับการผายลมหรือไม่ หากมีความสัมพันธ์แสดงว่าเรามีก๊าซในท้องมาก
  • ประวัติการรับประทานอาหารที่สัมพันธ์กับอาการแน่นท้อง
การ X-ray

แพทย์อาจจะส่งตรวจ X-ray ท้องหรืออาจจะนัดตรวจ ultrasound ซึ่งขึ้นกับอาการและการตรวจร่างกาย

การป้องกันก๊าซ

ข้อแนะนำสำหรับท่านที่ผายลมบ่อยหรือเรอบ่อย
  1. หลีกเลี่ยงน้ำดื่มที่มีฟองฟู่ เช่นโซดา เบียร์ carbonated beverages ให้ดื่มน้ำมากๆ
  2. หลีกเลี่ยงนม หากท่านขาดเอ็นไซม์ในการย่อยนม
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซ กะหล่ำปี ดอกกำหล่ำ ถัว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ผลไม้เช่น แอปเปิล แพร์
  4. ให้ออกกำลังกาย
  5. ลดการกลืนลมโดยวิธีการต่อไปนี้
    • รับประทานให้ช้า และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
    • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งและลูกอม
    • หยุดสูบบุหรี่
    • ตรวจฟันปลอมว่ามีขนาดพอดีหรือไม่
การใช้ยารักษา

ท่านอาจจะซื้อยาที่มีขายตามร้านขายาแต่อาจจะได้ผลไม่ดีได้แก่ Simethicone, ผงถ่าน, และยาช่วยย่อยอาหาร

กลัวการทำฟัน !!!

เรื่อง: ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี

โรคฟันหรือโรคในช่องปาก เป็นเรื่องที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้ ฟันผุ มีหินปูน ต้องไปพบทันตแพทย์ให้รักษา บางคนทั้งๆ ที่รู้ว่าถึงเวลาต้องรักษาแล้ว แต่พอตั้งใจนัดทันตแพทย์ทีไร พอใกล้วันนัดมักจะเลื่อนนัดทุกที หรือผลัดผ่อนไปก่อน จริงๆ แล้วความรู้สึกลึกๆ ก็คือกลัวการทำฟัน คนที่กลัวการทำฟันมีไม่น้อย หากคุณเป็นอีกคนก็ไม่ต้องอาย พอประมาณได้ว่าสามในสี่ของคนที่มาทำฟันก็มีอาการวิตก หรือหวาดๆ การทำฟัน จะมากน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับมา

มาสู้กับความกลัวกันดีกว่า
ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้จะผลัดผ่อนการพบหมอฟันไปได้ก็ เท่ากับหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ต้องรักษาฟันจนได้ เพราะสถานการณ์บังคับเพราะ คุณจะปวดฟันมากจนทนไม่ไหวนั่นเอง ความปวดมีมากกว่าความกลัว คุณก็ต้องพึ่งพาทันตแพทย์แบบหลีเกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ต้องการให้คนไข้มาพบในสภาพฟันที่เป็นโรคน้อยที่สุด เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ มีวิธีการบางอย่างที่ช่วยคุณได้ ให้มีความรู้สึกผ่อนคลายและมีประสบการณ์ที่ดีต่อการทำฟัน

ที่แน่ๆ ควรบอกความจริงกับทันตแทพย์ว่าคุณกลัวการทำฟัน หรือเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน

ในการทำฟันคุณกลัวอะไร ?
เข็มฉีดยา แล้วเสียวฟัน กลัวเสียงเครื่องกรอฟัน กลัวเครื่องมือรู้สึกสำลักทุกครั้งที่เครื่องมือเข้าปาก บอกเล่าให้หมดให้หมอของคุณทราบ เพื่อหาวิธีการรักษาที่รัดกุมเฉพาะคุณ เพื่อลดความกลัวนั้น และช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายความเครียดลง เพิ่มความมั่นใจในการทำฟันมากขึ้น

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำฟันอย่ารีรอที่จะถามคุณหมอให้อธิบายถึงวิธีการ ระยะเวลาการทำฟันให้ชัดเจน ยิ่งคุณรู้ถึงเหตุผลของการรักษารู้ว่าหมอกำลังจะทำอะไร ความรู้สึกวิตกกังวลของคุณจะลดลง อย่างน้อยก็ช่วยลดความคิด หรือจินตภาพอันน่ากลัวที่วาดมาก่อนจะเข้ามาทำฟันลงได้มากทีเดียว

เตรียมตัวให้ดี นัดวันที่พร้อม…
ก่อนวันนัดทำฟันควรนอนหรือพักผ่อนให้พอ กินอาหารพออิ่ม งดพวก ชา กาแฟ น้ำดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งจะกระตุ้นให้คุณตื่นเต้นมากกว่าปกติ
หากคุณเครียดมาทั้งวันจากการทำงาน แล้วเย็นนั้นมีนัดกับทันตแพทย์ต้องทำฟันแล้วละก็ไม่ค่อยจะเหมาะนัก แต่ควรนัดในเวลาที่ว่างที่สุดไม่ใช่ต้องขับรถลุยจราจรติดขัดเพื่อมาให้ทันเวลา เพราะจะยิ่งทำให้เครียด ทั้งเครียดทั้งกลัว เครียดจากรถติดยังไม่ทันหายก็ต้องกระหือกระหอมมานั่งเก้าอี้ทำฟัน แล้วเวลาทำฟันก็มีจำกัด ทันตแพทย์ก็เครียดด้วยเช่นกัน วันที่ดีที่สุดน่าจะเป็นวันหยุด อาจจะเป็นตอนเช้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ที่คุณปลอดจากภาระกิจใดๆ

อีกวิธีหนึ่งทีดีถ้าคุณกลัวมากๆ ก็น่าจะไปทำความคุ้นเคยกับบรรยากาศของคลินิกฟันเสียก่อน ทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือ กับทันตแพทย์ โดยเริ่มต้นจากการทำฟันที่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่นานนักหรือไม่ต้องอ้าปากนาน เช่น การตรวจฟัน การจัดฟัน ถ้าหากคุณผ่านขั้นตอนนี้ไปด้วยดี แล้วความกลัวจะลดลง ความกล้าจะมากขึ้น ความมั่นใจจะตามมาอีกโขเลย

ขณะทำฟันพยายาม เอาใจไปอยู่ที่อื่นให้ไกลๆ การทำฟัน เช่น อาจสวมหูฟังเพลงบรรเลงสบายๆ เพราะอย่างน้อยที่สุด หูคุณก็ไม่ได้ยินเสียงเครื่องกรอ คิดถึงสิ่งที่ชอบ เช่นทะเล ชายหาด เสียงคลื่นซัด คิดถึงทุ่งกว้างอันเขียวขจี

คลายความเครียดด้วยการควบคุมการหายใจ หายใจเข้าช้าๆ นับ 1-7 พัก หายใจออกช้าๆ การควบคุมการหายใจแบบนี้ จะช่วยให้คุณคลี่คลายได้มากทีเดียว

อันนี้สำคัญมาก "คิดดี" คิดให้เป็นบวกไว้ก่อน เช่น

"เราทำได้"

"หมอฟันทำฟันไม่เจ็บหรอก"

หากเราคิดไปในทางลบตลอด ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่ดีแต่ต้น เช่น ต้องเจ็บแน่ หรือเริ่มไม่ไว้ใจหมอ ความคิดแบบนี้อย่าให้เกิดเลยครับไม่ช่วยอะไรเลย กลับจะทำให้กลัวทำฟันมากขึ้นเปล่าๆ

ลองดูนะครับวิธีที่เล่ามา จะช่วยให้คุณที่กลัวการทำฟันรู้สึกมั่นใจและกล้าที่จะไปพบ ทันตแพทย์มากขึ้น เพื่อดูแลรักษาสุขภาพฟัน และช่องปากให้ดีตลอดไป

ที่มาข้อมูล นิตยสาร Health Today

จัดการกับอาการ Jet Lag

คนที่เคยนั่งเครื่องบินนานๆ แบบข้ามทวีป เปลี่ยนที่ เปลี่ยนเวลา จากกลางวันเป็นกลางคืน คงเคยสัมผัสกับอาการอ่อนเพลีย หมดแรง ที่เราเรียกว่า "เจ็ทแล็ค (Jet Lag)" กันบ้างหรอกนะคะ

อาการหลักๆ ของ Jet Lag ได้แก่ ปวดหัว เหนื่อยล้า หมดแรง เซื่องซึม อารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ ใครทำอะไรนิดก็หงุดหงิด ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้ สมาธิกระเจิง ไม่หิว หรืออยากอาหาร แถมจะนอนพักก็ยังหลับยากอีกต่างหาก

สาเหตุหลักๆ เกิดจากการเปลี่ยนเวลาจนนาฬิกาชีวิตเราตามไม่ทันนั่นเอง เนื่องจากนาฬิกาชีวิตเราจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงตามสิ่งเร้าที่มากระตุ้น เช่น การกิน และการนอน ปฏิกิริยาต่อแสงสว่างและความมืด คนที่เคยนอน 4 ทุ่มตื่น 6 โมงเป็นประจำ นาฬิกาชีวิตก็จะเดินตามนั้น เมื่อเดินทางไปต่างโซนเวลามันจึงรวนไปชั่วขณะ ยิ่งข้ามโลกไปไกลมาก ยิ่งอ่อนเพลียมาก เชื่อว่าการเดินทางข้ามโซนเวลาไปทางทิศตะวันออกจะทำให้ร่างกายต้องพยายามปรับตัวมากขึ้นกว่าไปทางทิศตะวันตก

นับว่ายังดีที่อาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็เล่นเอาหลายคนทรมานไม่น้อย ตรงนี้มีข้อแนะนำบางอย่างเพื่อช่วยลดอาการ Jet Lag ลงได้บ้างค่ะ
  • หาเที่ยวบินที่จะไปถึงที่หมายตอนกลางคืน จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับเวลาใหม่ได้ง่ายขึ้น

  • การขาดน้ำทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์บนเครื่องบิน หันมาจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ หรือดื่มน้ำผลไม้แทน

  • หาเวลาออกไปรับแดดในตอนกลางวันเมื่อถึงที่หมาย เพื่อให้ร่างกายรับรู้เวลาตื่น

  • ใครที่เคยออกกำลังกายเป็นประจำ เช่นวิ่งจ๊อกกิ้ง ก็ควรทำเหมือนเดิม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และทำให้พร้อมพักผ่อนเมื่อถึงเวลาพัก

  • อย่าเผลองีบหลับนานๆ จะทำให้คุณปรับตัวเข้ากับเวลาใหม่ได้ยาก ถ้าง่วงมากก็งีบสั้นๆ พอ

  • คนที่ต้องกินยาตามเวลาอย่างต่อเนื่อง ให้กินยาตามเวลาที่บ้านเดิม แต่หากจำเป็นต้องใช้ชีวิตในสถานที่ใหม่นานๆ ก็ควรค่อยๆ ปรับให้เข้ากับมื้ออาหารใหม่ เริ่มจากปรับให้ยาแต่ละมื้อห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง จนกว่าจะลงตัวกับมื้ออาหารในที่ใหม่ และเมื่อถึงเวลาเดินทางกลับบ้านก็ต้องทำเช่นเดียวกัน จนกว่าจะลงตัว

ที่มาข้อมูล นิตยสาร Health Today

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

โรคคาวาซากิคืออะไร?
เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส, การใช้แชมพูซักพรม, การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก

อาการของโรคคาวาซากิ
จะเริ่มด้วยอาการไข้สูงลอยทั้งวัน ไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ ไข้จะเป็นอยู่นานหลายวันหากไม่รักษา มักไม่มีอาการทางหวัดเช่น อาการไอ หรีอน้ำมูกไหล ไม่มีผลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งวินิฉฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากเกณฑ์วินิจฉัยจาก 4 ใน 5 ข้อ ร่วมกับอาการไข้สูงหลายวัน

เกณฑ์การวินิจฉัย
  • ตาแดงทั้งสองข้าง ไม่มีขี้ตา
  • ลิ้นแดง (เป็นคล้ายสตอร์เบอรื่) , ปากแดง บางครั้งถึงกับแตก เจ็บมาก
  • มือเท้าบวมในช่วงแรก มักไม่ยอมใช้มือเท้าเดินหรีอเล่น เนื่องมาจากเจ็บระบม มีผิวหนังลอกเริ่มที่บริเวณขอบเล็บ และ อาจพบที่รอบก้นและขาหนีบ
  • มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต มักเป็นที่บริเวณคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร
ประมาณ 80 % ของผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี

โรคนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร
อาการดังกล่าวมาข้างต้น 5 ข้อ ไม่มีข้อใดจะมีการทำลายอย่างถาวรต่ออวัยวะนั้น ที่สำคัญทึ่สุดคือการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่ซึ่งเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อมีการอักเสบมากจะเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดนี้ และมีการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หัวใจวายหรือทำงานล้มเหลวเสียชีวิตได้เส้นเลือดทั่วร่างกายอาจมีการอักเสบได้เช่นกัน เกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงท้ายของการดำเนินโรค จะทำให้มีการเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดเพิ่มขึ้น

โรคคาวาซากิจะรักษาอย่างไร ?
เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ควรให้นอนโรงพยาบาลเพื่อการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

วิธีรักษาทำได้โดย
  • ให้แอสไพริน เพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน (Aspirin ขนาดสูง ในช่วงแรก แบ่งให้ทางปาก เมื่อไข้ลงจะลดยาลง)
  • ให้อิมโมโนโกลบูลิน เพื่อลดอุบัติการณ์การการเกิดการโป่งพองและการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่
จะต้องดูแลอย่างไรหลังจากออกจากโรงพยาบาล?

หากมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนาร๊ ( Coronary artery ) มีโอกาสที่เกิดอุดตันและมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ในเด็กเล็กจะบอกเรื่องเจ็บหน้าอกด้านซ้ายไม่ได้แต่จะร้องกวนไม่หยุด ไม่กินนมหรือข้าว ซีด เหงื่อออก หายใจหอบเหนื่อย และชีพจรเต้นเร็วมากขึ้น ให้รีบพามาโรงพยาบาลเป็นการด่วน เพื่อตรวจคลื่นหัวใจ, อัลตราชาวน์หัวใจ ( 2D echocardiogram ) ซ้ำ และให้ยาละลายลิ่มเลือดและขยายหลอดเลือดโคโรนาร๊

หากตรวจไม่พบความผิดปกติของ Coronary artery ตั้งแต่ต้นและได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่ต้น โอกาสเกิดการโป่งพององเส้นเลือดในระยะต่อม จะลดน้อยมาก แต่ต้องมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้กินยาแอสไพรินตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงที่กินยาแอสไพริน หากมีการระบาดของอีสุกอีใส ให้หยุดยาและมาติดต่อสอบถาม หรือมาพบแพทย์

Tuesday, February 26, 2008

ผู้ป่วยเรื้อรังกับการใช้ยา

คำถาม? ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง?... จึงจะได้ผลดีและปลอดภัย

โรคเรื้อรัง...เป็นแล้ว...มักไม่หายขาด

โรคเรื้อรังเป็นโรคที่เมื่อเริ่มเป็นแล้วมักไม่หายขาดจะต้องให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดไป เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นอันตราย รุนแรงได้ ตัวอย่างของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคข้อเข่าเสื่อม โรคไทรอยด์ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคหืดถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีก็อาจเกิดอาการจับหืด หายไม่ออกและตายได้ ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงถ้าไม่ควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ก็จะมีโอกาสทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงที่สมองเกิดอันตรายจนแตกทำให้เกิดเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต พิการ ทรมาน และเสียชีวิตได้เช่นกัน

โรคเรื้อรัง...โรคแห่งการสะสม

เมื่อเป็นโรคเรื้อรังแล้วจึงต้องควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามรุนแรงด้วยการปฏิบัติตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าไม่สนใจเอาใจใส่ดูแลรักษาตนเองให้ดี โรคเรื้อรังที่ตนเองประสบอยู่ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ลุกลามและรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เป็นโรคชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกได้

ตัวอย่างของโรคเรื้อรังที่แสดงอาการให้สังเกตได้เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย ที่จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ไต สายตา ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ไตวาย หรือสายตาฝ้าฟางได้ เป็นต้น เป็นเหมือนการเพิ่มเติมโรคหรือสั่งสมอันตราย ให้แก่ตนเองมากขึ้นๆ จึงเกิดคำว่า โรคแห่งการสะสมทำให้เป็นหลายๆ โรคโดยไม่จำเป็น และสามารถทุเลาหรือป้องกันได้ ถ้ามีการรักษาดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง


กินได้ นอนหลับ...สุขีกับโรคเรื้อรัง

โรคเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย ความเสื่อมของอวัยวะและเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดพยาธิสภาพ และแสดงอาการผิดปกติของโรคออกมาได้

แนวทางการดูแลรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้จะต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพ แวดล้อม ลักษณะการดำเนินชีวิตแบะพฤติกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงอาหาร การออกกำลังและอารมณ์ (ความเครียด) ตลอดจนการพักผ่อนที่เหมาะสมและพอเพียง เหมือนคำโบราณทีได้กล่าวไว้ว่า "กินได้นอนหลับ" ก็นับว่า "สุขี" ซึ่งอาจจะไม่ได้กล่าวถึงการออกกำลังกายไว้ที่นี้ โดยอาจจะละไว้เพราะว่าอดีตการทำมาหากินของคนไทยไม่ว่าจะทำไร่ ทำนา หรือทำสวน เรียกว่าได้ออกกำลังกายเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว บ้านเมืองเราจึงมีแต่ผู้คนที่เอื้ออาทรยิ้มแย้มแจ่มใส จนชาวตะวันตกได้มาพบเห็น จึงขนานนามว่า "สยามเมืองยิ้ม"

ถ้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและ/หรือสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มักจะส่งผลช่วยบรรเทาอาการและความรุนแรงของโรคเรื้อรังได้อย่างดี เช่น

กินได้ ด้วยการกินอาหารในปริมาณและชนิดของอาหารอย่างเหมาะสม

นอนหลับ หมายถึง การรักษาภาวะจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ไม่ขุ่นมัว ไม่กังวล หรือไม่เคร่งเครียด จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสภาวะจิตใจ ตลอดจนการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวันได้

สุขี ด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลต่อร่างกาย ลดความเครียด และช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังได้เป็นอย่างดี

นอกจากเรื่องอาหาร อารมณ์ และการออกกำลังกายแล้ว ยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมอาการของโรคเรื้อรังไม่ให้ลุกลามรุนแรงมากขึ้นๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การใช้ยารักษาโรคเรื้อรัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการหรือควบคุมความรุนแรงของโรคไม่ให้มีอาการมากขึ้นและ/หรือลุกลามจนเกิดอันตรายได้

ดังนั้น เพื่อให้การใช้ยารักษาโรคเรื้อรังมีประสิทธิภาพ อย่างดีที่สุด พร้อมๆ กับเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยานั้นๆ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและถูกต้อง ตามคำสั่งของแพทย์


หลักการใช้ยารักษาโรคเรื้อรังให้ได้ผลดีและปลอดภัย

เพื่อให้การใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ผลดีและปลอดภัย ซึ่งตัวผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่ทำหน้าที่รับยาและเป็นผู้ที่ให้ยาควรปฏิบัติมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
  1. การตรวจรักษาจากแพทย์
  2. การรับยาที่ห้องยา
  3. การใช้ยา
  4. หลังจากใช้ยา
  1. การตรวจรักษาจากแพทย์
    การที่จะใช้ยาให้ได้ผลดีและปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ขั้นการรับการตรวจรักษาจากแพทย์ ซึ่งระหว่างนี้แพทย์จะทำการซักประวัติความเจ็บป่วยพร้อมกับการตรวจร่างกาย และอาจจะมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด เป็นต้น

    เตรียมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยเล่าให้แพทย์ฟัง

    สิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกจากข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยในปัจจุบันที่แพทย์ซักถามค้นหาด้วยตัวแพทย์เองแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถช่วยเหลือแพทย์ได้ด้วยการเตรียมข้อมูลสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของตนเอง ทั้งอดีตและปัจจุบันให้พร้อมและเล่าให้แพทย์ฟัง ซึ่งรวมถึงเรื่องยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ตลอดจนอาการแพ้ยา หรืออาการอันไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียงที่เกิดจากยา เพื่อแพทย์จะไดรับข้อมูลประกอบการเจ็บป่วยอย่างครบถ้วนส่งผลให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และให้การรักษาด้วยยา และวิธีอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม

    แจ้งเรื่องยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ ที่ท่านใช้อยู่ด้วย

    กรณีที่มีการใช้ยาจากโรคอื่นๆ สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยอาจทำเป็นรายการหรือนำตัวอย่างพร้อมบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดไปแสดงให้แพทย์ได้รับรู้ก่อนการวินิจฉัยโรคและให้การรักษา

    บรรดายา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ก็อาจจะไปต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์จะจ่าย ทำให้ผลการรักษาที่ได้น้อยลง

    ขอให้แพทย์อธิบายเรื่องยาและการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อย่างละเอียด

    เมื่อแพทย์ให้การรักษา รวมถึงการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วย โดยทั่วไปแพทย์จะบันทึกไว้ในใบสั่งยา ระบุชนิด จำนวน และวิธีใช้ยา

    ผู้ป่วยควรได้รับการอธิบายจากแพทย์ว่า มียาชนิดใดบ้างที่แพทย์สั่งจ่ายให้ ด้วยวัตถุประสงค์ใด มีวิธีการใช้อย่างไร และอาจจะเกิดผลต่อผู้ป่วยที่กินยาอย่างใดบ้าง คือทั้งผลดีและผลเสียของยาทั้งหมด

  2. การรับยาที่ห้องยา
    เมื่อได้รับยาจากห้องยาแล้วผู้ป่วยจะต้องตรวจเช็กยาทั้งหมดที่ตนได้รับ ดังนี้

    "ถูกคน" หรือไม่ ด้วยการตรวจชื่อผู้ป่วยที่ปรากฏอยู่บนฉลากยาว่า ถูกต้องหรือไม่ เป็นของผู้ป่วยหรือไม่

    "ถูกชนิด" หรือไม่ ตรวจชนิดของยา ชื่อยาข้อบ่งใช้ และจำนวนยาที่ได้รับว่า ถูกต้องตรงกับอาการความเจ็บป่วยของผู้ป่วยหรือไม่ และเป็นไปตามคำอธิบายของแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง และคำนวณดูว่าจำนวนเพียงพอถึงการนัดพบแพทย์ในครั้งต่อไปหรือไม่

    "ถูกวิธีใช้" หรือไม่ อ่านและทำความเข้าใจวิธีการให้ยาอย่างชัดเจน ถ้ามียาใดที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยวิธีใช้ยาจะต้องปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยาจนเข้าใจก่อนกลับบ้าน

    มี "ยาใหม่" หรือไม่ กรณีที่พบยาใหม่ ต้องตรวจเช็กว่าเป็นยาใหม่ตามคำอธิบายของแพทย์หรือไม่ ถ้าได้รับยาใหม่โดยที่แพทย์ไม่เคยอธิบายยาให้ฟัง จะต้องปรึกษาเภสัชกรทันที เพราะอาจผิดพลาดและเกิดอันตรายได้

    มี "ยาที่มีรูปแบบพิเศษ" หรือไม่? ถ้าได้รับยามีรูปลักษณ์แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย จะต้องปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยา เพื่อขอคำแนะนำวิธีการใช้ยาและฝึกฝนให้ถูกต้อง

    "ผลข้างเคียงของยา" จะต้องสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยและอันตราย จะได้สังเกตหลังการใช้ยา และติดตามอาการเหล่านี้ เพื่อปฏิบัติตัวหรือหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวให้รบกวนการใช้ยาน้อยที่สุด หรือแจ้งต่อแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาถ้าผลเสียนั้นเป็นอันตรายมาก

    ขั้นตอนการรับยาจากห้องยาเป็นตอนที่สำคัญที่สุด ดังนั้น จะต้องตรวจเช็กยาทีได้รับว่า ถูกคน ถูกยา ถูกวิธีใช้ มียาใหม่หรือไม่? ตลอดจนมีวิธีการใช้พิเศษหรือไม่? ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง หากสงสัยหรือไม่เข้าใจ จะต้องถามเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดีมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อาการใช้ยา

    นอกจากนี้ จะต้องถามเภสัชกรถึงระยะเวลาการใช้ยา

    ระยะเวลาที่เหมาะสมการใช้ยา

    ระยะเวลาของการใช้ยาแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ

    • การใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยาที่ใช้ควบคุมอาการหรือความรุนแรงของโรคเรื้อรัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยาออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และสามารถควบคุมอาการและความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้อยู่ตลอดเวลา

      เพื่อไม่ให้ระดับความรุนแรงของโรคลุกลามมากขึ้น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงเป็นการใช้ยาเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคเรื้อรัง จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาด้วยตัวเองหรือหยุดยาเมื่ออาการทุเลาลงแล้ว หรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม (ยกเว้นกรณีที่มีอาการอันไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง จะต้องปรึกษาแพทย์ทันที)

    • การใช้ยาเมื่อมีอาการเท่านั้น ตัวอย่างเช่นยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาระบาย ฯลฯ ยาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคเรื้อรังจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เมื่อใดที่อาการดีขึ้นแล้ว ก็หยุดยาได้ เมื่อใดที่เริ่มมีอาการอีกจึงจะต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น

    • การใช้ยาติดต่อกันจนหมด ยาเหล่านี้มักจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค ใช้รักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ฯลฯ ซึ่งควรใช้ติดต่อกันจนหมดตามจำนวนที่แพทย์สั่ง เมื่อครบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ต่อไปอีก เพราะยาเหล่านี้จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค เมื่อเชื้อหมดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก

  3. การใช้ยา

    เมื่อกลับไปบ้านและจะต้องเริ่มใช้ยา จะต้องอ่านฉลากและวิธีใช้ทุกครั้ง ว่าใช้ครั้งละเท่าใด วันละกี่ครั้ง เวลาใด และใช้ให้ถูกต้อง ตรงตามคำสั่งแพทย์ หรือเภสัชกร และสังเกตลักษณะยาว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ ก่อนการใช้ยา

  4. หลังจากใช้ยา

    ขั้นตอนหลังจากใช้ยา ผู้ป่วยจะต้องติดตามผลการรักษาและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ยา ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายยาในทันที เพื่อแจ้งให้ผู้จ่ายทราบและให้คำปรึกษาเพื่อการดูแลอาการผิดปกตินั้น

    จะเห็นได้ว่าโรคเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดควรดูแลรักษาตามแพทย์แนะนำ เพราะถ้าไม่ดูแลตนเองให้ดี อาจทำให้โรคลุกลามเป็นหนักยิ่งขึ้น และเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้เป็นโรคอื่นเพิ่มเติม เกิด "โรคแห่งการสะสม"

    หากมีข้อสงสัยในเรื่องยาและสุขภาพ อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดี และปลอดภัยจากการใช้ยา.
ที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน (update 12 ธันวาคม 2007)

จัดยาพาเที่ยว

ไปไหนกันในวันสุดสัปดาห์
แต่อย่าลืม...จัดยาที่จำเป็นของลูกไปด้วยก็แล้วกัน


ขณะที่ทุกคนในครอบครัวกำลังตื่นเต้นกับการได้ไปเที่ยวพักผ่อน และกำลังง่วนกับการจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่าลืมเตรียม "ยา" ไปด้วยทุกครั้ง คุณไม่อาจคาดเดาได้ว่าสมาชิกใดในครอบครัวจะไม่สบายขึ้นมา ระหว่างการท่องเที่ยวครั้งนี้

ยาที่จำเป็นสำหรับการเดินทาง มีดังนี้
  • ยาลดไข้ พาราเซตามอล
  • ยาลดน้ำมูก คลอเฟนนิรามีน หรือ แอ็คติเฟค
  • ยาป้องกันอาการเมารถ ดรามามีน
  • ซองน้ำเกลือแห้ง องค์การเภสัชกรรม
  • ยาแก้ท้องเสีย คาโอลิน เปคติน
  • ยาแก้อักเสบสำหรับท้องเสีย แบคทริม หรือเล็กซินอร์
การมียาเหล่านี้จะช่วยคุณได้มากให้ลูกทานทันทีเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ในขณะที่คุณกำลังขับตระเวนหาหมอที่ใกล้ที่สุด จะช่วยทุเลาอาการเจ็บป่วยได้มาก

ยาลดไข้สำหรับลูกควรใช้ชนิดที่มีตัวยาพาราเซตามอลเพราะจะปลอดภัยและให้ผลข้างเคียง น้อยกว่ายาลดไข้ชนิดอื่น ยาลดไข้ชนิดอื่นได้แก่ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากยาลดไข้ชนิดอื่นที่พบได้บ่อยคือ
ตับวายฉับพลัน
เลือดออกในกระเพาะอาหาร
ทำให้เกิดโรครายซินโดรม

อย่าให้ลูกทานยาลดไข้ถี่เกินไป เช่น ทุก 2-4 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ทานยาแต่ละครั้งควรห่างกันราว 6 ชั่วโมง และไม่ควรให้ทานยาเกินขนาด

โดย ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ

สตีรอยด์ ยาชุด ยาลูกกลอน = มะเร็ง

มะเร็งหมายถึงมหันตภัยที่ค่อยๆ คุกคามชีวิตแล้วละก็ ยาสตีรอยด์ที่มีอยู่ในยาชุด / ยาลูกกลอน ก็เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่คุณเปิดประตูต้อนรับเข้าสู่ร่างกายของคุณเอง

มากกว่าครึ่งของยาชุด/ยาลูกกลอน ที่จำหน่ายในท้องตลาด ล้วนมีส่วนผสมของสตีรอยด์ทั้งสิ้น และแน่นอนในระยะเริ่มแรกมันเปรียบเสมือนมิตรที่แสนดี ทำให้คนไม่คิดระแวง ไม่คิดระวัง และติดใจกับบริการของสตีรอยด์ที่แฝงตัวอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอนเหล่านั้น

สำหรับอิทธิฤทธิ์ของสตีรอยด์ที่ทำให้หลายคนติดใจส่วนหนึ่งเป็นเพราะกินเข้าไปแล้วได้ผลทนตาเห็น อาทิ คนที่กำลังผจญภัยกับอาการปวดอย่างแสนสาหัส พอกินปุ๊บก็หายปวดปั๊บ และที่สำคัญยาเหล่านี้มีราคาถูก หาซื้อกินเองได้ง่าย

ยาชุดที่มีสตีรอยด์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจนขนาดนี้ ทำไมจึงหาว่า มันมีลักษณะคล้ายมะเร็งอีกล่ะ ?

"สิ่งใดมีคุณอนันต์ ย่อมมีโทษมหันต์" ซึ่งเป็นคำพูดที่สามารถอธิบายถึงอิทธิฤทธิ์ของสตีรอยด์ในยาชุด ยาลูกกลอน เป็นอย่างดีทีเดียว

อย่างที่บอกในตอนต้นแล้วว่า ระยะเริ่มแรกของการใช้ยานี้จะทำให้คุณรู้สึกดีและมีความสุขในการดำรงชีวิต แต่เมื่อคืนวันผ่านไป คุณจะได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงว่าเป็น "เทวดาหรือพญามาร" ซึ่ง ณ เวลานั้นก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะกลับตัวกลับใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคุณคือ ไตพิการ กระดูกผุ หน้าบวมเป็นดวงจันทร์ (moon face) อ้วน บวมน้ำ ความดันเลือดสูง กล้ามเนื้อไม่มี เป็นต้น

การแพร่ระบาดของการใช้สตีรอยด์อย่างผิดๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วเกิดจากอะไรกันแน่นั้น คงต้องขออธิบายลึกลงไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม ความเชื่อและทัศนคติในการใช้ยา
  1. เชื่อว่าการซื้อยากินเองช่วยบรรเทาอาการได้ และจะแนะนำยาที่ใช้แล้วได้ผลดีให้แก่ผู้ใกล้ชิดที่มีอาการเดียวกัน ซึ่งเป็นที่มาของทัศนคติที่ว่า "การซื้อยากินเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่น่าจะเป็นอันตราย"

  2. การเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยจะปรึกษาและเชื่อคำแนะนำของคนในครอบครัว นั่นคือสมาชิกในครอบครัวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการใช้ยาและการรักษา

  3. ซื้อยาที่ต้องการได้ง่าย และพยายามซื้อยาที่ต้องการแม้ว่าจะหาได้ยากหรือถูกห้ามขายก็ตาม และยิ่งถ้ายานั้นทำให้อาการดีขึ้นก็จะซื้อกินเองซ้ำอีกเรื่อยๆ
ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 3 ข้อนี้เข้าด้วยกันแล้วจะทำให้พอสรุปได้ว่า ผู้ป่วยจะมีความพยายามรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยตนเองก่อน หรือพูดง่ายๆ ก็คือต้องไม่ไหวแล้วจริงๆ ถึงจะยอมไปพบแพทย์

จุดนี้เองที่ทำให้เกิดการใช้สตีรอยด์อย่างผิดๆ อย่างแพร่หลายจนกลายมาเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญ

ยาสตีรอยด์ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าโรคหายและไม่ยอมไปพบแพทย์ แต่สุดท้ายกว่าผู้ป่วยจะยอมไปพบแพทย์อาการก็แสนสาหัสเสียแล้ว พอถึงตรงนี้ ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลก็จะแพงกว่าการรักษาแต่เนิ่นๆ (หมายถึงช่วงที่อาการ/โรคยังไม่รุนแรง หรือในระยะเริ่มแรกของการเป็นโรค)

ถึงตรงนี้ผู้อ่านสงสัยอีกใช่ไหมว่า แล้วยาอันตรายอย่างนี้ ทำไมถึงยอมให้มีการทำออกมาขายควรจะเลิกผลิตได้แล้ว

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อ.ย.ได้กำหนดให้สารสตีรอยด์จัดเป็น "ยาควบคุมพิเศษ" หมายถึงเป็นยาที่ต้องควบคุมดูแลและจับตามองเป็นพิเศษ มีบทบัญญัติและบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนเกิดขึ้น แต่เนื่องด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายนั้น มีข้อจำกัดทางด้านกำลังคน

ดังนั้น การพึ่งตนเองก่อนปลอดภัยที่สุด นั่นคือปฏิเสธยาที่ผสมสตีรอยด์

ถามคนขายไปตรงๆ เลยว่า "ในยาชุดนี้มีสตีรอยด์อยู่ด้วยหรือเปล่า" เพื่อความมั่นใจว่าคุณจะปลอดภัยจากสตีรอยด์ ควรดูว่า "เป็นยาที่ได้รับทะเบียนยาจาก อ.ย. ถูกต้องหรือเปล่า" โดยการสังเกตฉลากที่ปิดผนึกบนภาชนะบรรจุ ว่าจะต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งถ้าเป็นยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ เลขทะเบียนจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G แต่ถ้าเป็นยาแผนโบราณที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เลขทะเบียนจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร K ต่อมาจะเป็นเลขแสดงลำดับการอนุญาตและปี พ.ศ. ที่อนุญาต เช่น

G20/42 หมายถึง ยาตำรับนี้เป็นยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนลำดับที่ 20 ในปี พ.ศ.2542 เป็นต้น

เห็นไหมว่า การปฏิเสธมหันตภัยสตีรอยด์นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่คุณไม่เคลิบเคลิ้มและหลงใหลไปกับอิทธิฤทธิ์ของสตีรอยด์เท่านั้นเอง ชีวิตคุณก็จะมีความปลอดภัย และมีความสุขอยู่กับคนที่คุณรักได้อีกนาน

ในวงการแพทย์และวงการยาที่มีการใช้สตีรอยด์อย่างถูกวิธี ตามหลักวิชาการและอย่างรู้เท่าทัน จะพบว่าสตีรอยด์ยังเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากสตีรอยด์อยู่อีก อาทิ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคภูมิต้านตัวเอง โรคเลือด โรคไต เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาสตีรอยด์ในการรักษาโรคดังกล่าวนั้น ต้องมีการกำหนดขนาดยา ปริมาณการใช้ และระยะเวลาที่ใช้ยาตามแบบแผนการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้น หากต้องเลิกผลิตจริงๆ จะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับความลำบากอย่างยิ่งและเสียโอกาสทางการรักษาไป

การใช้สตีรอยด์อย่างถูกต้อง ถูกวิธี ถูกโรค จริงๆ จะนำมาซึ่งประโยชน์ ในขณะที่หากนำสตีรอยด์ไปใช้ตามอำเภอใจ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในอิทธิฤทธิ์ของสตีรอยด์อย่างถ่องแท้แล้วละก็มันก็คงไม่แตกต่างอะไรกับการเปิดประตูต้อนรับมหันตภัยเข้าสู่ร่างกายของตัวคุณเอง

ที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน (update 23 มีนาคม 2006)