Wednesday, December 31, 2008

สัญญาณเตือนเมื่อโภชนาการชำรุด

สัญญาณ 10 ประการที่ร่างกายคุณฟ้องว่าคุณทานอาหารไม่เหมาะสม ร่างกายของคุณเกิดมีปฏิกิริยาตอบกลับมาเป็นผดผื่น คัน ผิวหนังลอกเป็นขุยแล้วล่ะก็ แสดงว่าคุณกำลังทานอาหารไม่ถูกต้องอยู่นะคะ วันนี้เราจึงนำ สัญญาณ 10 ประการที่ร่างกายคุณฟ้องว่าคุณทานอาหารไม่เหมาะสมมาฝากกัน
  1. ผิวหนังมีปัญหา เช่น มีอาการคัน หรือลอกเป็นขุย แม้จะไม่ใช่ช่วงหน้าหนาว อาการเช่นนี้อาจเป็นลักษณะของการ ขาดวิตามิน A ผักและผลไม้ ที่มีสีเหลือง สีส้ม หรือสีเขียวเข้ม ล้วนแต่อุดมไปด้วยวิตามิน A เพียงพอที่จะทำให้ผิวคุณเป็นปกติ ไม่ควรทานวิตามิน A เสริมที่อยู่ในรูปแบบเม็ด เพราะการได้รับโดยตรงเช่นนี้มากเกินไปจะเป็นอันตรายได้

  2. ผมไม่เงางาม ในกรณีที่รุนแรง ผมของคุณจะไม่สามารถจัดทรงได้เลย เป็นผลมาจากการ ขาดโปรตีนและธาตุเหล็ก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นมังสวิรัติ หรือคนที่จำกัดอาหารอย่างมาก ดังนั้นคุณจึงควรที่จะทานอาหารที่มีกากใยควบคู่ไปกับการ ออกกำลังกาย ส่วนคนที่เป็นมังสวิรัติ ต้องได้สารอาหารจาก พืชผัก ข้าว และ ถั่ว ในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้โปรตีนทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ขาดไป และเพิ่มเติมด้วยกะหล่ำดอก และผลไม้เปลือกแข็ง เช่น เกาลัด ถั่วแขก และถั่วเหลือง ซึ่งอุดมไปด้วยไบโอติน

  3. ท้องผูก เป็น อาการที่กำลังบอกคุณว่า คุณต้องได้สารอาหารพวก ไฟเบอร์ หรืออาหารที่มีกากใย เช่น ผักผลไม้ต่าง ๆ อย่างน้อยวันละ 25 กรัม และดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย

  4. ผายลมบ่อย (ตด...เหม็น) แม้ว่าไฟเบอร์จะมีประโยชน์ แต่ถ้ากินมากเกินไป หรือได้รับสารอาหารประเภทนี้เร็วเกินไป เช่น กินถั่ว หรือไม้จำพวกที่มีฝัก เช่น กระถิน ทองหลาง ร่างกายของคุณจะผลิตแก๊สตามออกมามากกว่าอาหารที่ย่อยง่ายตามปกติ วิธีแก้ปัญหาคือค่อย ๆ เพิ่มสารอาหารพวกไฟเบอร์อย่างช้า ๆ ถ้าคุณเคยกินแค่เพียงวันละ 10 กรัม อย่าผลีผลามเพิ่มเป็น 25 กรัมในวันรุ่งขึ้น ในสัปดาห์แรกเพิ่มแค่เพียง 5 กรัม แล้วสัปดาห์ต่อมาค่อยเพิ่มอีก 5 กรัม

  5. ข้อต่อมีเสียงดังหรือปวดบริเวณข้อต่อ อย่า เพิ่งไปโทษโรคข้ออักเสบ อาจเป็นไปได้ว่าคุณ กิน ปลาน้อยเกินไป กรดไขมันประเภทโอเมก้า -3 ที่พบมากในปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า จะทำให้ข้อต่อของคุณเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กระแสโลหิตไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการบวมและปวดบริเวณข้อต่อ

  6. สเปิร์มน้อยลงไปมาก ถ้าคุณกำลังพยายามที่จะมีลูก และมีปัญหาระดับของสเปิร์มต่ำกว่าปกติ อาจเป็นไปได้ว่าคุณ ขาดวิตามิน C ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการกระตุ้นการทำงานระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจากการศึกษาพบว่า วิตามิน C ยังช่วยในการรักษาปริมาณและความสมบูรณ์ของตัวสเปิร์มด้วย Earl Dawson, Ph.D., ที่ University of Texas Medical Branch ที่ Galveston แนะนำว่าให้ ผู้ชายดื่มน้ำส้มอย่างน้อยวันละประมาณ 1 ลิตรทุกวัน โดยบอกว่าวิตามิน C มีส่วนช่วยป้องกันสเปิร์มจากอันตรายและความเสียหายในทุกๆ ด้าน

  7. หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจของคนเราเป็นกล้ามเนื้อที่มีการบีบตัวมากกว่า 100,000 ครั้งต่อวัน คงไม่สามารถทำงานอย่างสมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลา แต่ถ้าอยู่ ๆ คุณรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วกว่าปก ติ หรือเต้น ๆ หยุด ๆ โดยไม่มีเหตุผล ถ้ามีอาการเจ็บปวด หรือหน้ามืด เวียนศีรษะด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที แต่ถ้าแพทย์พบว่าไม่มีอะไรผิดปกติ แต่หัวใจคุณก็ยังมีอาการเต้นผิดปกติในบางครั้ง คุณอาจจะ ขาดสารอาหารพวกแม็กนีเซียมหรือโปแตสเซียม สำหรับโปแตสเซียม ให้ดื่มน้ำส้มวันละ 2-3 แก้ว ช่วงอาหารเช้าให้เพิ่มกล้วยเข้าไปในส่วนหนึ่งของเมนู สำหรับแม็กนีเซียม ให้ทานอาหารว่างที่เป็นพวกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน หรือเมล็ดฟักทอง และผักโขม เป็นอีกตัวหนึ่งที่มีแร่ธาตุช่วยในการทำงานของหัวใจ

  8. ปวดเหงือก ถ้าการเจ็บปวดเกิดจากการอักเสบ ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและปัญหาของเหงือก แสดงว่าปากของ คุณกำลังต้องการ แบคทีเรียที่มีประโยชน์ ให้มาช่วยจัดการกับแบคทีเรียในปากที่มีอันตราย ให้กินโยเกิร์ตที่มีแบคทีเรียที่เราต้องการเป็นอาหารว่างในช่วงเช้าของทุกวัน

  9. กระดูกแตก ถ้ากระดูกคุณแตกมากกว่า 2-3 ครั้งตั้งแต่โตเป็นผู้ใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่ากระดูกของคุณอยู่ในภาวะอ่อนแอ อาจมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามิน D และแคลเซียม ซึ่งเป็นตัวประกอบที่สำคัญในการสร้างกระดูก ผู้ชายก็ต้องการแคลเซียมมากเหมือน ๆ ผู้หญิง เพราะผู้ชายมักจะกินเนื้อมากกว่า ซึ่งอุดมไปด้วยฟอสฟอรัส ยิ่งร่างกายได้รับฟอสฟอรัสมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องการแคลเซียมมากขึ้นเท่านั้น อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง โยเกิร์ต นมและเนยแข็ง (ไขมันต่ำได้ก็ดี)

  10. ขี้ลืม อาจเป็นได้ว่าคุณขาดวิตามิน B ในการศึกษาที่ USDA Human Nutrition Research Center in Boston นักวิจัยพบว่าผู้ชายที่มีระดับของวิตามิน B 6 B 12 และ B folate สูงในเลือด จะมีความทรงจำที่ดีกว่าจากการทดสอบพบว่าสารอาหารพวกนี้ช่วยให้สมองทำงานได้เต็มที่ และยังช่วยควบคุม homocysteine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการที่เลือดจะไปหล่อเลี้ยงสมอง ถั่วเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน B 6 และโฟเลต มากที่สุด และไม่ต้องกังวลกับการขาดวิตามิน B 12 เพราะมีมากในเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
ที่มา FW Mail




Friday, October 31, 2008

ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องอดทนต่อเรื่องจุกจิกไม่น้อย เพราะร่างกายถูกออกแบบมาให้ต้องดูแลเอาใส่ใจเป็นพิเศษ และธรรมชาติยังมอบหมายให้รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ นั่นคือการเป็นแม่ ดังนั้นนับว่าไม่ว่าสถานการณ์ใดผู้หญิงสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดต่างๆ นานาได้เป็นอย่างดี ยกเว้นโรคภัยซึ่งไม่มีใครอยากอ้าแขนรับ ยิ่งเป็นโรคที่มาบั่นทอนความสวยงามและความเป็นหญิงแล้ว ยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในหลายโรคร้ายที่ผู้หญิงหวาดกลัว เพราะส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วจำเป็นต้องโบกมือลาส่วนนูนโค้งบนหน้าอก แถมยังทรมานจากการรักษาอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงควรตื่นตัว และระวังมากยิ่งขึ้น เพราะผลวิจัยพบว่า 1 คน ใน 20 คน ของผู้หญิงทั่วโลกมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ฟังแล้วน่าตกใจทีเดียว เพราะไม่นึกว่ามะเร็งเต้านมจะคุกคามใกล้ตัวผู้หญิงถึงเพียงนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งเต้านมและใครที่มีโอกาสเสี่ยงบ้าง?

คำตอบแรกอาจจะอธิบายเป็นความเจ็บปวดได้ยาก เนื่องจากมะเร็งเต้านมมักไม่แสดงอาการเจ็บปวดในระยะแรกจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเผชิญกับโรคร้าย อย่างไรก็ตามมีวิธีสังเกตอาการผิดปกติคร่าวๆ ดังนี้
  • คลำปุ่มก้อนได้บริเวณเต้านม หรือใต้วงแขน
  • มีสะเก็ด รอยย่น และสีผิวของเต้านมเริ่มเปลี่ยน
  • หัวนมตกสะเก็ด และมีของเหลวไหลออกมาทางหัวนม
หากรู้สึกถึงความผิดปกติเหล่านี้เมื่อไหร่ อย่านิ่งนอนใจ รีบไปพบหมอทันที แต่ก็ไม่ควรกังวลมากจนมานั่งจับผิดร่างกายตนเองตลอดเวลา จะเครียดโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงสามารถเปลี่ยนแปลงตลอดอายุขัย และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองผู้หญิงจึงต้องอาศัยความคุ้นเคย สังเกตร่างกายตนเองเป็นสำคัญ

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ยิ่งโรคร้ายอย่างมะเร็งเต้านม ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่เราก็ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเป็นโรคนี้หรือไม่ ไม่สามารถให้หมอดูที่ไหนดูลายมือแล้วบอกได้ว่าจะเป็นเมื่อไร แต่อย่างน้อยการแพทย์ในปัจจุบันสามารถเตือนและคาดเดาว่าใครมีสิทธิ์ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่า โดยกลุ่มวัยที่เสี่ยงมากสุดจะอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตข้อมูลจาก...
  • ประวัติสมาชิกของครอบครัวที่เป็นโรค จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าหากแม่เป็นมะเร็งเต้านม ลูกมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งประมาณ 1.8 เท่า และหากมีทั้งแม่และพี่หรือน้องเป็น ก็มีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า
  • เวลาเริ่มและหมดของประจำเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนมาก่อนอายุ 12 ปี และหมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นมากกว่าคนอื่นๆ
  • สถานภาพและการคลอดบุตร ผู้ที่เป็นโสด หรือคลอดบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
  • ผู้ที่รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ทั้งช่วงเข้าสู่วัยทอง หรือผู้ที่ต้องตัดมดลูกรังไข่ออก ได้รับฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อผ่านอายุ 50 ปี ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเป็นมากขึ้น เรียกว่ายิ่งอายุมากเท่าไหร่ โอกาสเกิดโรคก็มีมากเท่านั้น
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากคุณยิ่งดื่มมากเท่าไร โอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนให้สูงขึ้น ซึ่งหากมีมากจะทำให้เกิดมะเร็งเต้า นม ผลวิจัยกล่าวว่าหากคุณดื่ม 3- 9 แก้วต่อสัปดาห์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคประมาณ 30% หากดื่มมากกว่า 9 แก้ว ต่อสัปดาห์โอกาสของโรคจะเพิ่มเป็น 60%
  • ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ โรคอ้วน และผู้ที่เคยมีประวัติเป็นเนื้องอกบริเวณเต้านม
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เคยมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าตนเองไม่มีสิทธิ์เป็น เพราะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 70% ไม่เคยมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อนเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าโรคมะเร็งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวเราจริงๆ แต่คนส่วนใหญ่มักละเลย บอกตัวเองเสมอว่า "ฉันไม่มีทางเป็นหรอก ดูสิ คนอื่นเสี่ยงกว่ายังไม่เป็นอะไรเลย..." อันที่จริงโรคภัยไข้เจ็บไม่เข้าใครออกใคร หากเราไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลร่างกาย โอกาสเป็นก็ยิ่งมีมากขึ้น เรียกว่าเป็นวิธีลดความเสี่ยงลงบ้าง ยังดีกว่าไม่ป้องกันอะไรเลย ส่วนวิธีรับมือป้องกันโรคร้ายนี้มีดังนี้
  • หมั่นตรวจเช็คสุขภาพทุกปี เดี๋ยวนี้ตามโรงพยาบาลทั่วไปมีโปรแกรมการตรวจสุขภาพให้เลือกหลากหลาย เพิ่มความสะดวกสบายในการตรวจเช็คร่างกายอย่างมาก ที่สำคัญอย่าลืมเลือกโปรแกรมที่มีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วย
  • ตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย ผู้หญิงต้องคลำและตรวจเต้านมตนเองสม่ำเสมอ อาจทำในขณะอาบน้ำ ฟอกสบู่ ใช้นิ้วคลำรอบๆ เต้านม หากคลำเจอสิ่งผิดปกติ ให้รีบปรึกษาหมอโดยด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของมะเร็งทั้งหลายเกี่ยวข้องกับการกินทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มีอาหารใดที่จะรักษามะเร็งได้อย่างน่าอัศจรรย์ แบบกินปุ๊บหายปั๊บ อย่างน้อยการกินอาหารที่มีประโยชน์จะทำให้เราไม่เป็นโรคอ้วน และหากออกกำลังกายควบคู่ไปแล้ว โอกาสที่โรคถามไถ่ก็ลดลง เริ่มจาก
    1. การกินอาหารที่มีไขมันไม่เกิน 20% ของพลังงานทั้งหมด
    2. กินอาหารที่มีเส้นใยให้ได้วันละ 25 กรัม
    3. กินผักและผลไม้ให้ได้วันละ 5-9 ส่วน
    4. กินผลไม้ที่มีวิตามินเอ ซี และอี
    5. งดอาหารที่มีเกลือมาก มีส่วนผสมของไนเตรท หรืออาหารรมควัน เช่น ฮ็อตดอก แฮม เบคอน
อยากให้หญิงไทยหันมาตื่นตัวเรื่องโรคร้ายที่อยู่ใกล้ตัวอย่างมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น เพราะหลายคนมักคิดปลอบใจตัวเองอยู่เสมอว่าตนเองสุขภาพแข็งแรง แต่ทว่าโรคมะเร็งนั้นยากจะคาดเดา ทางที่ดีควรระมัดระวังอยู่เสมอ ทั้งการใช้ชีวิต อาหารการกิน การตรวจสุขภาพ พฤติกรรมเหล่านี้ช่วยลดอัตราการเป็นมะเร็งได้อย่างดีทีเดียว ยอมเสียเวลาสักนิด เสียเงินตรวจรักษาสุขภาพสักหน่อย ดีกว่านั่งทรมานภายหลังค่ะ

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today

Sunday, October 5, 2008

สังกะสี … ธาตุอาหารปริมาณน้อยที่ขาดไม่ได้

สังกะสี …ธาตุอาหารปริมาณน้อยที่ขาดไม่ได้
เรื่อง : ดร.อรอนงค์ กังสดาลอำไพ


ผู้ใหญ่บางคนจะหลอกให้เด็กกินอาหารหลากหลายโดยบอกว่าจะได้วิตามิน A ถึง Z ทั้งๆ ที่ไม่มีวิตามิน Z แต่จะมีแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นต้นด้วยตัว Z คือ สังกะสี (Zinc) สังกะสีได้รับการยอมรับว่าเป็นสารอาหารที่จำเป็นในสัตว์ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 และในช่วงต้นทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503) พบภาวะการขาดสังกะสีในวัยรุ่นชาวอียิปต์และอิหร่าน วัยรุ่นเหล่านี้จะตัวเตี้ย แคระ การเจริญพันธุ์ทางเพศช้า ซึ่งเกิดจากการได้รับอาหารที่มีสังกะสีค่อนข้างต่ำ แต่มีใยอาหารและไฟเตท (เป็นสารที่พบมากในผัก และธัญพืชทั้งเมล็ด) สูง ซึ่งใยอาหารและไฟเตทนี้จะลดการดูดซึมสังกะสีเข้าสู่ร่างกาย

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่คนเราต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย ในร่างกายมีสังกะสีประมาณ 1-2.5 กรัม ซึ่งจะพบได้มากในกระดูก ฟัน เส้นผม ผิวหนัง ตับ กล้ามเนื้อ และอัณฑะ สังกะสีเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างโปรตีน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเจริญของระบบสืบพันธุ์ การมองเห็น การหายของบาดแผล และป้องกันเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ

สังกะสีทำงานร่วมกับเอนไซม์ในการสร้างโปรตีน การย่อยอาหาร การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน จึงมีความสำคัญในกระบวนการเจริญเติบโตและการพัฒนาการในเด็ก การขาดสังกะสีทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก การเจริญพันธุ์ทางเพศช้า ซึ่งจะเห็นได้ชัดในเด็กผู้ชาย เช่น การมีหนวดเครา เสียงแตก เป็นต้น

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการเปลี่ยนวิตามินเอ (ซึ่งอยู่ในรงควัตถุที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น) ให้อยู่ในรูปที่ทำงานได้ การขาดสังกะสีจะทำให้มีอาการตาฟางหรือตาบอดกลางคืนเหมือนกับการขาดวิตามินเอ นอกจากนี้สังกะสียังจำเป็นสำหรับการหายของบาดแผล การรับรส และการสร้างสเปิร์ม

ในต้นทศวรรษ 1970 พบการขาดสังกะสีในสหรัฐอเมริกาในผู้ที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดเท่านั้น เนื่องจากอาหารที่ให้มีสังกะสีน้อยมาก ปัจจุบันอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดจะเติมสังกะสีเพื่อป้องกันภาวะการขาดสังกะสี

โดยปกติคนเราจะได้รับสังกะสีจากอาหาร ซึ่งจะพบได้มากในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ในหอยนางรม เนื้อ ตับ ไข่ นม ไก่ และปลา เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมากจะมีสังกะสีน้อย เนื่องจากในส่วนไขมันจะมีสังกะสีน้อย เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงจะมีสังกะสีสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มีสีขาว ธัญญาหารเป็นแหล่งสังกะสีเช่นกัน ปริมาณสังกะสีในธัญญาหารขึ้นกับการขัดสี สังกะสีจะมีมากบริเวณเปลือกนอกของเมล็ด ดังนั้นเมล็ดพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวซ้อมมือจะมีสังกะสีมากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว แต่ในพืชจะมีสารไฟเตทซึ่งจะยับยั้งการดูดซึมสังกะสีในลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับสังกะสีจากอาหารเหล่านี้น้อยลง สังกะสีเมื่อถูกดูดซึมแล้วจะรวมกับโปรตีนอัลบูมินเพื่อขนส่งไปในกระแสเลือดไปยังตับและเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยไม่มีการเก็บสะสมไว้เฉพาะในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง

ภาวะการขาดสังกะสีอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสังกะสีน้อย แต่ส่วนใหญ่มักพบร่วมกับการท้องเสียเรื้อรัง เป็นโรคที่ทำให้การดูดซึมน้อยลง ได้รับอาหารที่มีสารไฟเตทสูง หรือร่างกายมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ในทารกและสตรีตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่ได้รับอาหารจำกัดก็เสี่ยงต่อการขาดสังกะสีได้ เช่น คนที่ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักตัว คนเหล่านี้จะได้รับสังกะสีจากอาหารน้อยลง ขณะเดียวกันจะสูญเสียสังกะสีออกจากร่างกาย เนื่องจากร่างกายนำเนื้อเยื่อบางส่วนออกมาใช้เป็นพลังงาน ในคนสูงอายุที่รับประทานอาหารน้อยลงก็อาจได้รับสังกะสีไม่เพียงพอ ปริมาณสังกะสีที่คนเราควรได้รับประจำวันแสดงไว้ในตารางด้านท้าย

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จัดว่าไม่มีพิษ แต่การได้รับสังกะสีในปริมาณสูง (เกินกว่า 1.5 เท่าของปริมาณที่แนะนำให้ควรได้รับ) เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง จากการขาดทองแดงได้ และถ้าได้รับสังกะสีในปริมาณมาก (225-450 มิลลิกรัม) จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ อ่อนเพลีย นอกจากนี้การได้รับสังกะสีมากว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีผลเพิ่มระดับโคเลสเตอรอล ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และถ้าได้รับปริมาณสูงมาก (4-8 กรัม) อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การเสริมสังกะสี
ในคนที่มีภาวะเสี่ยงต่อการขาดสังกะสี การเสริมสังกะสีให้กับเด็กในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น พบว่าช่วยเพิ่มความสูงและน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ได้มีการทดลองให้สังกะสีในรูปแบบยาอมเพื่อดูผลต่อการลดลงของอาการหวัด แต่ผลการทดลองก็ยังขัดแย้งกันอยู่บ้าง

สำหรับนักกีฬา
หากนักกีฬาได้รับสังกะสีน้อย (0.3 มิลลิกรัมต่อวัน) จะมีผลทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงได้บ้าง ส่วนผลของการเสริมสังกะสีในนักกีฬาเชื่อว่าน่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่กล้ามเนื้อมีการหดตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสังกะสีมีความเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่ทำลายกรดแลคติก ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อในระหว่างการออกกำลังกาย ถ้ามีกรดนี้สะสมในกล้ามเนื้อมากจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ผลนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยยืนยันต่อไป

ได้มีการทดลองใช้สังกะสีในรูปยากินและยาทาสำหรับการรักษาสิว ซึ่งพบว่าการเสริมสังกะสีจะลดการอักเสบของสิวลงได้ แต่ปริมาณที่ใช้จะค่อนข้างสูง (30 มิลลิกรัมต่อวัน) และการใช้สังกะสีในการรักษาสิวยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามิได้ดีกว่าการรักษาโดยวิธีอื่น แต่การให้สังกะสีในขนาดสูงนี้อาจทำให้เกิดภาวะการขาดทองแดงได้

เนื่องจากผลดีจากการเสริมสังกะสียังไม่ชัดเจน การเสริมสังกะสีจึงควรกระทำด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today

Monday, September 22, 2008

รู้จักมั้ยโรค"เบอริเบอรี่"

โรค เบอริเบอรี่ (beriberi) ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ หลายคนคงไม่รู้จัก แต่เมื่อพูดถึงโรคเหน็บชา คงจะคุ้นหูกันดี สาเหตุเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน แปรไปเป็นพลังงาน และมีส่วนสำคัญของระบบประสาท โดยเฉพาะในด้านนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท

วิตามิน บี 1 เป็นสารที่ละลายน้ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร มีมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมูจะมีมากที่สุด แต่ในเนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็มีเช่นกัน และยังมีอยู่ในถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วแดง ข้าวกล้อง จมูกข้าว ข้าวมันปู ข้าวเหนียวดำ งาขาว งาดำ เป็นต้น

แต่ละ วันร่างกายต้องการวิตามินบี 1 เพื่อไปแปรให้เกิดพลัง โดยร่างกายจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติเมื่อมีภาวะด้านสรีรวิทยา เช่น เด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต หญิงมีครรภ์ หรือให้นมบุตร นักกีฬา หรือผู้ใช้แรงงาน หรือมีภาวะทางพยาธิวิทยา คือ มีโรคติดเชื้อ เจ็บป่วย ภาวะเครียด หรือธัยรอยด์ทำงานหนัก

ร่าง กายต้องการใช้วิตามินบี 1 ตลอดเวลาเพื่อนำไปสร้างเป็นพลังงาน แต่หากร่างกายทำงานหนักมากติดต่อกันหลายวัน โดยไม่ได้รับวิตามินบี 1 โอกาสที่จะเกิดโรคเบอริเบอรี่ถึงขั้นรุนแรงได้ ในเด็กจะพบบ่อยในทารกอายุ 2-3 เดือนที่ดื่มนมแม่ที่ขาดวิตามินบี 1 เด็กจะมีอาการ เช่น หน้าเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม หัวใจเต้นเร็ว หัวใจโต ร้องเสียงแหบหรือไม่มีเสียง อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

หากเกิดในวัยผู้ใหญ่จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Dry beriberi คือ การชาแบบไม่บวม มักเป็นตามปลายมือ ปลายเท้า กล้ามเนื้อแขนขาไม่มีกำลัง ไม่อันตราย และอีกชนิดคือ Wet beriberi จะมีอาการบวมร่วมกับการชาปลายมือ ปลายเท้า มีน้ำคั่งในช่องท้อง ช่องปอด บางรายจะมีอาการหอบเหนื่อย หัวใจโตและเต้นเร็ว อาจหัวใจวายได้ ที่มีอันตรายและส่งผลต่อหัวใจมากเพราะหัวใจเป็นอวัยะส่วนที่ทำงานตลอดเวลาต้องการพลังงานมากกว่าส่วนอื่น

การ ป้องกันทำได้ง่ายนิดเดียว เพียงทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 หากทานเนื้อสัตว์ไม่ได้ ก็ทานข้าวกล้อง จมูกข้าวแทน หรือทานวิตามินเสริม ซึ่งหลักสำคัญคือ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็เพียงพอแล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Tuesday, July 22, 2008

วิจัย เซ็กซ์ เป็น ยาระบายความเครียด

วารสารเรื่องวิทยาศาสตร์ "เดอะ นิว ไซเอนติสต์" ชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยเพสลีย์ศึกษาพบว่า การร่วมเพศเป็นเครื่องระบายความเครียดขนานวิเศษ โดยเฉพาะกับผู้จะต้องไปพูดต่อหน้าชุมชน

ศาสตราจารย์สจ๊วร์ต โบรดี้ บอกกำชับว่า จากผลการศึกษา ความสุขทางเพศแบบต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ว่าความสุขนั้น จะต้องมาจากการเสพสมกับเพศตรงกันข้ามเท่านั้น หากเป็นรูปแบบอื่นเช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง จะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

เขาได้ศึกษาวิจัย โดยอาศัยอาสาสมัครผู้หญิง 24 คน และผู้ชาย 22 คน ให้แต่ละคนบันทึกประสบการณ์ของตน และได้ทำ การทดสอบ ให้ไปพูดต่อหน้าชั้นและการทำเลขในใจ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ผ่านการหลับนอนกับเพศตรงข้าม จะมีความเครียดเหลือน้อยที่สุด ระดับความดันโลหิตจะลดกลับปกติได้เร็วที่สุด ยิ่งกว่าผู้ที่มีปฏิบัติการทางเพศ แบบอื่น ส่วนผู้ที่ไม่ได้ข้องแวะทางโลกีย์เลย จะยิ่งมีความ เครียดอยู่ระดับสูงที่สุด

ดร.โบรดี้ ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นได้ว่า ความสุข ของการร่วมเพศ อาจจะไปช่วยกระตุ้นประสาทต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง อย่างที่กามารมณ์รูปแบบอื่นไม่อาจเทียมเท่า โดย เฉพาะประสาทสมองเส้นที่ 10 อาจจะมีส่วนอย่างสำคัญ ในการควบคุมขบวนการทางจิตวิทยา นอกจากนั้นฮอร์โมนออกซีโตซิน ที่ถูกปลดปล่อยออกมา ก็ยังอาจช่วยคลายความเครียดอีกแรงหนึ่งด้วย

Saturday, May 24, 2008

คุ้มไหม...ถ้าต้องป่วยเพราะงาน

วัยทำงานเป็นช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่เรามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมต่อการทำงานหนัก

เพื่อเก็บสะสมเงินทองเอาไว้ใช้ในเวลาที่กำลังวังชาถดถอย โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เป็นคนทำงานซึ่งมีวิถีชีวิตตั้งแต่เช้ายันค่ำนั่งจมจ่อมกับงานบนโต๊ะ ยิ่งสมัยนี้คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์สำนักงานที่ขาดแทบไม่ได้แล้ว ทำให้หลายๆ คนต้องทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

แต่จะแย่สักแค่ไหน หากว่าการทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงาน (ซึ่งดูเหมือนเป็นงานแสนสบายในสายตาของบางคนที่ต้องใช้แรงงานหรือทำงานภาคสนาม) นั้นกลับกลายเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บสารพัดโรค ....ฟังดูก็รู้ว่าคงไม่สนุกแน่ๆ จริงไหมครับ ลองนึกๆ ดูว่าถ้าเราใช้เวลาวันละ(อย่างน้อย) 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ นั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน สายตาจับจ้องไปที่คอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา จะเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพของเราบ้าง...

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยจากการทำงานนั่งโต๊ะ

ว่าคนที่ทำงานลักษณะนี้เป็นเวลานานติดต่อกันสัก 1-2 ปีมักจะเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน (รู้จักกันในชื่อว่า CTD หรือ cumulative trauma disorder หรือ RSI - repetitive strain injury) ซึ่งเกิดจากน้ำหนักที่กดทับจากการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อ เอ็น และประสาท เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ อาการที่ปรากฏอย่างเช่น การปวดเมื่อยเอว หลัง เคล็ดขัดยอก หรือเจ็บปวดที่ข้อมือ นิ้ว แขน คอ หรือไหล่

สาเหตุหลักของอาการปวดที่ว่านั้นมักจะเกิดจากอิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ

หรือการเคลื่อนไหวต่อเนื่องซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ อย่างเช่นการกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงานที่ผิดหลัก อาการเริ่มต้นตั้งแต่ อ่อนล้า ชา ปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้งาน ซึ่งช่วงแรกจะหายได้เมื่อหยุดทำกิจกรรมนั้น แต่ในเวลาต่อมาหากยังไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง อาการก็อาจเป็นมากขึ้น เพียงแค่พักผ่อนอย่างเดียวก็ไม่หายแล้วคราวนี้ ต้องทำการรักษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น โปะด้วยถุงน้ำแข็ง ทำกายภาพบำบัด หรือรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ทั้งที่จริงๆ แล้วการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออย่าง นี้ป้องกันได้ไม่ยากเลย เพียงฝึกนั่ง ยืน ให้ถูกท่า หากนั่งนานๆ ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ เคลื่อนไหว เดินเล่นยืดเส้นยืดสายเสียบ้างทุกๆ ชั่วโมง และจัดพื้นที่ทำงานใหม่ให้เอื้อมหยิบสิ่งของต่างๆ ง่ายขึ้น ลดการยืดเกร็งกล้ามเนื้อของเราให้น้อยที่สุด นอกจากการยืดเส้นยืดสายแล้ว การดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยหนึ่งแก้ว ทุกๆ 1-2 ชั่วโมงก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับร่างกาย ลดความอ่อนล้า ทำให้คุณทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

พักสายตา

คงไม่ต้องบอกว่าดวงตาสำคัญต่อเราอย่างไรนะครับ ปัจจุบันมีคนมีปัญหาด้านสายตาจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่สายตาต้องต่อสู้กับแสงจากหน้าจอเป็นเวลานานโดยไม่ได้พัก ผสานกับอากาศที่มีความชื้นต่ำจาก เครื่องปรับอากาศในสำนักงาน ทำให้เกิดอาการเช่น ตาแห้ง แสบตา มองเห็นเป็นภาพเบลอ ตาพร่า หรือปวดหัวได้ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านตาแนะนำว่า คนที่ทำงานในสำนักงานควรได้รับการตรวจดวงตา และทดสอบสายตาอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะคนที่มีอาการตาพร่าบ่อยๆ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการหักเหของแสงของสายตา สำหรับคนที่ต้องใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์นานเป็นพิเศษ เช่น นักเขียน นักออกแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมเมอร์ รวมถึงคนวัย 40 ขึ้นไปทั้งหลายที่สายตาอาจเริ่มเปลี่ยน ก็ควรเล่าให้คุณหมอฟังถึงกิจกรรมที่คุณทำ ระยะเวลาที่คุณใช้หน้าคอมพิวเตอร์ การจัดสถานที่ทำงาน เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไข หรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสายตา เพราะเดี๋ยวนี้มีแว่นที่มีเลนส์เฉพาะสำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ให้ใช้กันแล้ว แว่นตาชนิดเลนส์มัลติโค้ทก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดแสงสะท้อนและรังสี UV ที่เข้าตา

สำหรับสำนักงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศ อากาศค่อนข้างแห้ง ก็ควรหาถ้วยใส่น้ำวางไว้บริเวณหน้าต่าง ให้น้ำระเหยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ก็จะช่วยลดอาการตาแห้งได้


ห้องปรับอากาศ สะสมโรค???

เพราะอากาศร้อนๆ อย่างเมืองไทย เครื่องปรับอากาศจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านและอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกสูงล้วนแต่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นตัวช่วยหมุนเวียนอากาศแบบรีไซเคิล และส่วนใหญ่มักจะสงวนพลังงานไม่ให้รั่วไหลออกไปภายนอกด้วยการปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา ถ้าหากเจ้าระบบกลไกหรือแผ่นกรองของเครื่องปรับอากาศมันเกิดทำ งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไหนจะควันรถจากถนน ฝุ่นละอองในอากาศ ไปจนถึงสารพิษ ไอระเหยของหมึกจากเครื่องพิมพ์ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร อากาศที่คนจำนวนมากๆ หายใจร่วมกัน จะมีผลต่อคนที่อยู่ในอาคารอย่างไร ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วล้วนเป็นสาเหตุของ "กลุ่มอาการป่วยจากอาคาร" (Sick building syndrome - SBS) ได้ทั้งสิ้น

กลุ่มอาการชื่อแปลกนี้ เป็นที่รับรู้ขององค์การอนามัยโลกมาตั้งแต่ปี 2525

แต่แม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 ปีแล้วคนก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่คนนับล้านๆ คนทั่วโลกต้องผจญกับอาการเหล่านี้อยู่ ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมีอาการเช่น ความรู้สึกเหนื่อยล้า ปวดหัว มึนงง คัดจมูก เป็นภูมิแพ้ ความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ลดลง และมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ (NUS) ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่คนใช้ชีวิตอยู่บนอาคารสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พบว่าชาวสิงคโปร์ อย่างน้อย 1 ใน 5 ต้องผจญกับกลุ่มอาการ SBS นี้ ทีมวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าไม่เพียงเรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคารเท่านั้น แต่ความเครียดจากงาน แสงสว่างที่มากหรือน้อยไปในอาคาร การควบคุมอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ล้วนแต่เป็นชนวนให้เกิดกลุ่มอาการดังกล่าวได้ทั้งสิ้น

ทีมศึกษาจาก รพ.เบอร์มิงแฮม ฮาร์ทแลนด์ ในประเทศอังกฤษ ก็ออกมายืนยันถึงความซับซ้อนของอาการป่วยเดียวกันนี้ และสรุปเพิ่มเติมว่า

กลุ่มอาการปวดหัว วิงเวียน แบบ SBS ที่ว่านี้มักเกิดมากในผู้หญิง โดยเฉพาะพวกที่ทำงานในตำแหน่งระดับล่างๆ มีเจ้านายสั่งงานหลายชั้น และพวกที่พกพาความเครียดตลอดการทำงานทั้งวัน จะยิ่งเป็นกันมาก แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดแต่ก็พอเข้าใจได้ว่า สาเหตุทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และจิตวิทยา รวมๆ แล้วเป็นที่มาของกลุ่มอาการ SBS วิธีป้องกันและแก้ไขที่ดีที่สุดก็คงจะต้องเพิ่มความใส่ใจกับคุณภาพอากาศ คุณภาพเครื่องปรับอากาศ การรักษาอุณหภูมิในสำนักงาน และรักษาบรรยากาศการทำงานให้มีเสียงหัวเราะกันมากขึ้นครับ

ความเครียดจากงาน

เรื่องของความเครียดนั้นเป็นเรื่อง ที่คนทำงานทุกคนมักหนีไม่พ้น ไม่ว่าจะงานหนัก งานโหลด รู้สึกว่าถูกกดดัน ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีเพื่อน ไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่ ควบคุมงานไม่ได้ ความสามารถไม่ตรงกับงานที่ทำ การไม่มีเวลาให้กับงานที่รับผิดชอบเต็มที่เพราะอาจทำหลายอย่างพร้อมกัน เบื่อเพื่อนร่วมงาน เงินเดือนต่ำ งานซ้ำซาก ฯลฯ ต่างเป็นชนวนความเครียดหลักๆ ยังไม่นับปัญหารถติดที่สร้างความเครียดให้กับหลายคนก่อนถึงที่ทำงานด้วยซ้ำ คนที่ไม่รู้จักหาวิธีผ่อนคลาย ปล่อยตัวเองจมอยู่กับความเครียด มากๆ นั้นจะส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ทั้งปวดหัว เหนื่อยอ่อน นอนไม่หลับ ไปจนถึงเป็นไข้ ไอ รวมทั้งปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น คอ และหลัง ยิ่งใครที่สะสมความเครียดไว้นานๆ ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บมากมายตามมาได้ด้วย อย่างเช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด ความดันเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ล้วนแต่ทำให้อายุสั้นแทบทั้งสิ้น

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทางป้องกันก็คือ พาตัวเองให้พ้นจากความเครียด ด้วยการหาทางผ่อนคลายวิธีต่างๆ

การพักผ่อนที่เพียงพอ ทบทวนตัวเองว่าบกพร่องหรือมีจุดควรปรับปรุงหรือไม่ตรงไหน แล้วจัดระบบการทำงานใหม่ และแบ่งเวลาให้เป็น กินอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในที่ที่อากาศปลอดโปร่งถ่ายเทดี มีความชุ่มชื้นพอสมควร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ต่างเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เราสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากการทำงานได้

ก่อนจากกันเรามีข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากท่านั่งทำงานที่ผิดๆ มาฝากกันทิ้งท้าย ชวนคุณๆ ลองสำรวจตัวเองแล้วปรับเปลี่ยนท่าทางหรือสภาพแวดล้อมเพื่อสุขลักษณะที่ดีกว่าเดิมนะครับ

เก้าอี้นั่งควรอยู่ในระดับพอดี

ที่คุณสามารถนั่งแล้ววางเท้าราบกับพื้น โดยให้หัวเข่าตั้งฉาก 90 องศา หากใครที่เท้าไม่ถึงพื้น ก็ควรที่วางเท้ามารองรับใต้โต๊ะให้พอดี และเมื่อนั่งแล้ว ควรนั่งให้เต็มเบาะ และขอบหน้าของเบาะที่นั่งควรห่างจากหลังน่องประมาณ 2 นิ้ว

ระหว่างทำงานควรมีการหยุดพักเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง เริ่มจาก กำมือ แล้วหมุนข้อมือเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา – ตามเข็มนาฬิกา อย่างละประมาณ 10 ครั้ง แล้วทำท่าพนมมือ ประสานมือเข้าด้วยกันบีบแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนเป็นใช้หลังมือพนม ประสานมือพลิกให้ปลายนิ้วอยู่ด้านล่าง บีบแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที จากนั้นกางนิ้วออกกว้างๆ แล้วบรรจบนิ้วแต่ละนิ้วเข้าด้วยกัน ซ้าย-ขวาการถือโทรศัพท์ ควรใช้มือ หรือหากมือไม่ว่างก็ควรใช้สปีคเกอร์โฟน (ลำโพง) ให้เป็นประโยชน์แทน ไม่ควรใช้วิธีเอียงคอหนีบหูโทรศัพท์ไว้กับหัวไหล่เพราะมีโอกาสทำให้ข้อต่อบริเวณนั้นเกิดบาดเจ็บได้ง่าย หยุดพักงานที่ทำเป็นระยะๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเปลี่ยนไปทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ แทนบ้าง

จัดโต๊ะทำงานใหม่ ให้หยิบฉวยอะไรที่ใช้บ่อยๆ ได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องเอื้อมหยิบ

หรือยืดเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อหยิบของระยะไกลๆ ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่กลางจอภาพอยู่ในแนวตรงพอดีกับปลายคาง จะเป็นระดับที่พอเหมาะกับสายตา และทำให้คอของเราตั้งอยู่ในระดับตรงพอดีที่สุด

ที่มา : สมาคมกระดูกและข้อแห่งสหรัฐอเมริกา
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today

เตือนคนชอบเปิบเมนูเนื้อดิบๆ สุกๆ เสี่ยง12 โรคอันตราย

สธ. เตือนประชาชนที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบดิบ ลู่ดิบ แหนมดิบ เสี่ยง 12โรคอันตรายตั้งแต่โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ พบป่วยปี 2550 แล้วกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิต 12 ราย

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันการเจ็บป่วยจากการกินนับเป็นสาเหตุใหญ่ของคนไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินดิบ เสี่ยงติดพยาธิ โดยพยาธิที่ยังเป็นปัญหาอยู่เนืองๆ 3 ชนิด ได้แก่ พยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า ทริคิโนซีส (Tricinosis) พยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ตับ สำหรับวิธีการกินที่ปลอดภัย ไม่ให้เป็นโรคที่มาจากการกินดิบ คือการสร้างพฤติกรรมง่ายๆ โดยกินอาหารสุก ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและถ่ายลงส้วม ที่สำคัญจะต้องปลูกฝังพฤติกรรม ให้ลูกหลานปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัยไปจนโต โรคที่พบจากพฤติกรรมการกินบ่อยๆ มี 12 โรคได้แก่
  1. โรคอุจจาระร่วง
  2. โรคอหิวาตกโรค
  3. บิด
  4. โรคเอ็นเทอริค
  5. ไทฟอยด์
  6. อาหารเป็นพิษ
  7. โรคตับอักเสบชนิดเอ ตลอดในปี 2550 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยจาก 7 โรคดังกล่าว 1,344,456 ราย เสียชีวิต 12 ราย มากที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง ป่วย 1,204,141 ราย รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษ ป่วย 115,504 ราย และ บิด ป่วย 18,048 ราย
  8. โรคแอนแทรกซ์, โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอีส ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายถึงตาย หรือทำให้หูหนวก ตาบอดได้ ในปี 2550 ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ แต่พบโรคพบผู้ป่วย โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอีส ประมาณ 50 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต
ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าพยาธิตัวตืดและพยาธิทริคิโนซีส จะฝังตัวอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูป่า เนื้อเก้ง เนื้อหมู เนื้อวัว พยาธิตัวอ่อนจะอยู่ในถุงน้ำ (Cyst) ลักษณะคล้ายเม็ดสาคู พยาธิตัวเมีย 1 ตัว จะออกลูกได้ 1,000-1,500 ตัว หรือมากกว่า 10,000 ตัว โดยพยาธิตัวอ่อนจะโตเป็นตัวแก่ภายใน 2 วัน และจะไชเข้ากระแสเลือดทั่วร่างกาย อาจมีชีวิตอยู่นาน 11-24 ปี หากพยาธิไชขึ้นสมอง จะทำให้สมองอักเสบ หากไชเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบมีอาการรุนแรงถึงตาย และอาจทำให้ตาบอด หรือหูหนวกได้ ส่วนพยาธิใบไม้ตับ มักพบจากการกินปลาน้ำจืดดิบๆ สุกๆ ในปี 2550 พบป่วยปีละ 600 ราย

"พฤติกรรมการกินอาหารดิบๆ ยังพบได้ต่อเนื่อง และมักจะพบในวงเหล้า เนื่องจากบางคนยังเชื่อว่า เหล้าซึ่งมีแอลกอฮอล์ สามารถฆ่าเชื้อโรค ฆ่าพยาธิให้ตายได้ หรือใช้น้ำมะนาวจะทำให้เนื้อสุกได้ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเหล้าไม่ได้ทำให้พยาธิตาย มะนาวไม่ได้ทำให้เนื้อสุก การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร โค หรือกระบือแบบดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบดิบ โดยใส่เลือดลงในเนื้อดิบๆ รวมทั้ง ลาบแดง ลู่ดิบ แหนมดิบ มีความเสี่ยงอันตรายมาก ทั้งเชื้อโรคระบบทางเดินอาหาร และเสี่ยงติดพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์จำพวกนี้ โดยพบว่า ถุงหุ้มตัวอ่อนพยาธิตัวกลมทริซิโนซีส จะทนต่อกระบวนการถนอมอาหาร เช่น การหมักเกลือ ใช้เครื่องเทศ หรือรมควันด้วย พยาธิดังกล่าวพบได้ทั่วโลก ในไทยมักพบในจังหวัดภาคเหนือ ที่มักฆ่าชำแหละสุกรกันเอง" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

สำหรับพยาธิตัวตืด เมื่อคนกินพยาธิตัวอ่อนเข้าไป ตัวอ่อนจะออกจากถุงหุ้ม เจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้ ออกไข่แพร่พันธุ์ไปเรื่อยๆ แย่งอาหารจากคนที่กินเข้าไป ทำให้ขาดสารอาหาร หากมีพยาธิจำนวนมาก จะทำให้ลำไส้อุดตัน ช่องท้องอักเสบ เนื่องจากพยาธิไชทะลุลำไส้ อันตรายจากพยาธิพวกนี้ขึ้นอยู่ว่าตัวพยาธิจะไปติดอยู่ในอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย เช่นหากเข้าไปที่ลูกตา ทำให้ตาบอด แต่หากเข้าไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะ ชักกระตุก หรือหมดสติได้ ถ้าไปติดอยู่ในลำไส้ ตัวพยาธิก็จะไปรบกวนการย่อยและดูดซึมอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว และซูบผอม ถ้าไปอยู่ที่ตับ ไต หัวใจ ม้าม หรือกล้ามเนื้อก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานได้ไม่สะดวก

นายแพทย์ธวัช กล่าวอีกว่า วิธีสังเกตอาการผู้ที่ติดโรคพยาธิ คือหิวบ่อย กินจุแต่ร่างกายผ่ายผอม มักมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อไม่สบายท้อง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย หรืออาจมีอาการนอนไม่หลับ หรือเวียนศีรษะ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่แสดงว่า อาจมีพยาธิตัวตืดอยู่ในร่างกาย เนื่องจากถูกพยาธิตัวตืดแย่งอาหาร ดังนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาพยาธิและทำการรักษา

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

โรคคาวาซากิคืออะไร?
เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส, การใช้แชมพูซักพรม, การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก

อาการของโรคคาวาซากิ
จะเริ่มด้วยอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน ไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ ไข้จะเป็นอยู่นานหลายวันหากไม่รักษา มักไม่มีอาการทางหวัดเช่น อาการไอ หรีอน้ำมูกไหล ไม่มีผลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งวินิฉฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากเกณฑ์วินิจฉัยจาก 4 ใน 5 ข้อ ร่วมกับอาการไข้สูงหลายวัน

เกณฑ์การวินิจฉัย
ตาแดงทั้งสองข้าง ไม่มีขี้ตา
ลิ้นแดง (เป็นคล้ายสตอร์เบอรื่) , ปากแดง บางครั้งถึงกับแตก เจ็บมาก
มือเท้าบวมในช่วงแรก มักไม่ยอมใช้มือเท้าเดินหรีอเล่น เนื่องมาจากเจ็บระบม มีผิวหนังลอกเริ่มที่บริเวณขอบเล็บ และ อาจพบที่รอบก้นและขาหนีบ
มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
ต่อมน้ำเหลืองโต มักเป็นที่บริเวณคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร

ประมาณ 80 % ของผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี

โรคนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร
อาการดังกล่าวมาข้างต้น 5 ข้อ ไม่มีข้อใดจะมีการทำลายอย่างถาวรต่ออวัยวะนั้น ที่สำคัญทึ่สุดคือการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่ซึ่งเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อมีการอักเสบมากจะเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดนี้ และมีการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หัวใจวายหรือทำงานล้มเหลวเสียชีวิตได้เส้นเลือดทั่วร่างกายอาจมีการอักเสบได้เช่นกัน เกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงท้ายของการดำเนินโรค จะทำให้มีการเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดเพิ่มขึ้น

โรคคาวาซากิจะรักษาอย่างไร?
เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ควรให้นอนโรงพยาบาลเพื่อการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

วิธีรักษาทำได้โดย
  • ให้แอสไพริน เพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน (Aspirin ขนาดสูง ในช่วงแรก แบ่งให้ทางปาก เมื่อไข้ลงจะลดยาลง)
  • ให้อิมโมโนโกลบูลิน เพื่อลดอุบัติการณ์การการเกิดการโป่งพองและการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่
จะต้องดูแลอย่างไรหลังจากออกจากโรงพยาบาล?
หากมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนาร๊ ( Coronary artery ) มีโอกาสที่เกิดอุดตันและมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ในเด็กเล็กจะบอกเรื่องเจ็บหน้าอกด้านซ้ายไม่ได้แต่จะร้องก วนไม่หยุด ไม่กินนมหรือข้าว ซีด เหงื่อออก หายใจหอบเหนื่อย และชีพจรเต้นเร็วมากขึ้น ให้รีบพามาโรงพยาบาลเป็นการด่วน เพื่อตรวจคลื่นหัวใจ, อัลตราชาวน์หัวใจ ( 2D echocardiogram ) ซ้ำ และให้ยาละลายลิ่มเลือดและขยายหลอดเลือดโคโรนาร๊

หากตรวจไม่พบความผิดปกติของ Coronary artery ตั้งแต่ต้นและได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่ต้น โอกาสเกิดการโป่งพององเส้นเลือดในระยะต่อม จะลดน้อยมาก แต่ต้องมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้กินยาแอสไพรินตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงที่กินยาแอสไพริน หากมีการระบาดของอีสุกอีใส ให้หยุดยาและมาติดต่อสอบถาม หรือมาพบแพทย์

เรียบเรียงโดย นพ. สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
สิงหาคม 2542

Saturday, March 22, 2008

ขิง..ความหวังใหม่ของคนเป็นโรคข้ออักเสบ

ถ้าท่านผู้อ่านลองสำรวจผู้คนที่ใกล้ชิดแล้วจะพบว่า 2 ใน 10 คน ยอมรับว่า
เขามีอาการปวดข้ออยู่ เพราะนั่นคืออุบัติการณ์ของการปวดข้อที่ดำเนินอยู่ทั่วโลก

ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบมีอาทิ เช่น
  • โรคข้ออักเสบจำแนกออกไปอีกได้กว่า 100 ชนิด แต่ที่พบบ่อยคือ
    โรคข้ออักเสบรูมา ตอยด์และข้อเสื่อม
  • มาติซึ่มเป็นศัพท์ที่ครอบคลุมอาการปวดที่เกิดกับระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือกระดูก, ข้อ, กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ตลอดจนเนื้อเยื่อประสานที่เกี่ยวข้อง
  • โรคข้อเป็นสาเหตุอันดับที่ 2 รองจากโรคติดเชื้อที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องไปหาหมอ
  • การรักษาส่วนใหญ่เป็นไปตามอาการและปัญหาสำคัญที่เกิดจากการรักษา
    คือยาก่อ ให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้มากและรุนแรง
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (RHEUMATOID ARTHRITIS)

ร้อยละ 80 ของคนเป็นโรคข้ออักเสบแบบรูมาตอยด์จะมีอายุระหว่าง 30-50 ปี โดยโรคร้อยละ 70 ของคนเหล่านี้จะเป็นไปอย่างเรื้อรังและเลวลงตามลำดับ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3-5 เท่า การอักเสบมักจะเริ่มขึ้นบริเวณ เยื่อหุ้มข้อ (SYNOVIAL MEMVRANE) ของข้อนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง ทำให้มีอาการปวดบวมและข้อต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเช้า ต่อมานาน ๆ เข้าโรคจะดำเนินต่อไปจนเป็นที่มือ, ข้อศอก, เข่า, เท้า จนมีปุ่มหรือการบิดเบี้ยวดูพิกลพิการ ความรุนแรงของแต่ละโรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่นเดียวกับจำนวนข้อที่เป็นโรค

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกิดจากอะไร แต่คาดว่าจะมีกลไก ซึ่งภูมิคุ้มกันของตัวเอง เกิดอ่านสัญญาณผิดพลาดอย่างไรไม่ทราบได้ หันกลับไปเล่นงาน ข้อของตัวเอง บางทัศนะก็ว่า กลไกดังกล่าว อาจเกิดจากการกระตุ้นโดยเชื้อไวรัส จะอย่างไรก็ตาม การอักเสบที่ดำเนินไปในข้อ จะส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาว จากกระแสโลหิต เดินทางมาที่เยื่อหุ้มข้อ เม็ดเลือดขาว เมื่อมาถึง ก็จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา ที่เรียกว่า OXIDATIVE BURST REACTION โดยเม็ดเลือดขาวจะเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็น อนุมูลอิสระ (FREE RADICALS) ซึ่งเป็นตัวการสร้างความเสียหาย ให้เกิดขึ้นกับข้อ รวมทั้งเกิดสาร พรอสตาแกลนดินส์ และลูโคไทรน์ อันเป็นตัวเสริมการอักเสบ และความเจ็บปวด เพิ่มขึ้น

โรคข้ออักเสบแบบข้อเสื่อม (OSTEOARTHRITIS หรือ DEGENERATIVE ARTHRITIS)
เป็นโรคข้อที่พบมากขึ้นตามอายุ โดยมีลักษณะของพยาธิสภาพตามชื่อคือ การเสื่อมสภาพ ของข้อโดย เฉพาะอย่างยิ่งส่วนกระดูกอ่อน เป็นมาก ๆ เข้าผิวของข้อที่กระดูก 2 ท่อน มาต่อกัน ก็จะเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวกระดูกอ่อนแบนราบลง ช่องว่างของข้อหดแคบลง จนกระดูกมากระทบกระแทกเสียดสีกันเองโดยตรง

อุบัติการณ์ จะพบความชุกของโรคนี้เพียง 5-10%ในคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-25 ปี โดยส่วนใหญ่ จะเป็นผลจากการบาดเจ็บ เช่นกระดูกหักใกล้ข้อ ส่วนในคนที่อายุสูงกว่า 55 ปี จะมีอุบัติการณ์ถึง 80%

อาการในเบื้องต้น คือ ปวดข้อและก็เลวลงตามเวลาที่ผ่านไป ข้อที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้อที่แบกรับน้ำหนักตัว เช่น สะโพกและเข่า แต่ข้ออื่น ๆ ก็เป็นได้ทั่วร่างกายอย่างเช่น กระดูกสันหลังเวลาเสื่อมแล้วจะทำให้ปวดหลัง, ปวดเอว, ปวดคอและปวดไหล่ได้

ปัญหาสำคัญของคนเป็นโรคข้อเสื่อมคืออาการปวดที่เกี่ยวกับข้อซึ่งรับน้ำหนักตัวมาก ดังนั้นวิธีบรรเทาปวดอันสำคัญประการหนึ่งคือ จำกัดน้ำหนักตัวและมีการบริหารร่างกาย อยู่เป็นประจำ เช่น ขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ

การรักษาโรคข้ออักเสบ
วิธีรักษาทั่วไป ยังคงเป็นไปตามอาการ โดยไม่มีหลักฐานว่า จะมีอิทธิพลในการย่นย่อ ระยะเวลา ของการเป็นโรคและพัฒนาการของโรคต่อไปหรือไม่
  1. ยาแก้ปวดอย่างอ่อนทั่วไป เช่น พาราเซตตามอล สำหรับกรณีที่ปวดไม่มาก
  2. ยาบรรเทาอาการอักเสบชนิดที่ไม่เข้าสารสเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด (NONSTEROID ANTI-INFLAMMATORY DRUGSN หรือ NSAID) เป็นยากลุ่มสำคัญ เพราะว่าออกฤทธิ์ยับยั้งขั้นตอนการอักเสบของข้อ ซึ่งนำไปสู่อาการปวด ปัญหาของยากลุ่มนี้ เท่าที่ผ่านมาคือ ยาก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ของเยื่อบุ กระเพาะอาหาร จนเกิดแผล และเสียเลือดได้มาก ๆ อย่างที่ประเทศอังกฤษ เขาพบว่าร้อยละ 45 ของคนที่ใช้ยานี้ จะมีอาการข้างเคียง และเพิ่มเป็น 75% ในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคแทรกซ้อนจากยา มีผลทำให้ผู้คนต้องเข้าโรงพยาบาล ในสหรัฐอเมริกาถึงปีละ 70,000 คนโดยมีผู้เสียชีวิตถึง 7,000 ราย
  3. ยาสเตียรอยด์ (STEROID) ใรายที่การอักเสบรุนแรงจนยาเอ็นเสดเอาไม่อยู่ อาจ ต้องใช้สเตียรอยด์ทั้งชนิดฉีดหรือรับประทานก็ตาม โรคแทรกซ้อนจากการใช้ สเตียรอยด์นาน ๆ ก็คือ ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนและอื่น ๆ อีก
  4. ยาต้านรูมาตอยด์ชนิดออกฤทธิ์ช้า (SLOW ACTING ANTIRHEUMATOID DRUG) เช่น GOLD SALT ซึ่งอาจมีฤทธิ์ข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ ผื่นขึ้น, เกร็ดเลือดต่ำ, ท้องเสีย, คลื่นไส้
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงต้องขวนขวายคิดค้นยาที่ปลอดภัยขึ้นอย่างขะมักเขม้น เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นี้เอง ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ในประเทศเดนมาร์ก ที่เกิดแนวคิดตรงกันว่า น่าจะมีการนำความรู้ความเชื่อของ ผู้คนในทุกภูมิภาคของโลก เกี่ยวกับเรื่องพืชสมุนไพร แล้วใช้ความรู้แผนใหม่วิจัย เพื่อพิสูจน์ว่า ความรู้ไหน ที่ถ่ายทอดมาแล้ว ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ไหนเป็นแค่ความเชื่อ

เมื่อปี ค.ศ.1992 (2535) นักวิทยาศาสตร์หนุ่มสายชีวเคมีและเภสัชวิทยาคนหนึ่ง ของประเทศเดนมาร์ก ชื่อ ดร.มอร์เทน ไวด์เนอร์ (MORTEN WEIDNER) ได้รับทุนวิจัย และก่อตั้งสถาบันวิเคราะห์ยา (IDA) INSTITUTE OF DRUG ANALYSIS A/S) โดยได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร สถาบันวิจัยแห่งนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมทำงานถึง 600 คน ตั้งอยู่ในสวนวิทยาศาสตร์ ซิมเบียน (SYMBION SCIENCE PARK) ที่กรุงโคเปนเฮเกน นครหลวงของประเทศ เดนมาร์ก สถาบันวิเคราะห์ยา IDA ได้ศึกษาพืชจากทั่วโลกกว่า 100 พันธุ์ แต่ก็พบพันธุ์ที่มีผลดีในการรักษาโรคข้ออักเสบเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งมาพบ "ขิง" ขิง ซึ่งคนไทยใช้ปรุงอาหาร และทำเครื่องดื่ม และเชื่อว่า เป็นยาบรรเทาอาการท้องอืดนั้น จัดเป็นพืชทั่วไปของทวีปเอเซีย และมีปรากฏว่า มีการใช้ในการแพทย์จีน และชมพูทวีป มากว่า 2500 ปีแล้ว โดยเชื่อว่า ใช้บรรเทาอาการปวด, อักเสบ, โรครูมาติก และอาการเมารถ เมาเรือ

ที่จริงขิงมีอยู่ทั่วโลก มากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที IDA นำมาศึกษามี 100 กว่าชนิด และปรากฏเป็นชื่อของพฤกษศาสตร์ว่า ZINGIBER OFFICINALE ROSCOE
เป้าหมายของโครงการวิจัยขิงก็คือ
  1. เพื่อแสวงหาสารสำคัญในขิงที่ออกฤทธิ์ในเชิงรักษาโรค
  2. ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารดังกล่าว
  3. พัฒนาวิธีการสกัดสาร (STANDARDIZED GINGER EXTRACT) เพื่อใช้ในการแพทย์
จาการวิเคราะห์สารต่าง ๆ ของขิงก็พบว่ามีสารหลัก ๆ คือ
  1. ประกอบด้วยแป้งและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีฤทธิ์ทางยา
  2. น้ำมัน VOLATILE เป็นส่วนที่ได้รส (น้ำมันหอมระเหย) และกลิ่น แต่ก็ไม่มีฤทธิ์ทางยา
  3. สารประกอบฟีนอลิกคีโตน (PHENOLIC KETONE COMPOUNDS) ชื่อ HMP เป็นตัวออกฤทธิ์ทางยา
ระหว่างการศึกษาเรื่องขิง ยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ขิงไม่ใช่เป็นแค่ขิง และไม่ใช่ว่า ขิงจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะแต่ละแห่ง ก็มีความต่างกัน ทั้งกลิ่น, รส และส่วนประกอบ โดยความแตกต่าง จะเป็นไปตามสภาพภูมิศาสตร์ (ที่ตั้ง) ของวัตถุดิบ เหล่านี้ และพวกนักวิจัยที่ IDA พบว่า ขิงดีที่สุดในเชิงรักษาโรค คือขิงจากตำบลหนึ่ง ในประเทศจีน ซึ่งทาง IDA ขอปิดเป็นความลับ ไม่บอกชื่อตำบลดังกล่าว

ทาง IDA ได้พัฒนาขั้นตอนการสกัดสาร HMP จากขิงอยู่ระยะหนึ่งจนได้เทคโนโลยี (SELECTIVE EXTRACTION) ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่า 90% จากคำบอกเล่าของ ดร.ไวด์เนอร์ เขากล่าวว่า ระหว่างขั้นตอนการสกัดขิงนั้น ได้ สารจินเจอรอล (GINGEROLS) ซึ่งเป็นคำรวม เรียกสารที่ออกฤทธิ์ทางยาของขิง แต่ในกระบวนการ สกัดสาร พบว่า ได้เกิดผลที่ไม่อยากให้เกิด กล่าวคือ มี สารโชกาออล (SHOGAOLS) เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏว่ าสารนี้ทดสอบแล้ว อาจสร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุของทางเดินอาหารได้ จึงต้องแก้ไขวิธีการสกัดเสียใหม่ ให้มีความละมุนละม่อม ไม่มีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขอขยายความตรงนี้ว่าสารสำคัญของขิงที่ว่านั้นถ้าเป็นขิงสด ๆ ก็จะได้สารดังกล่าวไปใช้ ได้เต็มที่ (HIGHLY BIOAVAILABLE FORM) แต่จะให้ได้สารเคมี ดังกล่าว ในปริมาณมากพอที่จะรักษาโรคได้ คงต้องรับประทานขิงกันวันละหลายสิบหัว ซึ่งก็คงไม่ไหวแน่ จึงต้องสกัดสารที่ว่านี้ ออกมาจากขิง ให้ได้ปริมาณเพียงพอ แต่ในกระบวนการสกัดนั้น ขั้นตอนการทำให้แห้ง และการสกัดก็ไปทำลายสารสำคัญ เสียมาก สารที่จะไปทำหน้าที่รักษาโรค ก็จะเหลือให้ใช้น้อยลง ต้องแก้ไขให้สงวน สารสำคัญไว้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยสร้างสารประกอบ "ซินาซิน" (ZINAXIN) ขึ้น แล้วจดทะเบียนลิขสิทธิ์วิธีการสกัดไว้ทั่วโลก เพราะคุณสมบัตินี้สำคัญมาก ต่อการที่จะได้ยารับใช้เราได้อย่าดีที่สุด

กลไกการออกฤทธิ์ของสารประกอบ HM-33 ก็โดยการไปสกัดกั้นสารเคมี ที่หลั่งออกมา ในร่างกาย ขณะมีการอักเสบของข้อเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็สกัดกั้นการเกิดอนุมูลอิสระ ได้ด้วย

จากคุณสมบัติที่คล้ายกับยาเอ็นเสด ยกเว้นไม่กัดกระเพาะอาหารนี่เอง ทำให้เกิดความหวัง ขึ้นมาว่า "ซินาซิน" จะเป็นยาเสริม หรือ ยาแทนที่ ยาเอ็นเสดเสียเลย วิธีที่จะทดสอบสมมุติฐานดังกล่าวได้ ก็โดยทำการทดลองรักษาจริง ๆ ในคน ซึ่งปรากฏว่า การทดลองกับคนไข้โรคข้อเสื่อม ชาวเดนมาร์ก 28 ราย ในงานวิจัยที่หนึ่ง และ 56 ราย ในงานวิจัยที่สอง ประสบความสำเร็จ ในการบรรเทาอาการปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ โดยการรับประทานยาซินาซิน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยรับประทานพร้อมกันไป กับอาหาร ในเดือนแรก ส่วนเดือนต่อไปอาจจัดขนาด 1 หรือ 2 เม็ด ตามความจำเป็น หรือตามความรุนแรง

ความเห็นของผมในฐานะแพทย์แผนปัจจุบัน คิดว่า ถ้าท่านผู้อ่านมีอาการปวดข้อขึ้นมา อย่างเฉียบพลัน ปวดบวมตามข้อมาก ควรพิจารณาใช้ยากลุ่มเอ็นเสดนำไปก่อน แล้วในระยะยาว จึงค่อยใช้ซินาซินเสริมไปด้วย หรืออาจจะแทนที่ยาเอ็นเสดไปเลยก็ได้ ส่วนคนที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังขนาดอ่อน หรือปานกลาง ก็อาจจะพิจารณาทดลอง ใช้ยาซินาซิน ขนานเดียว หรือควบกับยาเอ็นเสดชนิดที่ไม่กัดกระเพาะอาหารมาก ก็ได้

โรคข้ออักเสบนี้มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ มีความเรื้อรัง และบ่อยครั้งดื้อยา คนไข้จึงต้องลองผิดลองถูก เปลี่ยนยาไปเรื่อย ๆ จนพบขนานที่ถูกกัน ก็สบายไปพักใหญ่ ซินาซินก็คงจะมาเป็นอีกทางเลือก สำหรับผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ

ที่มา
นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์

Powered by ScribeFire.

ขิง สมุนไพรสารพัดประโยชน์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ใกล้หมอ" ได้นำเสนอการค้นพบประโยชน์ใช้สอยใหม่ของขิงว่า สามารถบำบัดรักษาโรคข้ออักเสบได้ และปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านหลายท่าน ที่กรุณาโทรศัพท์เข้ามาที่ "ใกล้หมอ" เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งกองบรรณาธิการขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้

จากตำราพืชสมุนไพรไทย (THAI MEDICINAL PLANTES) ฉบับภาษาอังกฤษ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ขิงซึ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่มมาช้านานแล้วนั้น จริง ๆ แล้วเป็นสมุนไพร ที่ออกฤทธิ์บำบัด ได้กว้างขวางแทบจะสารพัดโรค ซึ่งแน่ละว่าเราคงไม่หวังพึ่งขิงแต่เพียงลำพัง ในการบำบัดโรคต่าง ๆ แต่การได้รับทราบสรรพคุณมากมายของขิง ทำให้เราบริโภคขิง ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมั่นใจ และอุ่นใจว่าสิ่งที่เราดื่มหรือรับประทานลงไปนั้น นอกจากจะเสริม รสชาติของอาหารและเครื่องดื่มแล้ว สารประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขิงยังจะช่วยบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ให้แก่เราด้วยไม่มากก็น้อย

ตำราพฤกษาศาสตร์ ให้ชื่อขิงไว้เต็มยศว่า ZINGIBER OFFICINALE ROSCOE เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น จึงปลูกได้ทั่วไปในภูมิประเทศแถบร้อน

ตำราแพทย์แผนไทย บรรยายสรรพคุณจากส่วนต่าง ๆ ของขิงไว้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น รากบริโภคแล้วจะมีอายุยืน, เสียงหวาน, ทำให้อยากอาหาร, ลดอาการท้องอืด, ท้องเฟ้อ, บรรเทาอาการนอนไม่หลับ, แก้ความผิดปกติของธาตุทั้งสี (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เป็นต้น

ลำต้นเองก็มีประโยชน์ ในการบรรเทาอาการปวดท้อง, ปัสสาวะขัด, แก้ท้องอืด, ท้องเสีย ส่วนใบใช้บรรเทาไข้ ปัสสาวะขัด หรือบรรเทาอาการท้องอืดได้

ในบันทึกการใช้ขิงบำบัดความเจ็บป่วยต่าง ๆ มีกล่าวเป็นตัวอย่างไว้ เช่น น้ำขิงหนัก 5 กรัม มาบดหรือตำเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อต้มน้ำแล้วดื่มแก้ปวดท้อง หรือใช้ขิงถูกับหินแล้วผสม น้ำมะนาวเกลือ เพื่อจิบบ่อย ๆ แก้ไอ เป็นต้น

เมื่อใช้กรรมวิธีตรวจสอบทางเคมีสมัยใหม่ก็ทำให้เราทราบว่า ในขิงนั้นมีสารเคมีต่าง ๆ มากมายนับ 100 ชนิด รวมทั้งกรดอะมิโน, น้ำมัน, จินเจอรอล, กรดไขมัน, โชกาออล, แทนนิน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ขิง มีสรรพคุณเป็นยาบำบัดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และยังมีคุณสมบัติเป็นอาหาร หรือเครื่องดื่มได้

การออกฤทธิ์ทางเภสัชสิทยาเท่าที่วิจัยพบแล้วมีอาทิเช่น
  1. ลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล โดยการลดดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารในลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
  2. ช่วยลดความอยากของคนติดยาเสพติดได้
  3. มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ช่วยระงับการชักในสัตว์ทดลอง, เสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ กลุ่ม BARBITURATE บรรเทาปวดลดไข้, ลดอาการเวียนศีรษะ
  4. ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  5. ป้องกันฟันผุ
  6. ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด
  7. บรรเทาอาการไอ
  8. ป้องกันและบำบัดอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้
  9. ลดการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร
ที่มา นิตยสารใกล้หมอ


Powered by ScribeFire.

โรคข้อเสื่อม

ข้อเสื่อมเป็นเรื่องที่สามารถรักษาได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง และหากต้องรักษาโดยแพทย์ก็มีวิธีการที่น่าสนใจ เรามาดูกันตั้งแต่อาการ การรักษา การป้องกันกันเลย

อาการของโรคข้อเสื่อม

ระยะเริ่มต้น ที่สำคัญคือ อาการปวดบวมแดงร้อนของข้อ อาการปวดอักเสบดังกล่าวเป็นสัญญาณ เตือนภัย เพื่อเตือนให้ลดการใช้งานลง ให้ข้อได้พัก อาการอักเสบจะได้ทุเลาลง แต่ถ้ายังคงใช้งานต่อ ข้ออาจมีของเหลวเพิ่มขึ้น เมื่อตรวจข้อจะพบข้อบวมมากขึ้น

ระยะปานกลาง เมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อน ข้อจะมีการอักเสบภายหลังการใช้งา นกล้ามเนื้อเริ่มปวดเมื่อย อ่อนแรง ข้อเริ่มโค้งงอ ที่เห็นชัดเจน คือข้อเข่า ที่เริ่มโค้งงอมากขึ้น พิสัยการเคลื่อนไหวเริ่มติดขัด เหยียดงอไม่สุดเหมือนปกติ

ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น ข้อเริ่มหลวมไม่มั่นคง ข้อหนาตัวขึ้น จากกระดูกงอกหนา ข้อโก่งงอ ผิดรูปชัดเจน เวลาเดินต้องกางขากว้างขึ้น เพื่อเสริมความมั่นคง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง ขณะลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรง

การรักษาโรคข้อเสื่อม

มีวิธีที่สามารถรักษาโรค โดยตนเองและโดยแพทย์ดังนี้
  1. ลดน้ำหนัก
    • การตรวจสอบน้ำหนักว่าเกินเกณฑ์หรืออ้วนเกินไป สูตรดรรชนีมวลกาย (body mass index) คือ ใช้น้ำหนัก (กิโลกรัม) เป็นตัวตั้งหารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
      สูตร body mass index (BMI)=น้ำหนัก (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (ม.2)
      ถ้า BMI ไม่เกิน 25 กก./ม.2 ถือว่า น้ำหนักไม่เกิน ถ้าเกิน 30 กก./ม.2 ถือว่าอ้วน

    • วิธีการลดน้ำหนัก
      • ดื่มน้ำต้มสุกก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ ถ้าท้องผูกให้เพิ่มการดื่มน้ำในตอนเช้า ประมาณ 3-4 แก้วทุกเช้า
      • ลดอาหารรสหวาน ของหวาน น้ำหวาน ผลไม้หวาน นมข้นหวาน ฯลฯ
      • งดของมันทุกชนิด ได้แก่ ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู แกงกะทิ ฯลฯ
      • รับประทานอาหารให้พออิ่มทุกมื้อ

  2. การรักษาโดยการใช้ยา
    • ยากิน ยาที่แพทย์สั่งให้ได้แก่ ยาแก้ปวด (แอสไพริน พาราเซทตามอล) และยาแก้อักเสบ (ไดโครฟีแนค, ไพร็อกซิแคม อินโดเมทาซิน ฯลฯ) ยาแก้อักเสบเหล่านี้ ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ) การใช้ยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเพื่อ ลดปวดและลดการอักเสบ ถ้าไปใช้งานหรือรับน้ำหนักอีก ข้อก็จะอักเสบอีก ผลข้างเคียงของยาแก้อักเสบ คือ ผลต่อไต ผลระคายกระเพาะอาหาร และลำไส้อันอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ มีแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหารทำให้อุจจาระดำ
    • ยาฉีด ยาที่ฉีดเป็นยาจำพวกสเตียรอยด์ เป็นการฉีดเข้าข้ออักเสบเฉพาะที่ ข้อเสียของการฉีดยา (มีมากกว่าข้อดี) ได้แก่
      • ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น การฉีดยาจะส่งสัญญาณเตือนภัย คือ อาการเจ็บปวด (แต่ข้อยังคงมีการอักเสบอยู่) เมื่อฉีดยาแล้ว อาการปวดหมดไป ก็จะเริ่มใช้งาน เริ่มเดิน ยืน ตามปกติ ข้อก็จะอักเสบเพิ่มขึ้น
      • มีโอกาสติดเชื้อ
      • ยาสเตียรอยด์จะตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อเสื่อมเร็ว
      • เสียเงินค่าฉีดยาโดยไม่จำเป็น
    ข้อบ่งชี้การฉีดยาคือ อาการปวดที่รุนแรง เมื่อฉีดแล้วต้องพักข้อข้างที่ถูกฉีดให้เต็มที่ไม่ให้รับน้ำหนัก หรือใช้งานเวลา 1-2 สัปดาห์

  3. การรักษาโดยการผ่าตัด
    • ใช้การส่องกล้องเพื่อกวาดล้างสิ่งแปลกปลอมในข้ออก
    • ตัดกระดูกและจัดกระดูกที่โก่งงอให้ตรง
    • เปลี่ยนข้อเทียม ในกรณีที่ข้อเสื่อมขั้นรุนแรง

  4. การใช้เครื่องช่วยพยุงเข้าและใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
    เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อ เครื่องช่วยพยุงข้อชนิดต่างๆ จะเสริมความมั่นคงของข้อให้กระชับและแข็งแรงขึ้น แต่ต้องหมั่นบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อลีบเล็กลง
การป้องกันโรคข้อเสื่อม

การป้องกันในรายที่ยังไม่มีอาการใดๆ ได้แก่
  1. จำกัดอาหารมันและหวานเพื่อมิให้น้ำหนักเกินพิกัด อาหารที่แนะนำ คือผักผลไม้ที่ไม่หวาน เต้าหู้ เนื้อปลา วุ้นเส้นที่ทำจากถั่วเขียวและดื่มน้ำต้มสุก ลดน้ำหวาน น้ำอัดลม
  2. หลีกเลี่ยงการใช้งานที่เกินกำลัง และท่าทางที่จะทำให้ข้อมีความดันเพิ่มสูง ได้แก่ ท่านั่งยองคุกเข่า พับเพียบ ท่าก้มหลัง เป็นต้น
  3. บริหารร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากอุบัติที่อาจทำให้กระดูกหักผ่านข้อ เอ็นยืดข้อฉีกขาด ข้อแพลง เป็นต้น
  5. ตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกปี

การป้องกันในรายที่ข้อมีอาการปวดบวมอักเสบ ที่สำคัญคือการป้องกัน การโก่งงอผิดรูปของข้อได้แก่
  1. ลดน้ำหนัก เปลี่ยนข้าวเป็นข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้อง
  2. ลดการใช้งานเข่า การวิ่งหรือจ๊อกกิ้งจะทำให้ข้อเข่า ต้องรับน้ำหนัก 10 เท่าของน้ำหนักตัว การเดินเข่าจะรับน้ำหนัก ประมาณ 4.5 เท่าของน้ำหนักตัว ส่วนการถีบจักรยาน เข่าจะรับน้ำหนักเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัว
  3. ประคบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเมื่อข้อเกิดการอักเสบ
  4. ใช้เครื่องช่วยพยุงข้อ หรือใช้ไม้เท้าช่วยเดินขณะเกิดการอักเสบ
  5. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า และออกกำลังกาย ให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
  6. กินยาแก้ปวด แก้อักเสบ เป็นครั้งคราว หลีกเลี่ยงการฉีดยาเข่าข้อ


Powered by ScribeFire.

แก้สะอึก (hiccup) ได้แบบเด็ดขาด

สะอึก (hiccup) เกิดจากกะบังลมทำงานไม่เป็นปกติ กะบังลมกั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหดในจังหวะสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการหายใจ สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจากมีอะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยงกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ

สาเหตุเหล่านี้ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเป็นเสียงสะอึก

อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง ใช้เวลาไม่กี่วินาทีไปจนถึง 2-3 นาที ซึ่งพบได้บ่อยๆ แต่หากสะอึกอยู่นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ หรือสะอึกในขณะนอนหลับ อาจต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น

คนส่วนใหญ่มักจะสะอึกหลังจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ทำให้มีก๊าซมาก บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่มากเกินไป บางคนที่มีความตึงเครียดมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้

เทคนิคหยุดอาการสะอึกมีหลายวิธี การศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่าๆ 1 ช้อนโต๊ะ สามารถแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ได้แก่
  • สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก
  • หายใจในถุงกระดาษ
  • กลืนน้ำแข็งบดละเอียด
  • เคี้ยวขนมปังแห้ง
  • บีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วจิบแก้สะอึก
  • ก้มตัวดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้ามหรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก
  • จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน
  • ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที
  • อุดหูไปด้วย แล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย
  • แหงนหน้า กลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นหายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำหนึ่งแก้ว
  • ใช้นิ้วคีบลิ้นแล้วดึงออกมาเบาๆ หรือแลบลิ้นออกมายาวๆ
  • กดจุด โดยออกแรงบีบเนินใต้นิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่ง หรือกดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก
  • นวดเพดานปาก
  • ทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรงๆ โดยไม่ให้รู้ตัวก่อน
  • ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ

ที่มา เย็นตาโฟ

Powered by ScribeFire.

Sunday, March 2, 2008

อ้วน หนัก หนา ปรมาโรคา

"อ้วน หนัก หนา ปรมาโรคา" เป็นชื่อเรื่องของบทความที่ผมเคยเขียนเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันโรคอ้วนก็ยังเป็นปัญหา และเป็นปัญหามากขึ้นถึงขั้นระบาดไปทั่วโลก ทำให้โรคที่ตามมากับความอ้วน เช่น โรคเบาหวาน พลอยเป็นโรคระบาดไปทั่วโลกด้วย องค์การอนามัยโลกกำลังเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก

การที่โรคอ้วนระบาดเนื่องจากว่าคนเราทุกวันนี้มีกินกันมาก แต่ไม่ได้กินดีอยู่ดีตามที่ควร จะเป็น แต่เป็นการกินผิดๆ กินอาหารขยะกันมากมาย โดยเฉพาะเด็กๆ ถูกพ่อค้ามอมเมา เยาวชนตกเป็นเหยื่อนักการตลาด มีโฆษณาอาหารขยะในสื่อสารมวลชนเป็นประจำ ขณะนี้รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ ได้ออกกฎหมายห้ามโฆษณาเหล้าแล้ว ซึ่งคงจะทำให้การดื่มเหล้าลดลงบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำอะไรกับอาหารขยะเลย

ที่ประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา เขามีกลุ่มคนผู้หวังดีต่อชาติร่วมมือกันต่อต้านอาหารขยะ มีการรณรงค์หลายรูปแบบ รวมทั้งการล็อบบี้ผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายคุ้มครองเยาวชน ห้ามขายอาหารขยะในโรงเรียน ฯลฯ

ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ลงมือทำอะไรกับอาหารขยะ คนไทยที่รักสุขภาพทั้งหลายจึงควรลงมือทำกันเองไปก่อน โดยงดการกินอาหารขยะ พยายามลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักที่ได้ผลที่สุดคือการลดอาหาร เช่น ลดปริมาณที่กินในมื้อเย็นลง ร่วมกับการออกกำลังกาย ไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างเดียวแต่ไม่ควบคุมอาหาร การออกกำลังกายจะช่วยพยุงน้ำหนักตัวเอาไว้ไม่ให้ขึ้น การลดอาหารที่ดีอีกวิธีหนึ่ง คือ กินอาหารมังสวิรัติที่ถูกวิธี

อาหารมังสวิรัติมีผลดีหลายอย่าง คือ นอกจากลดน้ำหนักได้แล้วยังสามารถช่วยให้โรคต่างๆ หลายอย่างดีขึ้น เช่น เบาหวาน โรคหัวใจดีขึ้น สมองเสื่อมช้าลง

จากการวิจัย มาธา แคลร์ มอริส ที่มหาวิทยาลัย รัชยูนิเวอร์ซิตี เมดิคัลเซ็นเตอร์ ที่ชิคาโก เมื่อไม่นานมานี้พบว่าการกินอาหารที่มีผักมากมีผลทำให้สุขภาพของสมองดีขึ้น คือ สมองเสื่อมช้าลง เขาทำการศึกษาเป็นเวลา 6 ปี พบว่าคนที่กินอาหารที่มีผักมากวันละ 2 มื้อมีความเสื่อมน้อยกว่าคือดูหนุ่มกว่าวัย 5 ปี จากการวิจัยที่ชิคาโกซึ่งทำการศึกษาในผู้ชายและผู้หญิงจำนวนเกือบ 2,000 คนพบว่าการกินผักมากมีแนวโน้มทำให้สมองเสื่อมช้าลง ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเจ๋งเป้ง แต่เป็นงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ไปในแนวทางเดียวกับที่เขาเคยทำการศึกษาในผู้หญิงมาแล้ว

การวิจัยที่ชิคาโกที่ว่านั้นเขาใช้อาหารที่มีผักวันละ 2 จาน (ส่วนเสิร์ฟ) ผักที่สำคัญของเขาคือ ผักโขม และ เคล ซึ่งเขาคิดว่าเป็นผักที่ให้ประโยชน์มากเนื่องจากมีวิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยต้านสารก่อความเสื่อมของเซลล์

โดยทั่วไปผักมีวิตามินอีมากกว่าผลไม้ ซึ่งเขาไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการลดความเสื่อมในการวิจัยชิ้นนั้น การกินผักของคนไข้ที่เขาทดลองส่วนมากมักจะกินกับน้ำมันชนิดที่ดีซึ่งช่วยการดูดซึมวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระให้เป็นไปได้ด้วยดี น้ำมันที่ดีที่ว่านั้นช่วยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้หลอดเลือดไม่ตีบหรือตันจึงมีผลดีต่อสุขภาพของสมอง งานชิ้นนี้บ่งชี้ถึงผลดีของผักไม่ใช่ผลไม้ ทำให้คิดไปได้ว่าการกินผักมากมีผลดีจริง ไม่ใช่แค่บ่งชี้ว่าคนกินผักมีสุขนิสัยที่ดีเท่านั้น

งานวิจัยนี้มีผู้เข้าร่วม 1,946 คน ซึ่งมีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า คนเหล่านี้ได้กินผักใบเขียว (หั่นแล้ว) มื้อละครึ่งถ้วยตวง หรือ 1 ถ้วยตวงถ้ายังไม่หั่น เขาทำการทดสอบการทำงานของสมอง 3 ครั้งในห้วงเวลาการทดลอง 6 ปี โดยทั่วๆ ไปคนเรามีความเสื่อมถอยของการทำงานของสมอง แต่คนที่กินผักมากกว่าวันละ 2 ถ้วยมีความเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่กินไม่ถึงหรือไม่กินผักถึง 40% ผลการทดสอบทางสมองของกลุ่มกินผักมากที่เขาทำมาได้มีค่าเท่ากับผลการทดสอบสมองของคนที่หนุ่มกว่านั้น 5 ปี การศึกษานี้ยังพบว่าคนที่กินผักมากส่วนมากมีสุขนิสัยที่ดี คือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่า ซึ่งเรารู้มาแล้วว่าดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด แสดงว่าอะไรที่ดีต่อหัวใจก็ดีต่อสมองด้วย

ที่มา นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

ความรู้ทั่วไปเรื่องเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดปัญหากับ ฟันและเหงือก ตา ไต หัวใจ หลอดเลือดแดง ท่านผู้อ่านสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆได้โดยการปรับ อาหาร การออกกำลังกาย และยาให้เหมาะสม ท่านผู้อ่านสามารถนำข้อเสนอแนะจากบทความนี้ไปปรึกษากับแพทย์ที่รักษาท่านอยู่ ท่านต้องร่วมมือกับคณะแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อกำหนดเป้าหมายการรักษา บทความนี้เชื่อว่าจะช่วยท่านควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น

โรคเบาหวานคืออะไร

อาหารที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่จะเปลี่ยนจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงาน เซลล์ในตับอ่อนชื่อเบต้าเซลล์เป็นตัวสร้างอินซูลิน อินซูลินเป็นตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าเซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดเนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลงเนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลินทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอยู่เป็นเวลานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท

ฮอร์โมนอินซูลินมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย สร้างและหลั่งจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต ถ้าขาดอินซูลินหรือการออกฤทธิ์ไม่ดี ร่างกายจะใช้น้ำตาลไม่ได้ จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมีอาการต่างๆของโรคเบาหวาน นอกจากมีความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่น เช่น มีการสลายของสารไขมันและโปรตีนร่วมด้วย

อาการของโรคเบาหวาน

คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มก.% หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มก.% ผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงไม่มากอาจจะไม่มีอาการอะไร การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะทำได้โดยการเจาะเลือด อาการที่พบได้บ่อย
  • คนปกติมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางดึกหรือปัสสาวะอย่างมากไม่เกิน 1 ครั้ง เมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า180มก.% โดยเฉพาะในเวลากลางคืนน้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น จึงมีอาการปัสสาวะบ่อยและเกิดการสูญเสียน้ำ และอาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม
  • ผู้ป่วยจะหิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลจึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและไขมันออกมา
  • ผู้ป่วยจะกินเก่งหิวเก่งแต่น้ำหนักจะลดลงเนื่องจากร่างกายน้ำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีการสลายพลังงานจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อ
  • อาการอื่นๆที่อาจเกิดได้แก่ การติดเชื้อ แผลหายช้า คัน
  • คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคันเนื่องจากผิวแห้งไป หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
  • เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายตา เช่นสายตาสั้น ต่อกระจก น้ำตาลในเลือดสูง
  • ชาไม่มีความรู้สึก เจ็บตามแขนขาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลสูงนานๆทำให้เส้นประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึก
  • อาเจียน
น้ำตาลในกระแสเลือดสูงเมื่อเป็นโรคนี้ระยะหนึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับหลอดเลือดเล็กเรียก microvacular หากมีโรคแทรกซ้อนนี้จะทำให้เกิดโรคไต เบาหวานเข้าตา หากเกิดหลอดเลือดเลือดแดงใหญ่แข็งเรียก macrovascular โดยจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาต หลอดเลือดแดงที่ขาตีบนอกจากนั้นยังอาจจะเกิดปลายประสาทอักเสบ neuropathic ทำให้เกิดอาการชาขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสาทอัตโนมัติเสื่อม

ใครมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน

สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานยังไม่ทราบแน่นอนแต่องค์ประกอบสำคัญที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดได้แก่ กรรมพันธุ์ อ้วน ขาดการออกกำลังกาย หากบุคคลใดมีปัจจัยเสี่ยงมากย่อมมี่โอกาสที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้แสดงข้างล่างนี้

ใครที่ควรจะต้องเจาะเลือดหาโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองพบมากและมักจะวินิจฉัยไม่ได้ในระยะแรก การที่มีภาวะน้ำตาลสูงเป็นเวลานานๆทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆเช่น ตา หัวใจ ไต เส้นประสาท เส้นเลือด นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในโลหิตสูงร่วมด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการวินิจฉัยให้เร็วที่สุดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน การตรวจคัดกรองเบาหวานในผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการ ผู้ที่สมควรได้รับการเจาะเลือดตรวจตรวจหาเบาหวาน คือ
  • ประวัติครอบครัวพ่อแม่ พี่ หรือ น้อง เป็นเบาหวานควรจะตรวจเลือดแม้ว่าคุณจะไม่มีอาการ
  • อ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า27% หรือน้ำหนักเกิน20%ของน้ำหนักที่ควรเป็นสำหรับประเทศในเอเซียเราพบว่าเมื่อดัชนีมวลกายมากกว่า 23 จะพบผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากดังนั้นแนะนำว่าควรจะเจาะเลือดตรวจเบาหวานเมื่อดัชนีมวลกายมากกว่า 25 อยากทราบว่าดัชนีมวลกายเท่าไรคลิกที่นี่
  • อายุมากกว่า 45 ปี
  • ผู้ที่ตรวจพบ IFG หรือ IGT
  • ความดันโลหิตสูงมากกว่า140/90 mmHg
  • ระดับไขมัน HDL น้อยกว่า35 มก%และหรือ TG มากกว่า250 มก.%
  • ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • ประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักเด็กแรกคลอดมากกว่า4กิโลกรัม
บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวควรที่จะได้รับการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดทุก3ปี หากคุณเป็นคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวการป้องกันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร การคุมน้ำหนัก สำหรับรายละเอียดอย่างอื่นให้ดูหัวข้อบนเมนูด้านขวา

ที่มา Siam Health

อาหารอบแห้ง ให้คุณค่า หรือ แค่เพิ่มรสชาติ

การอบแห้ง เป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง ซึ่งช่วยยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานวันยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับประทานพืชผลนอกฤดูกาลในรสชาติที่แปลกไป แถมยังช่วยอำนวยความสะดวกยามเร่งรีบ แล้วคุณเคยสงสัยมั้ยคะว่า คุณค่าอาหารจะยังอยู่ครบถ้วนหรือเปล่านะ?

คุณค่าอาหารอบแห้ง
อาหารอบแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้หลายอย่างเชียวค่ะ ทั้งยามที่เราอาจจะไม่สะดวกไปซื้ออาหารสด เช่น ปลา เนื้อ หมู กุ้ง เต้าหู้ ทำให้เราได้รับประทานผลไม้นอกฤดูกาล เช่น ลำไย ขนุน สับปะรด ลิ้นจี่ สตรเบอร์รี่ และไม่ว่าจะไกลแหล่งผลิตแค่ไหน เช่น ลูกพรุน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เอ็นหอย (สำหรับทำน้ำซุป) เห็ดต่างๆ สาหร่ายแถมยังพกพาสะดวกด้วย เช่น เครื่องปรุงอบแห้ง เครื่องเทศ สมุนไพร

แต่การรับประทานเป็นประจำ ก็ทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางกลุ่มได้ค่ะ เพราะการทำอาหารอบแห้งส่วนใหญ่มีความร้อนมาเกี่ยวข้อง จึงเกิดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารได้ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารหด้วยค่ะ เช่น

วิตามิน ซึ่งส่วนใหญ่จะไวต่อความร้อน โดยเฉพาะวิตามินซีในผักผลไม้ที่อบแห้ง เพราะความร้อนทำให้วิตามินสลายตัวไป อาจมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ปริมาณน้อย ยิ่งใช้ความร้อนในการอบสูง ใช้เวลานาน ก็จะยิ่งสูญเสียคุณค่าทางอาหารมากขึ้นค่ะ

โดยเฉพาะอาหารแห้งชนิดที่ต้องนำมาผ่านการหุงต้มก่อนการรับประทานจะเกิดการสูญเสียคุณค่าทางอาหารมากขึ้น คือ วิตามินที่ละลายน้ำได้และแร่ธาตุบางชนิด เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับประทานส่วนที่เป็นน้ำเข้าไปด้วยทั้งหมด

โปรตีน มีมากในเนื้อสัตว์ต่างๆ โปรตีนที่โดนความร้อนระหว่างการทำแห้ง ไม่ถือว่าเสียคุณค่าทางอาหารค่ะ อาจเปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจากของดิบเป็นของสุกแต่ยังจัดเป็นโปรตีนอยู่ และร่างกายก็ยังสามารถย่อยหรือดูดซึมไปใช้ได้

คาร์โบไฮเดรตและไขมัน บางส่วนที่ผ่านความร้อนแล้ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนร่างกายย่อยไม่ได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยค่ะ

เด็กกับอาหารอบแห้ง

เด็กๆ สามารถรับประทานอาหารอบแห้งได้ค่ะ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ เรื่องของคุณค่างทางอาหาร หากคุณพ่อคุณแม่จัดแต่งอาหารแห้ง โดยที่ไม่ได้มีการเสริมหรือเติมสารอาหารใดๆ ให้ลูกเป็นประจำ ลูกอาจมีโอกาสขาดสารอาหารบางตัวโดยเฉพาะวิตามินค่ะ

Say No !

อาหารอบแห้งที่มีการเติมส่วนประกอบอื่นๆ รวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร ก็อาจมีผลเสียต่อตัวอาหารและสุขภาพได้ เช่น

น้ำตาล อาหารอบแห้งหลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีการนำไปแช่อิ่มหรือเชื่อมก่อนจะนำมาอบแห้ง จึงมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง รสหวานถูกมใจเด็กๆ และผู้ใหญ่หลายคน แต่หากรับประทานมากๆ หรือบ่อยๆ อาจทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป ได้พลังงานเกิน รวมทั้งมีปัญหาเรื่องสุขภาพปากและฟันอีกด้วยค่ะ

สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น หรือสารอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหารจะมีข้อกำหนดเรื่องปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารประเภทต่างๆ ตามเกณฑ์ของ อย. แต่บางครั้งก็มีการใช้ในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะสารป้องกันปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาล (Anty Browny Agent) ซึ่งเป็นสารกลุ่มเดียวกับสารฟอกขาว ช่วยไม่ให้อาหารเป็นสีคล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้

คนที่มีความไวต่อสารชนิดนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือหอบหืด เมื่อรับประทานอาหารที่มีสารพวกนี้เข้าไป จะทำให้หายใจลำบากกระตุ้นให้เกิดอาการหอบได้

เชื้อรา เคยมั้ยคะ เมื่ออาหารเกิดมีราขึ้นพียงนิดเดียว คุณจึงเฉือนส่วนที่เป็นราทิ้งไปแล้วรับประทานส่วนที่เหลือ ทั้งที่จริงแล้วหากอาหารขึ้นราแม้เพียงนิดเดียว ก็ควรทิ้งไปค่ะเพราะถึงแม้ส่วนที่เหลืออยู่เราจะมองไม่เห็นว่าเป็นจุดดำๆ หรือเป็นฟูๆ ขาวๆ แต่เราไม่สามารถมองลึกเข้าไปในเนื้ออาหารได้ว่า มีการสร้างสารพิษหรือไม่ โดยเฉพาะสารอัลฟาทอกซิน

อาหารที่แห้งไม่สนิท ทำให้เชื้อราชนิดหนึ่งเติบโตได้ และสร้างสารพิษที่เรียกว่า อัลฟาทอกซิน เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม ฯลฯ หรือบางครั้งอาหารแห้งที่เก็บไว้ เช่น ขนมปัง ผลไม้อบแห้ง น้ำพริกแห้งต่างๆ อาจขึ้นราได้ เพราะความชื้นในอากาศทำให้เชื้อราเติบโตได้ค่ะ

เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย

อาหารแห้งที่ผลิตในระดับครัวเรือน ซึ่งอาจไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอย. เช่น ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ฯลฯ ที่มีขายตามต่างจังหวัด ควรดูให้ละเอียดว่า อาหารมีความแห้งจริงหรือไม่ เช่น ปลาแห้ง ไม่ควรแห้งแต่บริเวณผิวด้านนอก แต่ข้างในยังมีความชื้นอยู่มาก เพราะอาจทำให้เกิดการเน่าเสียหรือเชื้อราตามมาภายหลัง

หากมีโอกาสเห็นสถานที่ผลิต ควรดูความสะอาดของสถานที่ และดูว่ามีแมลงมาตอมมากหรือไม่ แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีแมลงตอมเลย ก็อาจเกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นซึ่งเป็นอันตรายเช่นกันค่ะ

อาหารที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม ควรสังเกตเรื่องหมายและเลขทะเบียนของ อย. หากมีแต่เครื่องหมาย อย. แต่ยังไม่มีเลขทะเบียน แสดงว่ายังอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนหรือยังขึ้นทะเบียนไม่สำเร็จ จึงควรระมัดระวังและสังเกตให้ดีค่ะ

นอกจากนั้น ควรดูชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต ที่น่าเชื่อถือ บรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อโรคเข้าไปในอาหารได้ค่ะ

อาหารอบแห้งทำให้เรามีเมนูหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ต้องสลับสับเปลี่ยนหรือปรุงผสมกับอาหารสดด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่านอกจากรสชาติถูกปากสมาชิกทุกคนในครอบครัวแล้วยังต้องคำนึงถึงสารอาหารที่ครบถ้วนด้วยค่ะ

ที่มา นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่ 298 พฤศจิกายน 2550

นมเอย... ทำไมจึงคัด

ช่วงเวลาแห่งการให้นมเป็นช่วงเวลาที่สุดวิเศษของแม่และลูก แต่ก่อนจะให้นมลูกจะรู้ไหมนะว่าก่อนหน้านี้แม่เกิดอาการคัดหน้าอกมาก่อน

เข้าใจเรื่องน้ำนมคัด

อาการน้ำนมคัดเป็นอาการบอกว่าการผลิตน้ำนมนั้นดีเหลือล้น แต่มีการระบายออกน้อยกว่าที่ผลิต จึงทำให้น้ำนมที่ผลิตออกมาแล้วเหลือค้างอยู่ในเต้าจนเกิดอาการคัดขึ้นมาแล้วที่เต้านมบวมตึงก็เพราะเต้านมก็เหมือนส่วนอื่นๆ ที่อาจมีอาการบวมตึงได้เมื่อการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลืองไม่ดี คุณแม่ลองนึกถึงเต้านมที่มีน้ำนมเต็มหนักอึ้ง น้ำเหลืองและเลือดจะบวมคั่ง

สาเหตุที่คัดหน้าอกก็เพราะ...
  • น้ำนมไม่ได้รับการถ่ายออกจาเต้านม ซึ่งอาจจะเกิดจากแม่ให้ลูกกินนมไม่บ่อยพอ หรืออีกกรณีคือลูกไม่ได้กินนมจากเต้า มีการศึกษาพบว่าระยะเวลาที่ลูกดูดนมจากเต้าในวันแรกๆ ยิ่งดูดนานาแม่จะมีอาการเจ็บเต้านมน้อยกว่าคนที่ให้ลูกดูดน้อยกว่าด้วยค่ะ

  • แม่มีเต้านมขนาดเล็ก ปริมาณน้ำนมที่เพิ่มขึ้นเร็วจะทำให้เกิดอาการเต็มเต้าได้เร็วกว่าแม่ที่มีเต้านมขนาดใหญ่

  • คุณแม่ท้องแรก จะมีอาการคัดหน้าอกมากกว่าคุณแม่ที่เคยผ่านการมีลูกมาแล้ว

  • แม่ถูกแยกจากลูกในวันแรกๆ หลังคลอด เพราะลูกไมได้ดูดนมเอา Colosteum จากแม่ให้ระบายออกไปบ้าง ในขณะที่เต้านมมีเลือดมาเลี้ยงมากในสองสามวันแรกหลังคลอดหรือมีการเว้นช่วงการให้กินนมนานเกินไป เช่น ลูกหลับนาน หรือแม่ทำธุระอยู่ไม่สามารถให้นมหรือบีบน้ำนมออกได้เป็นเวลานานกว่า 4-5 ชั่วโมง

  • ท่าทางการอุ้มและการดูดของลูกไม่ถูกต้อง ท่าทางการอุ้มรวมถึงลักษณะการดูดนมของลูก มีส่วนทำให้ไม่สามารถขับน้ำนมออกได้เต็มที่ด้วยค่ะ
น้ำนมน้อยผลพวงจากนมคัด

การปล่อยให้น้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านมนาน ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้เต้านมผลิตน้ำนมลดลง เพราะระบบการผลิตในร่างกายจะอ่านค่าว่า ผลิตน้ำนมมากเกินไปจนเกินกำลังจะใช้แล้วจึงให้น้ำนมผลิตน้อยลงเรื่อยๆ

ดูแลอย่างไรดีเมื่อหน้าอกคัด

ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่มักจะรู้สึกคัดหน้าอกในช่วงวันที่7-14 หลังคลอดค่ะ เพราะระยะแรกน้ำนมยังค่อยๆ เพิ่มการผลิตทีละน้อย มีทริกไม่ให้คัดหน้าอกคือ
  • ให้ลูกกินนมบ่อยขึ้น ช่วงอาทิตย์แรกคุณแม่ควรให้ลูกกินนมอย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน โดยไม่จำกัดเวลาในการดูดนม ให้กินจนอิ่มทั้งกลางวันและกลางคืน ในเด็กเล็กเดือนแรกๆ ยังต้องตื่นบ่อยเพราะกระเพาะยังจุน้ำนมได้น้อยอยู่ อาจจะให้ลูกกินนมทุก 2-3 ชั่วโมง หรืออย่าให้ห่างกว่า 4 ชั่วโมงในช่วงเดือนแรก เมื่อใดที่รู้สึกว่าเต้านมหนักตึงก็ลองให้ลูกดูดนมเพื่อช่วยให้ได้ระบายน้ำนา กรณีที่คุณแม่ปั๊มน้ำนมให้ลูกกินก็ต้องทำเหมือนกันคืออย่างน้อยทุก 3-4 ชั่วโมงต้องมีการระบายน้ำนมค่ะ

  • ประคบร้อน ใช้ในกรณีที่เต้านมยังคงนิ่มอยู่บ้าง ไม่บวมจนแข็งมาก อุปกรณ์ที่ใช้ประคบอาจเป็นผ้าเปียกน้ำร้อนหมาดๆ สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบเปียกแฉะอาจใช้ถุงผ้าใส่เมล็ดข้าวสารหรือเมล็ดถั่ว ที่ถูกทำให้ร้อนโดยไมโรคเวฟหรือการคั่วเผา บางคนอาจใช้ผ้าขาวบางห่อข้าวเหนียวหุงร้อนๆ ประคบสัก 5-10 นาที ก่อนให้นมลูก น้ำอุ่นจากฝักบัวหรือจะใช้ถุงน้ำร้อนช่วยได้เช่นกันนะคะ

  • ประคบเย็น ใช้ได้ดีในการลดอาการปวดเต้านม และวิธีที่จะช่วยลดอาการบวมของเต้านมในกรณีที่บวมแข็ง ซึ่งมักพบว่าน้ำนมไม่ไหลเลย แม้จะบีบ ปั๊มก็ตาม เพราะอาการคั่งน้ำในเต้านมควรใช้ผ้าเย็นจัดหรือ Icepack วางประคบประมาณ 15-20 นาที ทำบ่อยๆ ในช่วงที่เต้านมแข็งและปวด อาจรับประทานยาแก้ปวดพวกพาราเซตามอลร่วมด้วย หรือลองใช้กะหล่ำปลีแช่เย็นวางประคบเต้านม ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดความเจ็บปวดเต้านมและลดอาการบวมของเต้านมลงได้ ส่วนแพทย์แผนไทยเขาใช้ใบพลูจะเป็นแบบสดหรือเย็นก็ได้นะคะ วางบนเต้านมแล้วหมั่นเปลี่ยนบ่อยๆ ค่ะ

  • บีบน้ำนมด้วยมือเบาๆ เพื่อให้ลานนมนุ่มลง เพื่อให้ลูกดูดได้ดีขึ้นคุณแม่อาจใช้ปทุมแก้วหรือสวม Breast Shells พลาสติกหนาที่มีรูเปิดสำหรับหัวนมและมีแผ่นซิลิโคนนวดที่ลานนมครอบบนเต้า เพื่อนวดลานนมให้นิ่มและกระตุ้นกลไกให้น้ำนมพุ่งสัก 30 นาทีก่อนให้นม หรืออาจจะใส่ไว้เรื่อยๆ ก็ได้เพราะน้ำนมจะสามารถไหลออกมาได้ตลอดเวลาลดอาการคั่งในเต้านม แต่ห้ามบีบน้ำนมหรือปั๊มออกจนหมดเต้ายกเว้นลูกไม่สามารถดูดนมจากเต้าจึงจะปั๊มออกทุก 3 ชั่วโมง จะช่วยบรรเทาอาการน้ำนมคั่งลงได้ค่ะ

  • สวมยกทรงที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อยกทรงที่มีขอบลวดหรือคับแน่นเกินไปด้วยค่ะ
คุณแม่หลายท่านที่อาจจะไม่มีอาการนมคัดเลย เพราะการผลิตน้ำนมกับความต้องการของลูกสมดุลกันดี ซึ่งการที่หน้าอกไม่คัดไม่ใช่เรื่องปกติ แต่แสดงว่าระบบดีนะคะ

บัญญัติ 10 ประการสำหรับหญิงตั้งท้อง

  1. เลี่ยงบุคคลทื่เป็นโรคติดต่อ หรือสัตว์เลี้ยงที่กลังเจ็บป่วย
  2. เสี่ยงการฉีดวัคฉีน หรือทานยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  3. เลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดในอ่างหรืออบซาวด์น่า
  4. เสี่ยงกายฉายรังสีเอ็กซเรย์
  5. เลี่ยงการอยู่ในที่ซึ่งอากาศไม่ถ่ายเท อับ ทึบ
  6. เลี่ยงการใช้สารเคมีที่มีพิษในบ้าน อาทิ ยาฆ่าแมลง น้ำยาล้างก้องน้ำ เป็นต้น
  7. เลี่ยงการดื่มของมึนเมาทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน
  8. เลี่ยงการพบปะพูดคุยกับบุคคลที่รักการสูบบุหรี่เป็นชีวิตจิตใจ
  9. เลี้ยงการทำงานที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย ๆ
  10. เสียงจากคนวิกลจริต

ที่มา นิตยสาร บันทึกคุณแม่

Wednesday, February 27, 2008

มะเร็งไฝ (Melanoma)

เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายเร็วมาก เกิดจากเซลล์สร้างสีผิว melanocyte การที่จะเข้าใจโรคนี้ท่านจะต้องเข้าใจโครงสร้างของผิวหนัง

โครงสร้างของผิวหนัง
  • ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกายทำหน้าที่ป้องกัน ความร้อน แสง การติดเชื้อ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และสร้างวิตามินดีผิวหนังประกอบด้วยเซลล์สองชั้น

  • ชั้น epidermis เป็นชั้นนอกสุดประกอบด้วยชั้นบนสุดเป็น squamous เซลล์รองลงมาได้แก่ basal cell โดยมี melanocyte อยู่ใต้ subcutaneous

  • ชั้น dermis เป็นชั้นที่อยู่ของ ต่อมขน ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน หลอดเลือด

Melanocyte และ ไฝ Mole

melanocyte เป็นตัวสร้างสีผิว melanin เมื่อผิวถูกแสงทำให้สีผิวเข็มขึ้น ไฝเป็นกลุ่มของ melanocyte ที่อยู่รวมกันมักเกิดในช่วงอายุ 10-40 ปี อาจจะแบน หรือนูน สีอาจเป็นสีชมพู หรือสีน้ำตาล รูปร่างกลม หรือวงรีไฝมักจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดหรือสีตัดออกแล้วไม่กลับเป็นซ้ำ

Melamoma

เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ melanocyte ที่แบ่งตัวนอกเหนือการควบคุมของร่างกาย ถ้าเกิดที่ผิวหนังเรียก cutaneous melanoma เกิดที่ตาเรียก ocular melanoma โดยทั่วไปเกิดบริเวณลำตัว ขา ถ้าคนผิวดำมักเกิดที่เล็บ โดยทั่วไปมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอาจพบที่อวัยวะอื่นๆได้เรียก metastasis melanoma

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
  • ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไฝ จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากกว่า 2 เท่าดังนั้นสมาชิกในครอบครัวควรได้รับการตรวจจากแพทย์
  • Dysplastic nevi ไฝที่มีลักษณะชิ้นเนื้อแบบนี้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูง
  • เคยเป็น melanoma
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น AIDS
  • มีไฝจำนวนมาก เช่นมากกว่า 50 เม็ดจะมีโอกาสเป็นมะเร็งมาก
  • แสง ultraviolet ควรสวมเสื้อแขนยาวและหมวกเพื่อกันแสง ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเวลา 10-16.00 น.ควรทาครีมกันแสงร่วมด้วย
  • เคยถูกแสงจนไหม้เมื่อวัยเด็ก ดังนั้นควรป้องกันไม่ให้เด็กสัมผัสแสงแดด
  • สีผิว ผิวขาวมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ง่ายกว่าผิวคล้ำ
อาการของมะเร็งไฝ
อาการเริ่มแรกมักเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง ขนาด สี รูปร่าง ขอบ บางรายอาจมีอาการคัน มีขุยหากเป็นมากขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงของความแข็ง หากพบมะเร็งเริ่มต้นการรักษาจะหายขาด แต่หากรุกลามเข้าใต้ผิวหนังมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น














Asymmetry
รูปร่างไม่สมดุล
Border
ขอบไม่เรียบ เป็นรอยขรุขระ
Color
มีการเปลี่ยนของสี
Diameter
ขนาดใหญ่ขึ้น

การวินิจฉัย
หากแพทย์สงสัยว่าไฝที่เห็นว่าจะเป็นมะเร็งแพทย์จะตัดก้อนนั้นส่งพยาธิแพทย์ตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์ หากก้อนนั้นใหญ่มากแพทย์จะตัดเพียงบางส่วนส่งตรวจ ถ้าพบเซลล์มะเร็งแพทย์จะตรวจพิเศษเพิ่มเพื่อตรวจดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือยัง

การรักษา
หลังจากวินิจฉัยและทราบการแพร่กระจายของโรคแพทย์จะวางแผนการรักษาก่อนการรักษาควรจดบันทึกคำถามเพื่อถามแพทย์ดังตัวอย่าง
  • การวินิจฉัยของแพทย์
  • มะเร็งแพร่กระจายไปหรือยัง
  • ควรจะรักษาด้วยวิธีใดดีที่สุด และแพทย์เลือกวิธีใด
  • โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมีมากหรือไม่
  • เราจะทราบอย่างไรว่าการรักษาได้ผล
  • การรักษาจะสิ้นสุดเมื่อใด
  • จะดูแลตัวเองระหว่างการรักษาอย่างไร
  • ผลข้างเคียงของการรักษามีอะไรบ้าง
  • จะเจ็บปวดหรือไม่ และจะใช้ยาอะไรในการควบคุม
  • หลังการผ่าตัดต้องรักษาอย่างอื่นหรือไม่
วิธีการรักษา
  1. การผ่าตัด เป็นการรักษามาตรฐานแพทย์จะพยายามตัดเนื้อร้ายออกให้หมดร่วมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้เนื้อร้าย ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นแพทย์จะให้การรักษาอย่างอื่น
  2. เคมีบำบัด เป็นการให้สารเคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งโดยอาจเป็นยากินหรือยาฉีด
  3. รังสีรักษาเป็นการฆ่ามะเร็งเฉพาะที่โดยเฉพาะมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น สมอง ปอด ตับ
  4. การสร้างภูมิคุ้มกัน อาจให้ภูมิโดยการฉีด เช่นการให้ interferon หรือ interleukin โดยการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเช่นการฉีดวัคซีน
ผลข้างเคียงของการรักษา
  1. การผ่าตัด อาจทำให้เกิดแผลเป็นบางรายเกิด keloid การตัดต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้ขาหรือแขนบวม
  2. เคมีบำบัด การให้เคมีบำบัดอาจให้เกิดโลหิตจาง ติดเชื้อง่าย หรือเลือดออกง่าย ผมร่วง
  3. รังสีรักษา ทำให้ผมบริเวณที่ฉายรังสีร่วง อาจมีอาการอ่อนเพลีย
  4. การสร้างภูมิคุ้มกัน อาจมีอาการปวดเมื่อตามตัวเบื่ออาหาร ท้องร่วง

ก๊าซในทางเดินอาหาร

ก๊าซในทางเดินอาหารเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงเนื่องจากอาการเป็นไม่มาก หายเองได้ แต่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่เป็น ปกติเราสามารถขับก๊าซส่วนเกินโดยการขับออกทางปากและขับทางก้น หากก๊าซนั้นไม่ถูกขับออกจากร่างกาย จะทำให้มีการสะสมไว้ในทางเดินอาหารสำหรับบางคนที่ไวก็อาจจะเกิดอาการท้องอืดแม้ว่าจะมีก๊าซไม่มาก

สาเหตุของก๊าซในทางเดินอาหาร

ก๊ายในทางเดินอาหารหากมีมากจะถูกขับทางโดยการผายลม ก๊าซในระบบทางเดินอาหารเกิดจากการที่เรา
  1. ได้รับจากการกลืนเข้าไป
    • ผู้ที่มีความเครียด
    • เคี้ยวหมากฝรั่ง
    • มีน้ำมูกไหล
    • สูบบุหรี่
    • การกลืนอาหารเร็วไปไม่เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
    • ฟันปลอมที่ไม่พอดี
    • เครื่องดื่มที่มี carbonated จะทำให้เกิดก๊าซ

  2. เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้
    อาหารที่ย่อยไม่หมดโดยเฉพาะอาหารพวกแป้งที่มีใยอาหารจะไม่ถูกย่อย เมื่อผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่เชื้อแบคทีเรียจะย่อยสลายทำให้เกิดก๊าซ นอกจากนั้นน้ำตาลที่อยู่ในนมหากร่างกายไม่ย่อยก็ทำให้เกิดก๊าซมาก
    • ได้แก่อาหารพวก กะหล่ำปี ดอกกำหล่ำ ถัว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี wheat, ข้าวโอ๊ต oats, มันฝรั่ง potatoes เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีใยอาหาร และแป้งมากมำให้ลำไส้เล็กดูดไม่หมด อาหารเหลือไปยังลำไส้ใหญ่เกิดการหมักทำให้เกิดก๊าซ
    • อาหารที่มีใยอาหารมาก เช่นเมล็ดธัญพืช ข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด แต่หลังจาก 3 สัปดาห์จะปรับตัวได้ แต่บางคนอาการท้องอืดและมีก๊าซจะเป็นตลอด
    • นม ลำไส้บางคนขาดเอ็นไซม์ในการย่อยนม เมื่อดื่มนมจะทำให้ท้องอืด ลองงดนมอาการท้องอืดจะดีขึ้น
สาเหตุของการเรอบ่อย

การที่เราเรอส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุที่มีปริมาณก๊ายในกระเพาะมากทำให้กระเพาะขยายจึงเกิดอาการแน่นท้อง แต่บางท่าเรอจนติดเป็นนิสัยแม้ว่าปริมาณก๊าซในกระเพาะจะไม่มาก สาเหตุที่พบได้บ่อยๆได้แก่
  • มีการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะไปยังหลอดอาหาร ปกติเมื่อเรากลืนอาหารจะผ่านจากหลอดอาหารไปยังกระเพะอาหารซึ่งมีหูรูดกันไม่ให้กรดและอาหารไหลย้อนไปยังหลอดอาหาร เมื่อมีปัจจัยส่งเสริมทำให้หูรูดหย่อน กรดและอาหารจะไหลย้อนไปยังหลอดอาหารทำให้เราต้องกลืนบ่อย ลมจึงเข้าไปมาก
  • มีการอักเสบหรือแผลที่กระเพาะอาหาร
วันหนึ่งรางกายผลิตก๊าซเท่าใด

วันหนึ่งๆร่างกายเราจะผลิตก๊าซวันละ ครึ่งแกลลอนซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ Oxygen, carbon dioxide, และ nitrogen เหมืออากาศ ไม่มีกลิ่น แต่ที่มีกลิ่นเนื่องจากหมักหมมของอาหารที่ลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดก๊าซ hydrogen sulfide, indole, and skatole

อาการแน่นท้อง

อาการแน่นท้องเป็นอาการที่พาผู้ป่วยไปพบแพทย์

อาการแน่นท้องไม่จำเป็นต้องเกิดจากก๊าซในทางเดินอาหารแต่อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆเช่น
  • อาหารมัน ซึ่งจะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้า เกิดอาการแน่นท้อง การแก้ไขทำได้โดยลดอาหารมัน
  • เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป
  • ผู้ป่วยบางคนมีก๊าซไม่มากแต่มีอาการปวดท้องเนื่องจากลำไส้ของผู้ป่วยไวต่อการกระตุ้นทำให้เกิดอาการเกร็งของลำไส้ spasm
  • ผู้ป่วยบางคนพยายามที่จะเรอเอาลมออก แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้กลืนลมเพิ่มขึ้น ทำให้แน่นท้องเพิ่มขึ้น
  • ก๊าซที่สะสมในลำไส้ใหญ่ข้างซ้ายอาจจะทำให้เกิดอาการปวดเหมือนกับโรคหัวใจ
หากเราเรอแล้วอาการแน่ท้องดีขึ้นก็แสดงว่าอาการแน่นท้องเกิดจากก๊าซ แต่หากอาการแน่นท้องไม่ดีขึ้นท่านต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการแน่นท้อง

อาการท้องอืดและท้องบวม

ท่านผู้อ่านคงจะเคยมีอาการรู้สึกแน่นท้อง บางคนจะรู้สึกตึงๆในท้อง บางคนจะรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย บางคนมีอาการเสียดท้อง หากเราทราบสาเหตุและได้รับการแก้ไขอาการจะดีขึ้น แต่อาการแน่นท้องก็อาจจะเป็นอาการของท้องบวมซึ่งอาจจะเป็น
  • น้ำ
  • ลม
  • เนื้อเยื่อ เช่นเนื้องอก
ดังนั้นหากอาการแน่นท้องเป็นอาการเรื้อรัง และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นมากต้องให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของอาการท้องอืด

สาเหตุของอาการท้องอืด

สาเหตุของอาการท้องอืดที่พบบ่อยๆได้แก่
  1. มีลมในทางเดินอาหารมากไป ซึ่งอาจจะเกิดจากร่างกายของคนนั้นมีเชื้อที่สร้างก๊าซมากกว่าคนอื่น หรือเกิดจากการที่อาหารไม่ย่อย หรือเกิดจากร่างกายมีเชื้อแบคทีเรียในลำไส้มากไป
  2. ลำไส้มีการอุดตันทำให้ก๊าซไม่สามารถไปลำไส้ใหญ่ เช่น ไส้เลื่อนที่อุดตัน ผังผืดในท้องรัดลำไส้เป็นต้น ผู้ที่มีโรคดังกล่าวจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน
  3. ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลำไส้แปรปวน อาหารที่มัน หรือมีกากมาก
  4. ผู้่วยที่มีลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าก๊าซในลำไส้อาจจะไม่มากแต่ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง
การตรวจวินิจฉัย

ประวัติการเจ็บป่วย

เมื่อท่านไปพบแพทย์ท่านจะต้องเตรียมประวัติของการเจ็บป่วย
  • อาการแน่นท้องเป็นอย่างต่อเนื่องหรือเป็นๆหายๆ หากเป็นอย่างต่อเนื่องต้องตรวจหาสาเหตุ
  • อาการแน่นท้องสัมพันธ์กับการผายลมหรือไม่ หากมีความสัมพันธ์แสดงว่าเรามีก๊าซในท้องมาก
  • ประวัติการรับประทานอาหารที่สัมพันธ์กับอาการแน่นท้อง
การ X-ray

แพทย์อาจจะส่งตรวจ X-ray ท้องหรืออาจจะนัดตรวจ ultrasound ซึ่งขึ้นกับอาการและการตรวจร่างกาย

การป้องกันก๊าซ

ข้อแนะนำสำหรับท่านที่ผายลมบ่อยหรือเรอบ่อย
  1. หลีกเลี่ยงน้ำดื่มที่มีฟองฟู่ เช่นโซดา เบียร์ carbonated beverages ให้ดื่มน้ำมากๆ
  2. หลีกเลี่ยงนม หากท่านขาดเอ็นไซม์ในการย่อยนม
  3. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซ กะหล่ำปี ดอกกำหล่ำ ถัว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ผลไม้เช่น แอปเปิล แพร์
  4. ให้ออกกำลังกาย
  5. ลดการกลืนลมโดยวิธีการต่อไปนี้
    • รับประทานให้ช้า และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
    • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งและลูกอม
    • หยุดสูบบุหรี่
    • ตรวจฟันปลอมว่ามีขนาดพอดีหรือไม่
การใช้ยารักษา

ท่านอาจจะซื้อยาที่มีขายตามร้านขายาแต่อาจจะได้ผลไม่ดีได้แก่ Simethicone, ผงถ่าน, และยาช่วยย่อยอาหาร

กลัวการทำฟัน !!!

เรื่อง: ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี

โรคฟันหรือโรคในช่องปาก เป็นเรื่องที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้ ฟันผุ มีหินปูน ต้องไปพบทันตแพทย์ให้รักษา บางคนทั้งๆ ที่รู้ว่าถึงเวลาต้องรักษาแล้ว แต่พอตั้งใจนัดทันตแพทย์ทีไร พอใกล้วันนัดมักจะเลื่อนนัดทุกที หรือผลัดผ่อนไปก่อน จริงๆ แล้วความรู้สึกลึกๆ ก็คือกลัวการทำฟัน คนที่กลัวการทำฟันมีไม่น้อย หากคุณเป็นอีกคนก็ไม่ต้องอาย พอประมาณได้ว่าสามในสี่ของคนที่มาทำฟันก็มีอาการวิตก หรือหวาดๆ การทำฟัน จะมากน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับมา

มาสู้กับความกลัวกันดีกว่า
ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้จะผลัดผ่อนการพบหมอฟันไปได้ก็ เท่ากับหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ต้องรักษาฟันจนได้ เพราะสถานการณ์บังคับเพราะ คุณจะปวดฟันมากจนทนไม่ไหวนั่นเอง ความปวดมีมากกว่าความกลัว คุณก็ต้องพึ่งพาทันตแพทย์แบบหลีเกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ต้องการให้คนไข้มาพบในสภาพฟันที่เป็นโรคน้อยที่สุด เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ มีวิธีการบางอย่างที่ช่วยคุณได้ ให้มีความรู้สึกผ่อนคลายและมีประสบการณ์ที่ดีต่อการทำฟัน

ที่แน่ๆ ควรบอกความจริงกับทันตแทพย์ว่าคุณกลัวการทำฟัน หรือเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน

ในการทำฟันคุณกลัวอะไร ?
เข็มฉีดยา แล้วเสียวฟัน กลัวเสียงเครื่องกรอฟัน กลัวเครื่องมือรู้สึกสำลักทุกครั้งที่เครื่องมือเข้าปาก บอกเล่าให้หมดให้หมอของคุณทราบ เพื่อหาวิธีการรักษาที่รัดกุมเฉพาะคุณ เพื่อลดความกลัวนั้น และช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายความเครียดลง เพิ่มความมั่นใจในการทำฟันมากขึ้น

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำฟันอย่ารีรอที่จะถามคุณหมอให้อธิบายถึงวิธีการ ระยะเวลาการทำฟันให้ชัดเจน ยิ่งคุณรู้ถึงเหตุผลของการรักษารู้ว่าหมอกำลังจะทำอะไร ความรู้สึกวิตกกังวลของคุณจะลดลง อย่างน้อยก็ช่วยลดความคิด หรือจินตภาพอันน่ากลัวที่วาดมาก่อนจะเข้ามาทำฟันลงได้มากทีเดียว

เตรียมตัวให้ดี นัดวันที่พร้อม…
ก่อนวันนัดทำฟันควรนอนหรือพักผ่อนให้พอ กินอาหารพออิ่ม งดพวก ชา กาแฟ น้ำดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งจะกระตุ้นให้คุณตื่นเต้นมากกว่าปกติ
หากคุณเครียดมาทั้งวันจากการทำงาน แล้วเย็นนั้นมีนัดกับทันตแพทย์ต้องทำฟันแล้วละก็ไม่ค่อยจะเหมาะนัก แต่ควรนัดในเวลาที่ว่างที่สุดไม่ใช่ต้องขับรถลุยจราจรติดขัดเพื่อมาให้ทันเวลา เพราะจะยิ่งทำให้เครียด ทั้งเครียดทั้งกลัว เครียดจากรถติดยังไม่ทันหายก็ต้องกระหือกระหอมมานั่งเก้าอี้ทำฟัน แล้วเวลาทำฟันก็มีจำกัด ทันตแพทย์ก็เครียดด้วยเช่นกัน วันที่ดีที่สุดน่าจะเป็นวันหยุด อาจจะเป็นตอนเช้าวันเสาร์หรืออาทิตย์ที่คุณปลอดจากภาระกิจใดๆ

อีกวิธีหนึ่งทีดีถ้าคุณกลัวมากๆ ก็น่าจะไปทำความคุ้นเคยกับบรรยากาศของคลินิกฟันเสียก่อน ทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือ กับทันตแพทย์ โดยเริ่มต้นจากการทำฟันที่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่นานนักหรือไม่ต้องอ้าปากนาน เช่น การตรวจฟัน การจัดฟัน ถ้าหากคุณผ่านขั้นตอนนี้ไปด้วยดี แล้วความกลัวจะลดลง ความกล้าจะมากขึ้น ความมั่นใจจะตามมาอีกโขเลย

ขณะทำฟันพยายาม เอาใจไปอยู่ที่อื่นให้ไกลๆ การทำฟัน เช่น อาจสวมหูฟังเพลงบรรเลงสบายๆ เพราะอย่างน้อยที่สุด หูคุณก็ไม่ได้ยินเสียงเครื่องกรอ คิดถึงสิ่งที่ชอบ เช่นทะเล ชายหาด เสียงคลื่นซัด คิดถึงทุ่งกว้างอันเขียวขจี

คลายความเครียดด้วยการควบคุมการหายใจ หายใจเข้าช้าๆ นับ 1-7 พัก หายใจออกช้าๆ การควบคุมการหายใจแบบนี้ จะช่วยให้คุณคลี่คลายได้มากทีเดียว

อันนี้สำคัญมาก "คิดดี" คิดให้เป็นบวกไว้ก่อน เช่น

"เราทำได้"

"หมอฟันทำฟันไม่เจ็บหรอก"

หากเราคิดไปในทางลบตลอด ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่ดีแต่ต้น เช่น ต้องเจ็บแน่ หรือเริ่มไม่ไว้ใจหมอ ความคิดแบบนี้อย่าให้เกิดเลยครับไม่ช่วยอะไรเลย กลับจะทำให้กลัวทำฟันมากขึ้นเปล่าๆ

ลองดูนะครับวิธีที่เล่ามา จะช่วยให้คุณที่กลัวการทำฟันรู้สึกมั่นใจและกล้าที่จะไปพบ ทันตแพทย์มากขึ้น เพื่อดูแลรักษาสุขภาพฟัน และช่องปากให้ดีตลอดไป

ที่มาข้อมูล นิตยสาร Health Today

จัดการกับอาการ Jet Lag

คนที่เคยนั่งเครื่องบินนานๆ แบบข้ามทวีป เปลี่ยนที่ เปลี่ยนเวลา จากกลางวันเป็นกลางคืน คงเคยสัมผัสกับอาการอ่อนเพลีย หมดแรง ที่เราเรียกว่า "เจ็ทแล็ค (Jet Lag)" กันบ้างหรอกนะคะ

อาการหลักๆ ของ Jet Lag ได้แก่ ปวดหัว เหนื่อยล้า หมดแรง เซื่องซึม อารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ ใครทำอะไรนิดก็หงุดหงิด ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้ สมาธิกระเจิง ไม่หิว หรืออยากอาหาร แถมจะนอนพักก็ยังหลับยากอีกต่างหาก

สาเหตุหลักๆ เกิดจากการเปลี่ยนเวลาจนนาฬิกาชีวิตเราตามไม่ทันนั่นเอง เนื่องจากนาฬิกาชีวิตเราจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงตามสิ่งเร้าที่มากระตุ้น เช่น การกิน และการนอน ปฏิกิริยาต่อแสงสว่างและความมืด คนที่เคยนอน 4 ทุ่มตื่น 6 โมงเป็นประจำ นาฬิกาชีวิตก็จะเดินตามนั้น เมื่อเดินทางไปต่างโซนเวลามันจึงรวนไปชั่วขณะ ยิ่งข้ามโลกไปไกลมาก ยิ่งอ่อนเพลียมาก เชื่อว่าการเดินทางข้ามโซนเวลาไปทางทิศตะวันออกจะทำให้ร่างกายต้องพยายามปรับตัวมากขึ้นกว่าไปทางทิศตะวันตก

นับว่ายังดีที่อาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็เล่นเอาหลายคนทรมานไม่น้อย ตรงนี้มีข้อแนะนำบางอย่างเพื่อช่วยลดอาการ Jet Lag ลงได้บ้างค่ะ
  • หาเที่ยวบินที่จะไปถึงที่หมายตอนกลางคืน จะช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับเวลาใหม่ได้ง่ายขึ้น

  • การขาดน้ำทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์บนเครื่องบิน หันมาจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ หรือดื่มน้ำผลไม้แทน

  • หาเวลาออกไปรับแดดในตอนกลางวันเมื่อถึงที่หมาย เพื่อให้ร่างกายรับรู้เวลาตื่น

  • ใครที่เคยออกกำลังกายเป็นประจำ เช่นวิ่งจ๊อกกิ้ง ก็ควรทำเหมือนเดิม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และทำให้พร้อมพักผ่อนเมื่อถึงเวลาพัก

  • อย่าเผลองีบหลับนานๆ จะทำให้คุณปรับตัวเข้ากับเวลาใหม่ได้ยาก ถ้าง่วงมากก็งีบสั้นๆ พอ

  • คนที่ต้องกินยาตามเวลาอย่างต่อเนื่อง ให้กินยาตามเวลาที่บ้านเดิม แต่หากจำเป็นต้องใช้ชีวิตในสถานที่ใหม่นานๆ ก็ควรค่อยๆ ปรับให้เข้ากับมื้ออาหารใหม่ เริ่มจากปรับให้ยาแต่ละมื้อห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง จนกว่าจะลงตัวกับมื้ออาหารในที่ใหม่ และเมื่อถึงเวลาเดินทางกลับบ้านก็ต้องทำเช่นเดียวกัน จนกว่าจะลงตัว

ที่มาข้อมูล นิตยสาร Health Today

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease)

โรคคาวาซากิคืออะไร?
เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการอักเสบของเส้นเลือดขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วร่างกาย สาเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส, การใช้แชมพูซักพรม, การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น ที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก

อาการของโรคคาวาซากิ
จะเริ่มด้วยอาการไข้สูงลอยทั้งวัน ไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ ไข้จะเป็นอยู่นานหลายวันหากไม่รักษา มักไม่มีอาการทางหวัดเช่น อาการไอ หรีอน้ำมูกไหล ไม่มีผลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฎิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งวินิฉฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากเกณฑ์วินิจฉัยจาก 4 ใน 5 ข้อ ร่วมกับอาการไข้สูงหลายวัน

เกณฑ์การวินิจฉัย
  • ตาแดงทั้งสองข้าง ไม่มีขี้ตา
  • ลิ้นแดง (เป็นคล้ายสตอร์เบอรื่) , ปากแดง บางครั้งถึงกับแตก เจ็บมาก
  • มือเท้าบวมในช่วงแรก มักไม่ยอมใช้มือเท้าเดินหรีอเล่น เนื่องมาจากเจ็บระบม มีผิวหนังลอกเริ่มที่บริเวณขอบเล็บ และ อาจพบที่รอบก้นและขาหนีบ
  • มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต มักเป็นที่บริเวณคอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร
ประมาณ 80 % ของผู้ป่วยเป็นเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 2 ปี

โรคนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร
อาการดังกล่าวมาข้างต้น 5 ข้อ ไม่มีข้อใดจะมีการทำลายอย่างถาวรต่ออวัยวะนั้น ที่สำคัญทึ่สุดคือการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่ซึ่งเป็นเส้นเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อมีการอักเสบมากจะเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดนี้ และมีการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง หัวใจวายหรือทำงานล้มเหลวเสียชีวิตได้เส้นเลือดทั่วร่างกายอาจมีการอักเสบได้เช่นกัน เกล็ดเลือดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงท้ายของการดำเนินโรค จะทำให้มีการเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือดเพิ่มขึ้น

โรคคาวาซากิจะรักษาอย่างไร ?
เมื่อพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ ควรให้นอนโรงพยาบาลเพื่อการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

วิธีรักษาทำได้โดย
  • ให้แอสไพริน เพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน (Aspirin ขนาดสูง ในช่วงแรก แบ่งให้ทางปาก เมื่อไข้ลงจะลดยาลง)
  • ให้อิมโมโนโกลบูลิน เพื่อลดอุบัติการณ์การการเกิดการโป่งพองและการอักเสบของเส้นเลือดโคโรนารี่
จะต้องดูแลอย่างไรหลังจากออกจากโรงพยาบาล?

หากมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนาร๊ ( Coronary artery ) มีโอกาสที่เกิดอุดตันและมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ในเด็กเล็กจะบอกเรื่องเจ็บหน้าอกด้านซ้ายไม่ได้แต่จะร้องกวนไม่หยุด ไม่กินนมหรือข้าว ซีด เหงื่อออก หายใจหอบเหนื่อย และชีพจรเต้นเร็วมากขึ้น ให้รีบพามาโรงพยาบาลเป็นการด่วน เพื่อตรวจคลื่นหัวใจ, อัลตราชาวน์หัวใจ ( 2D echocardiogram ) ซ้ำ และให้ยาละลายลิ่มเลือดและขยายหลอดเลือดโคโรนาร๊

หากตรวจไม่พบความผิดปกติของ Coronary artery ตั้งแต่ต้นและได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่ต้น โอกาสเกิดการโป่งพององเส้นเลือดในระยะต่อม จะลดน้อยมาก แต่ต้องมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ให้กินยาแอสไพรินตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงที่กินยาแอสไพริน หากมีการระบาดของอีสุกอีใส ให้หยุดยาและมาติดต่อสอบถาม หรือมาพบแพทย์

Tuesday, February 26, 2008

ผู้ป่วยเรื้อรังกับการใช้ยา

คำถาม? ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง?... จึงจะได้ผลดีและปลอดภัย

โรคเรื้อรัง...เป็นแล้ว...มักไม่หายขาด

โรคเรื้อรังเป็นโรคที่เมื่อเริ่มเป็นแล้วมักไม่หายขาดจะต้องให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดไป เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นอันตราย รุนแรงได้ ตัวอย่างของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคความดันเลือด โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคข้อเข่าเสื่อม โรคไทรอยด์ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคหืดถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีก็อาจเกิดอาการจับหืด หายไม่ออกและตายได้ ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงถ้าไม่ควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ก็จะมีโอกาสทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงที่สมองเกิดอันตรายจนแตกทำให้เกิดเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต พิการ ทรมาน และเสียชีวิตได้เช่นกัน

โรคเรื้อรัง...โรคแห่งการสะสม

เมื่อเป็นโรคเรื้อรังแล้วจึงต้องควบคุมอาการไม่ให้ลุกลามรุนแรงด้วยการปฏิบัติตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าไม่สนใจเอาใจใส่ดูแลรักษาตนเองให้ดี โรคเรื้อรังที่ตนเองประสบอยู่ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ลุกลามและรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เป็นโรคชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกได้

ตัวอย่างของโรคเรื้อรังที่แสดงอาการให้สังเกตได้เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย ที่จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ไต สายตา ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า ไตวาย หรือสายตาฝ้าฟางได้ เป็นต้น เป็นเหมือนการเพิ่มเติมโรคหรือสั่งสมอันตราย ให้แก่ตนเองมากขึ้นๆ จึงเกิดคำว่า โรคแห่งการสะสมทำให้เป็นหลายๆ โรคโดยไม่จำเป็น และสามารถทุเลาหรือป้องกันได้ ถ้ามีการรักษาดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง


กินได้ นอนหลับ...สุขีกับโรคเรื้อรัง

โรคเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย ความเสื่อมของอวัยวะและเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดพยาธิสภาพ และแสดงอาการผิดปกติของโรคออกมาได้

แนวทางการดูแลรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้จะต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนสภาพ แวดล้อม ลักษณะการดำเนินชีวิตแบะพฤติกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงอาหาร การออกกำลังและอารมณ์ (ความเครียด) ตลอดจนการพักผ่อนที่เหมาะสมและพอเพียง เหมือนคำโบราณทีได้กล่าวไว้ว่า "กินได้นอนหลับ" ก็นับว่า "สุขี" ซึ่งอาจจะไม่ได้กล่าวถึงการออกกำลังกายไว้ที่นี้ โดยอาจจะละไว้เพราะว่าอดีตการทำมาหากินของคนไทยไม่ว่าจะทำไร่ ทำนา หรือทำสวน เรียกว่าได้ออกกำลังกายเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว บ้านเมืองเราจึงมีแต่ผู้คนที่เอื้ออาทรยิ้มแย้มแจ่มใส จนชาวตะวันตกได้มาพบเห็น จึงขนานนามว่า "สยามเมืองยิ้ม"

ถ้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและ/หรือสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มักจะส่งผลช่วยบรรเทาอาการและความรุนแรงของโรคเรื้อรังได้อย่างดี เช่น

กินได้ ด้วยการกินอาหารในปริมาณและชนิดของอาหารอย่างเหมาะสม

นอนหลับ หมายถึง การรักษาภาวะจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ไม่ขุ่นมัว ไม่กังวล หรือไม่เคร่งเครียด จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสภาวะจิตใจ ตลอดจนการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวันได้

สุขี ด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลต่อร่างกาย ลดความเครียด และช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังได้เป็นอย่างดี

นอกจากเรื่องอาหาร อารมณ์ และการออกกำลังกายแล้ว ยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมอาการของโรคเรื้อรังไม่ให้ลุกลามรุนแรงมากขึ้นๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การใช้ยารักษาโรคเรื้อรัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการหรือควบคุมความรุนแรงของโรคไม่ให้มีอาการมากขึ้นและ/หรือลุกลามจนเกิดอันตรายได้

ดังนั้น เพื่อให้การใช้ยารักษาโรคเรื้อรังมีประสิทธิภาพ อย่างดีที่สุด พร้อมๆ กับเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยานั้นๆ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและถูกต้อง ตามคำสั่งของแพทย์


หลักการใช้ยารักษาโรคเรื้อรังให้ได้ผลดีและปลอดภัย

เพื่อให้การใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ผลดีและปลอดภัย ซึ่งตัวผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่ทำหน้าที่รับยาและเป็นผู้ที่ให้ยาควรปฏิบัติมี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
  1. การตรวจรักษาจากแพทย์
  2. การรับยาที่ห้องยา
  3. การใช้ยา
  4. หลังจากใช้ยา
  1. การตรวจรักษาจากแพทย์
    การที่จะใช้ยาให้ได้ผลดีและปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ขั้นการรับการตรวจรักษาจากแพทย์ ซึ่งระหว่างนี้แพทย์จะทำการซักประวัติความเจ็บป่วยพร้อมกับการตรวจร่างกาย และอาจจะมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด เป็นต้น

    เตรียมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยเล่าให้แพทย์ฟัง

    สิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกจากข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยในปัจจุบันที่แพทย์ซักถามค้นหาด้วยตัวแพทย์เองแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถช่วยเหลือแพทย์ได้ด้วยการเตรียมข้อมูลสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของตนเอง ทั้งอดีตและปัจจุบันให้พร้อมและเล่าให้แพทย์ฟัง ซึ่งรวมถึงเรื่องยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ ตลอดจนอาการแพ้ยา หรืออาการอันไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียงที่เกิดจากยา เพื่อแพทย์จะไดรับข้อมูลประกอบการเจ็บป่วยอย่างครบถ้วนส่งผลให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และให้การรักษาด้วยยา และวิธีอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม

    แจ้งเรื่องยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆ ที่ท่านใช้อยู่ด้วย

    กรณีที่มีการใช้ยาจากโรคอื่นๆ สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยอาจทำเป็นรายการหรือนำตัวอย่างพร้อมบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดไปแสดงให้แพทย์ได้รับรู้ก่อนการวินิจฉัยโรคและให้การรักษา

    บรรดายา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ก็อาจจะไปต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์จะจ่าย ทำให้ผลการรักษาที่ได้น้อยลง

    ขอให้แพทย์อธิบายเรื่องยาและการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อย่างละเอียด

    เมื่อแพทย์ให้การรักษา รวมถึงการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วย โดยทั่วไปแพทย์จะบันทึกไว้ในใบสั่งยา ระบุชนิด จำนวน และวิธีใช้ยา

    ผู้ป่วยควรได้รับการอธิบายจากแพทย์ว่า มียาชนิดใดบ้างที่แพทย์สั่งจ่ายให้ ด้วยวัตถุประสงค์ใด มีวิธีการใช้อย่างไร และอาจจะเกิดผลต่อผู้ป่วยที่กินยาอย่างใดบ้าง คือทั้งผลดีและผลเสียของยาทั้งหมด

  2. การรับยาที่ห้องยา
    เมื่อได้รับยาจากห้องยาแล้วผู้ป่วยจะต้องตรวจเช็กยาทั้งหมดที่ตนได้รับ ดังนี้

    "ถูกคน" หรือไม่ ด้วยการตรวจชื่อผู้ป่วยที่ปรากฏอยู่บนฉลากยาว่า ถูกต้องหรือไม่ เป็นของผู้ป่วยหรือไม่

    "ถูกชนิด" หรือไม่ ตรวจชนิดของยา ชื่อยาข้อบ่งใช้ และจำนวนยาที่ได้รับว่า ถูกต้องตรงกับอาการความเจ็บป่วยของผู้ป่วยหรือไม่ และเป็นไปตามคำอธิบายของแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง และคำนวณดูว่าจำนวนเพียงพอถึงการนัดพบแพทย์ในครั้งต่อไปหรือไม่

    "ถูกวิธีใช้" หรือไม่ อ่านและทำความเข้าใจวิธีการให้ยาอย่างชัดเจน ถ้ามียาใดที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยวิธีใช้ยาจะต้องปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยาจนเข้าใจก่อนกลับบ้าน

    มี "ยาใหม่" หรือไม่ กรณีที่พบยาใหม่ ต้องตรวจเช็กว่าเป็นยาใหม่ตามคำอธิบายของแพทย์หรือไม่ ถ้าได้รับยาใหม่โดยที่แพทย์ไม่เคยอธิบายยาให้ฟัง จะต้องปรึกษาเภสัชกรทันที เพราะอาจผิดพลาดและเกิดอันตรายได้

    มี "ยาที่มีรูปแบบพิเศษ" หรือไม่? ถ้าได้รับยามีรูปลักษณ์แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย จะต้องปรึกษาเภสัชกรผู้จ่ายยา เพื่อขอคำแนะนำวิธีการใช้ยาและฝึกฝนให้ถูกต้อง

    "ผลข้างเคียงของยา" จะต้องสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยและอันตราย จะได้สังเกตหลังการใช้ยา และติดตามอาการเหล่านี้ เพื่อปฏิบัติตัวหรือหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวให้รบกวนการใช้ยาน้อยที่สุด หรือแจ้งต่อแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาถ้าผลเสียนั้นเป็นอันตรายมาก

    ขั้นตอนการรับยาจากห้องยาเป็นตอนที่สำคัญที่สุด ดังนั้น จะต้องตรวจเช็กยาทีได้รับว่า ถูกคน ถูกยา ถูกวิธีใช้ มียาใหม่หรือไม่? ตลอดจนมีวิธีการใช้พิเศษหรือไม่? ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง หากสงสัยหรือไม่เข้าใจ จะต้องถามเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดีมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อาการใช้ยา

    นอกจากนี้ จะต้องถามเภสัชกรถึงระยะเวลาการใช้ยา

    ระยะเวลาที่เหมาะสมการใช้ยา

    ระยะเวลาของการใช้ยาแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ

    • การใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยาที่ใช้ควบคุมอาการหรือความรุนแรงของโรคเรื้อรัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยาออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และสามารถควบคุมอาการและความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้อยู่ตลอดเวลา

      เพื่อไม่ให้ระดับความรุนแรงของโรคลุกลามมากขึ้น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงเป็นการใช้ยาเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคเรื้อรัง จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาด้วยตัวเองหรือหยุดยาเมื่ออาการทุเลาลงแล้ว หรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม (ยกเว้นกรณีที่มีอาการอันไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง จะต้องปรึกษาแพทย์ทันที)

    • การใช้ยาเมื่อมีอาการเท่านั้น ตัวอย่างเช่นยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาระบาย ฯลฯ ยาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคเรื้อรังจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เมื่อใดที่อาการดีขึ้นแล้ว ก็หยุดยาได้ เมื่อใดที่เริ่มมีอาการอีกจึงจะต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น

    • การใช้ยาติดต่อกันจนหมด ยาเหล่านี้มักจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค ใช้รักษาโรคติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส ฯลฯ ซึ่งควรใช้ติดต่อกันจนหมดตามจำนวนที่แพทย์สั่ง เมื่อครบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ต่อไปอีก เพราะยาเหล่านี้จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค เมื่อเชื้อหมดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อีก

  3. การใช้ยา

    เมื่อกลับไปบ้านและจะต้องเริ่มใช้ยา จะต้องอ่านฉลากและวิธีใช้ทุกครั้ง ว่าใช้ครั้งละเท่าใด วันละกี่ครั้ง เวลาใด และใช้ให้ถูกต้อง ตรงตามคำสั่งแพทย์ หรือเภสัชกร และสังเกตลักษณะยาว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ ก่อนการใช้ยา

  4. หลังจากใช้ยา

    ขั้นตอนหลังจากใช้ยา ผู้ป่วยจะต้องติดตามผลการรักษาและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ยา ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายยาในทันที เพื่อแจ้งให้ผู้จ่ายทราบและให้คำปรึกษาเพื่อการดูแลอาการผิดปกตินั้น

    จะเห็นได้ว่าโรคเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดควรดูแลรักษาตามแพทย์แนะนำ เพราะถ้าไม่ดูแลตนเองให้ดี อาจทำให้โรคลุกลามเป็นหนักยิ่งขึ้น และเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้เป็นโรคอื่นเพิ่มเติม เกิด "โรคแห่งการสะสม"

    หากมีข้อสงสัยในเรื่องยาและสุขภาพ อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ยาได้ผลดี และปลอดภัยจากการใช้ยา.
ที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน (update 12 ธันวาคม 2007)